ดีเอสไอ ออกหมายจับขบวนการรถจดประกอบ ชาวมาเลเซีย 2 ราย ตัวการใหญ่นำรถยนต์เข้าแต่สำแดงเป็นนักท่องเที่ยว

published: 15/10/2557 15:02:47 updated: 15/10/2557 15:02:47 1519 views   TH
 

ดีเอสไอ ออกหมายจับขบวนการรถจดประกอบ ชาวมาเลเซีย ๒ ราย
ตัวการใหญ่นำรถยนต์เข้าแต่สำแดงเป็นนักท่องเที่ยว

       วันพุธที่ 15 ตุลาคม 2557 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ชั้น 8 ศูนย์ราชการอาคารบี พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร ผู้บัญชาการสำนักปฏิบัติการคดีพิเศษภาค ดีเอสไอ แถลงความคืบหน้ากรณีตรวจสอบขบวนการนำเข้ารถหรูสำแดงเท็จจดประกอบเพื่อหนีภาษีว่า คดีดังกล่าวมีหน่วยงานที่ร่วมกันตรวจสอบประกอบด้วย กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมการขนส่งทางบก สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ โดยกรณีการตรวจสอบรถยนต์จดประกอบราคาแพง จำนวน 548 คัน แบ่งเป็นรถยนต์ภาคสมัครใจ 215 คัน และภาคบังคับ 163 คัน ซึ่งมีรถยนต์ที่ยังไม่เข้ารับการตรวจสอบ จำนวน 150 คัน หลังจากนี้คณะทำงานจะมีมติให้แจ้งเตือนเจ้าของรถครั้งสุดท้ายเพื่อให้นำรถเข้ารับการตรวจสอบ ซึ่งดีเอสไอจะกำหนดวันเวลาและสถานที่อีกครั้ง

  

       ทั้งนี้ ในที่ประชุมคณะกรรมการของกรมศุลกากรได้สรุปแนวทางการจัดเก็บภาษีรถยนต์จดประกอบว่า ผลการตรวจสอบรถยนต์ที่ดีเอสไอส่งให้เพื่อให้มีการพิจารณาจัดเก็บภาษีตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีศุลกากร พ.ศ. 2530 จะพิจารณาข้อมูลเพียง 2 ส่วน คือ ข้อมูลเลขเครื่องยนต์ และข้อมูลตัวถังรถยนต์ โดยหากพบว่าข้อมูลทั้งสองส่วนตรงกับข้อมูลที่ปรากฏจากแหล่งผลิตที่ต่างประเทศ จะนำเสนอต่ออธิบดีกรมศุลกากรเพื่อให้เรียกเก็บภาษีต่อไป ส่วนหมายเลขเกียร์และผลการตรวจจะใช้เป็นข้อมูลสนับสนุน สำหรับมูลค่าความเสียหายต่อรัฐนั้น ดีเอสไอประเมินมูลค่าไว้ประมาณ 1,800 ล้านบาท
       พ.ต.ท.กรวัชร์กล่าวต่อว่า ในระบบฐานข้อมูลกรมขนส่งทางบกมีข้อมูลว่ามีรถยนต์จดประกอบทั้งหมด 6,575 คัน ดีเอสไอได้ตรวจสอบพบว่ามีรถยนต์จดประกอบหายไปจากระบบกรมขนส่งทางบก 1,350 คัน อยู่ระหว่างการติดตาม และเชื่อว่าเป็นรถยนต์จดประกอบที่ลักลอบนำออกมาจากเขตฟรีโซน หรือเขตปลอดอากร กรมศุลกากร ซึ่งพื้นที่ฟรีโซนมีไว้ให้กรณีมีการขนถ่ายรถยนต์ แต่ต้องมาพักหรือผ่านประเทศไทย ก่อนนำไปส่งปลายทางที่ประเทศอื่นๆ แต่รถยนต์ได้หลุดออกมาจากฟรีโซน จากนั้นเข้ากระบวนการปลอมแปลงเอกสารเป็นรถหรูจดประกอบ เนื่องจากรถจดประกอบเสียภาษีแค่ 70 เปอร์เซ็นต์ หากรถหรูเข้ามาขายในประเทศทั้งคันต้องเสียภาษี 300 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปทำให้ราคาสูงมาก สอดคล้องกับข้อมูลอธิบดีกรมศุลกากรที่แถลงไปก่อนหน้านี้ว่ามีรถจำนวน 2,000 คันหายออกมาจากพื้นที่ฟรีโซน โดยดีเอสไอได้ตั้งคณะทำงานฯ ประสานไปยังกรมศุลกากรเพื่อสืบสวนสอบสวนคดีและติดตามรถยนต์ดังกล่าวมาดำเนินคดีและเรียกภาษีคืนให้รัฐตามกฎหมายต่อไป

  

       สำหรับรถยนต์หรู Super Car 6 คันที่ถูกเพลิงไหม้ระหว่างขนย้ายเพื่อนำไปจดทะเบียนที่ต่างจังหวัด โดยเหตุเกิดที่ อ.กลางดง จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2556 นั้นไม่ใช่รถจดประกอบ แต่ลักลอบนำเข้าทั้งคัน โดยขบวนการนี้นำรถยนต์ทั้งคันเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย เพื่อมาดำเนินการจดทะเบียนเป็นรถยนต์จดประกอบเพื่อเลี่ยงภาษี
       ทั้งนี้ จากการสอบสวนพบว่ามีชาวมาเลเซีย 2 คนเป็นผู้นำรถยนต์ยี่ห้อเบนท์ลีย์ และลัมบอร์กินี สีขาว เข้ามาในไทยผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง อ.สะเดา จ.สงขลา โดยสำแดงเป็นนักท่องเที่ยวนำเข้ามาขับในไทย แต่ขากลับไม่ได้นำรถออกไปด้วย พนักงานสอบสวนคดีพิเศษจึงขออำนาจศาลอาญาออกหมายจับผู้ต้องหาชาวมาเลเซียซึ่งเป็นผู้นำเข้ารถหรูดังกล่าวไว้แล้ว 2 ราย ได้แก่ Mr.Ng Chee Kiong อายุ 30 ปี หมายจับเลขที่ 1832/2557 ลงวันที่ 13 ต.ค. 57 และ Mr.Poh Boon poy อายุ 42 ปี หมายจับเลขที่ 1828/2557 ลงวันที่ 13 ต.ค. 57 ข้อหาร่วมกันนำหรือพาของที่ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักรไทย หรือช่วยเหลือด้วยประการใดๆ ในการนำของที่ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักรไทย หรือเกี่ยวข้องด้วยประการใดๆ ในการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากร ตามมาตรา 27 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา สำหรับรถเฟอร์รารีสีแดง และรถเบนซ์ กำลังอยู่ระหว่างการสอบสวนหาผู้นำเข้ามา ส่วนรถยี่ห้อบีเอ็มดับเบิลยู ขณะนี้ตรวจสอบยังไม่พบที่มาที่ไปของรถ และคันสุดท้ายรถยนต์ยี่ห้อเบนท์ลีย์ จากการตรวจสอบเป็นรถที่นำออกมาจากเขตปลอดอากรหรือฟรีโซน ซึ่งดีเอสไอจะสืบสวนหาผู้ร่วมขบวนการต่อไป
       นอกจากนี้ ดีเอสไอสามารถตรวจยึดรถยี่ห้อเบนซ์ต้องสงสัยว่าเลี่ยงการเสียภาษีได้ 2 คัน คาดว่าอยู่ในขบวนการรถหรูจดประกอบเลี่ยงภาษี จากนั้นทางประเทศมาเลเซียได้ประสานมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษประสงค์จะขอรับรถยนต์ดังกล่าวกลับคืน โดยระบุว่ารถทั้ง 2 คันถูกขโมยมาจากประเทศมาเลเซีย ทั้งนี้ดีเอสไอกำลังตรวจสอบข้อกฎหมายอยู่ว่าจะคืนได้หรือไม่ และเมื่อไหร่
        “ที่ผ่านมามีบุคคลไม่ระบุชื่อ-สกุลจริง ทำหนังสือร้องเรียนถึงหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เลขาธิการ ป.ป.ช. ปลัดกระทรวงยุติธรรม และอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ว่าหลังจากเกิดเหตุรถหรู 6 คันถูกไฟไหม้ที่ จ.นครราชสีมา จากนั้นดีเอสไอลงไปตรวจสอบตามเต็นท์รถหรูต่างๆ ก่อนเรื่องเงียบหายไป เพราะมีการเรียกรับเงินเคลียร์คันละ 500,000-2,000,000 ล้านบาท โดยให้ไปถามคีย์แมนระดับหัวหน้าพนังงานสอบสวน คือ พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร เรื่องนี้ทำให้หงุดหงิดและโมโหมาก หากมีการเรียกรับผลประโยชน์จริง ไม่ว่าจะเป็นผมหรือผู้ใต้บังคับบัญชา ให้คนที่กล่าวหาไปแจ้งความดำเนินคดีได้เลย หากเป็นเรื่องจริงตนจะลาออกจากราชการทันที และคนของดีเอสไอมีเกียรติและศักดิ์ศรีมากพอ ไม่หาเศษหาเลยแบบนี้ คดีนี้ยืนยันว่าทำงานกันมาตลอดและไม่ได้เงียบหาย เพียงแต่การทำงานสอบสวนหาพยานหลักฐานต้องใช่เวลา รวมทั้งมีการขอเอกสารจากหลายหน่วยงานในการหาข้อมูลทั้งหมด อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ได้ตรวจสอบเพียงหน่วยงานเดียว เราทำงานร่วมกันหลายหน่วยงาน” พ.ต.ท.กรวัชร์กล่าว

Lasted Post

Related Post