ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ๑๗ เมษายน ๒๕๕๗
published: 17/4/2557 13:59:22 updated: 17/4/2557 13:59:22 1897 views THแถลงการณ์ ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ฉบับที่ ๑ เรื่อง ข้อเรียกร้องต่อฝ่ายต่างๆ เพื่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบเรียบร้อย
ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ ศอ.รส. เป็นหน่วยงานพิเศษที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โดย ศอ.รส. มีภารกิจสำคัญในการสนธิกำลัง ทั้งข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ และข้าราชการพลเรือน ตลอดจนเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงต่างๆ เพื่ออำนวยการและปฏิบัติการให้เกิดความเรียบร้อยในทุกๆ มิติ ทั้งในเขตพื้นที่รับผิดชอบ และสังคมในภาพรวม ตลอดเวลา ๓๐ วันที่ได้มีการจัดตั้ง ศอ.รส. ให้ทำหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการทั้งปวงให้เกิดความสงบเรียบร้อยได้ตลอดมาในระดับหนึ่งนั้น ขณะนี้มีข้อมูลอย่างเพียงพอที่ได้บ่งชี้ว่าจะเกิดความรุนแรงและเหตุร้ายขึ้นในเขตพื้นที่รับผิดชอบของ ศอ.รส. โดยเฉพาะการระดมจัดมวลชนให้มีการชุมนุมใหญ่ทั้งของ กปปส. และ นปช. และกลุ่มอื่นๆ ในลักษณะท้าทายและแข่งขันกัน ภายใต้เงื่อนไขสำคัญคือ การวินิจฉัยขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ๒ องค์กร คือ คณะกรรมการ ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำลังจะวินิจฉัยว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ทำให้รัฐเสียหาย กรณีโครงการรับจำนำข้าวหรือไม่ ซึ่งหากวินิจฉัยว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวมีมูลแล้ว นายกรัฐมนตรีต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗๒ ซึ่งกรณีเช่นนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงว่า นายกรัฐมนตรีจะต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ตามมาตรา ๑๘๑ หรือจะให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเข้าปฏิบัติหน้าที่แทนเพื่อให้คณะรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้โดยไม่เกิดสุญญากาศทางการบริหารประเทศ ในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญนั้นกำลังจะมีคำวินิจฉัยว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีกระทำการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ตามมาตรา ๒๖๖ แห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านายกรัฐมนตรีกระทำการฝ่าฝืนมาตรา ๒๖๖ ดังกล่าว รัฐมนตรีทั้งคณะก็จะต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๑๘๐ ซึ่งแม้มาตรา ๑๘๑ จะบัญญัติให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ แต่ก็มีการคาดการณ์ล่วงหน้าแล้วว่าศาลรัฐธรรมนูญจะได้วินิจฉัยเกินจากรัฐธรรมนูญ คือวินิจฉัยว่าคณะรัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่งโดยจะอยู่ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๑๘๑ อีกไม่ได้ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดสุญญากาศตามที่ กปปส. และกลุ่มเคลื่อนไหวบางกลุ่มต้องการ เพื่อนำไปสู่ การทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งมีการอ้างมาตรา ๓ และมาตรา ๗ ในขณะที่กลุ่ม นปช. และกลุ่มเคลื่อนไหวบางกลุ่มก็จะไม่ยอมรับการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เกินจาก รัฐธรรนูญเช่นนี้ ตลอดจนการวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ดังกล่าวข้างต้นด้วย ซึ่งขณะนี้ก็ได้ปรากฏเป็นข้อมูลและข้อเท็จจริงของการเผชิญหน้าและการท้าทายที่จะจัดการชุมนุมใหญ่ด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย และจะนำไปสู่การปะทะกันและก่อเหตุร้ายต่อกันและกันแล้ว ศอ.รส. มีความกังวลและห่วงใยต่อสถานการณ์ในขณะนี้เป็นอย่างมาก เพราะขณะนี้ความขัดแย้งและการจัดแนวร่วมของแต่ละฝ่ายขยายตัวในวงกว้าง มีกลุ่มประชาชนที่สนับสนุนและคัดค้านแต่ละฝ่ายจำนวนมาก และมีการกล่าวหาว่าองค์กรอิสระบางองค์กรเป็นแนวร่วมกับบางกลุ่มด้วย ตลอดจนมีความพยายามจัดการเลือกตั้งให้เนิ่นช้าออกไป เพื่อให้ปัญหาลุกลามและเกิดสุญญากาศตามแนวทางของบางฝ่าย เพื่อบรรลุภารกิจของ ศอ.รส. ซึ่งเป็นหน่วยงานพิเศษที่รับผิดชอบแก้ไขปัญหาความไม่สงบ อันเกิดจากความขัดแย้งอย่างรุนแรงในขณะนี้ ศอ.รส. โดยมติที่ประชุมเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๗ ซึ่งมี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการ ศอ.รส. นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานที่ปรึกษา ศอ.รส. นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษา ศอ.รส. นายชัยเกษม นิติสิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะรองผู้อำนวยการ ศอ.รส. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะรองผู้อำนวยการ ศอ.รส. พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศอ.รส. นายธาริต เพ็งดิษฐ์ ในฐานะเลขาธิการ ศอ.รส. และหัวหน้าส่วนราชการหรือผู้แทนซึ่งรวมเป็นฝ่ายบริหาร และที่ปรึกษา ศอ.รส. อันประกอบด้วยทหารทุกเหล่าทัพ ตำรวจ พลเรือน และหน่วยงานด้านความมั่นคงทุกหน่วย ซึ่งได้ร่วมประชุมปรึกษากันแล้ว เห็นสมควรออกแถลงการณ์ฉบับนี้เพื่อเรียกร้องต่อองค์กร กลุ่มบุคคล คณะรัฐมนตรี และกลุ่มแกนนำผู้ร่วมชุมนุม ตลอดจนพี่น้องประชาชน ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการสร้างสถานการณ์หรือแก้ไขสถานการณ์ไม่ให้เกิดความรุนแรง หรือรักษาความสงบเรียบร้อย โดยขอให้ แต่ละฝ่ายดำเนินการดังต่อไปนี้
๑. คณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้วยความเคารพต่อองค์กรและเห็นถึงบทบาทอันสำคัญ แต่มีความกังวลในตัวคณะกรรมการบางคน ศอ.รส. จึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาดำเนินคดีและมี คำวินิจฉัยต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในกรณีโครงการรับจำนำข้าวอย่างตรงไปตรงมาตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายโดยไม่เลือกปฏิบัติเป็น ๒ มาตรฐานที่แตกต่างกันระหว่างคนของพรรคฝ่ายค้านและกับพรรคฝ่ายรัฐบาล โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องปฏิบัติตามจริยธรรมอันเป็นมาตรฐานสำคัญของการปฏิบัติหน้าที่ด้วย
๒. ศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยความเคารพต่อองค์กรและเห็นถึงความสำคัญ แต่มีความกังวลในตัวตุลาการบางคน ศอ.รส. จึงขอเรียกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาและมีคำวินิจฉัยต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในกรณีการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี อย่างตรงไปตรงมาเพราะเมื่อเป็น การกระทำในอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็ไม่อาจเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงได้ และประการสำคัญอย่างยิ่ง ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องไม่วินิจฉัยเกินเลยไปถึงขนาดว่าหากความเป็นนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงแล้ว รัฐมนตรีทั้งคณะจะต้องพ้นจากตำแหน่งไปตามมาตรา ๑๘๐ โดยจะอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ตามมาตรา ๑๘๑ อีกไม่ได้ ซึ่งจะเป็นการวินิจฉัยเกินกว่ารัฐธรรมนูญ โดยศาลรัฐธรรมนูญจะต้องปฏิบัติตามจริยธรรมและคำถวายสัตย์ อันเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องยึดถือในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย
๓. คณะรัฐมนตรี ศอ.รส. ขอเรียกร้องว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกินกว่ารัฐธรรมนูญตามที่กล่าวมาในข้อ ๒ แล้ว คณะรัฐมนตรีจะต้องแก้ไขปัญหามิให้เกิดสุญญากาศ เพราะเมื่อศาลรัฐธรรมนูญจงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญเสียเอง คณะรัฐมนตรีก็ชอบที่จะทูลเกล้าฯ ขอพระบรมราชวินิจฉัยว่าคณะรัฐมนตรีต้องพ้นจาก การอยู่ในตำแหน่งตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกินจากรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะคณะรัฐมนตรีได้รับการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง การจะพ้นไปก็สมควรที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พ้นไป มิใช่ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ชี้ขาดเสียเองโดยฝ่าฝืนมาตรา ๑๘๑ ดังกล่าว โดยในระหว่างทูลเกล้าฯ ขอพระบรมราชวินิจฉัยนั้นให้กราบบังคมทูลด้วยว่า คณะรัฐมนตรีจะคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามมาตรา ๑๘๑ การทูลเกล้าฯ ขอพระบรมราชวินิจฉัยเช่นนี้ ก็เพื่อให้เกิดข้อยุติอันจะนำมาซึ่งความสงบสุขของบ้านเมือง โดยมิต้องเกิดการใช้กำลังของกลุ่มคน ๒ กลุ่มเข้าก่อเหตุร้ายต่อกัน และป้องกันมิให้คณะรัฐมนตรีกระทำผิดตามมาตรา ๑๘๑ ด้วย ศอ.รส. เห็นว่ามาตรา ๑๘๑ เป็นหลักการอันสำคัญของการบริหารประเทศที่ป้องกันไม่ให้เกิดสุญญากาศหรือช่องว่าง โดยจะไม่มีรัฐบาลบริหารประเทศไม่ได้เป็นอันขาดในทุกๆ กรณี ซึ่งในอดีตรัฐธรรมนูญทุกฉบับก็บัญญัติไว้ทำนองเดียวกับมาตรา ๑๘๑ อนึ่ง ข้อเรียกร้องดังกล่าวข้างต้นนั้น รวมถึงกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะได้วินิจฉัยว่าข้อกล่าวหาต่อนายกรัฐมนตรีมีมูล และนายกรัฐมนตรีต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๒๗๒ ด้วย
๔. คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ศอ.รส. ขอเรียกร้องให้รับผิดชอบในการจัดให้มี การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็ว เพื่อจะได้มีรัฐบาลชุดใหม่เข้าบริหารประเทศ ปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติ และการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ จะยุติลงทันที และการแสดงพฤติกรรมของ กกต. บางคนที่ประกาศชัดเจนว่า จำเป็นต้องเอนเอียงเข้าข้างบางฝ่ายนั้น เป็นพฤติกรรมที่ไม่สมควรอย่างยิ่งและเข้าข่ายผิดต่อกฎหมายด้วย
๕. แกนนำของ กปปส. และ นปช. ศอ.รส. ขอเรียกร้องให้ยุติการชุมนุมและไม่ปลุกระดมเรียกคนเข้าร่วมชุมนุมใหญ่ เพราะจะเป็นความเสี่ยงอย่างมากต่อการกระทบกระทั่ง และก่อเหตุร้ายต่อกันและกัน หากแกนนำยังคงฝ่าฝืนจนเกิดเหตุร้าย แกนนำทุกคนทุกกลุ่มจะต้องรับผิดชอบต่อการทำผิดกฎหมาย ทั้งทางอาญาและทางแพ่งอย่างถึงที่สุด
๖. หัวหน้าส่วนราชการ ศอ.รส. ขอเรียกร้องต่อหัวหน้าส่วนราชการระดับสูง อันได้แก่ ปลัดกระทรวง เลขาธิการ อธิบดี และหัวหน้าส่วนราชการที่เรียกชื่ออื่นๆ ได้ปฏิบัติหน้าที่ในราชการอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะการบริหารจัดการให้ส่วนราชการ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ สามารถปฏิบัติงานให้บริการประชาชนได้อย่างดีตามปกติ โดยไม่ถูกบุกรุกหรือปิดล้อมจนไม่สามารถให้บริการได้ รวมถึงการกำชับ ตักเตือน และดูแลให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่หลีกเลี่ยงการเข้าร่วมกับกิจกรรมใดๆ ที่อาจเข้าข่ายสนับสนุนแกนนำของกลุ่มเรียกร้องที่กระทำผิดกฎหมายและอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดี เช่น กลุ่ม กปปส. และกลุ่มอื่นๆ ซึ่งหัวหน้าส่วนราชการจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีและเหมาะสมด้วย
๗. พี่น้องประชาชน ศอ.รส. ขอเรียกร้องให้งดเว้นการเข้าร่วมชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม กปปส. และกลุ่ม นปช. หรือกลุ่มอื่นใด เพราะนอกจากจะก่อให้เกิดความขัดแย้งและเหตุร้ายที่จะรุนแรงขึ้นแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อสวัสดิภาพของผู้เข้าร่วมชุมนุมด้วย และขณะนี้แกนนำของทุกฝ่ายได้พยายามใช้การปลุกระดมในลักษณะสงครามทางจิตวิทยา เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อฝ่ายตนและเพิ่มความเกลียดชังฝ่ายอื่นมากขึ้นเรื่อยๆ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่พี่น้องประชาชนจะต้องมีสติ และใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบให้มากที่สุดก่อนที่จะตัดสินใจเชื่อตามคำยุยงแล้วกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดลงไป
จึงแถลงการณ์มาเพื่อทราบทั่วกัน
ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ๑๗ เมษายน ๒๕๕๗