ดีเอสไอ ชี้แจงไม่เคยรับสอบสวนคดีอาญากรณีการทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง โครงการก่อสร้างสนามกีฬาฟุตซอลเป็นคดีพิเศษ

published: 3/1/2566 8:18:58 updated: 3/1/2566 9:30:09 723 views   TH
 

ดีเอสไอ ชี้แจงไม่เคยรับสอบสวนคดีอาญากรณีการทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง
โครงการก่อสร้างสนามกีฬาฟุตซอลเป็นคดีพิเศษ


       ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ออกเอกสารข่าวเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2565 กรณี ได้มีข้าราชการกรมสอบสวนคดีพิเศษ ทำหนังสือยื่นทูลเกล้าถวายฎีกาขอพระราชทานความเป็นธรรมเกี่ยวกับการบริหารงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งต่อมาปรากฏข้อมูลตามสื่อต่างๆ ว่าหนึ่งในประเด็นที่ยื่นทูลเกล้าฯ มีการกล่าวหาเกี่ยวกับการดำเนินคดีการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างโครงการก่อสร้างสนามกีฬาฟุตซอลไม่สุจริต ทำการสอบสวนไม่เต็มประสิทธิภาพ (ทำสำนวนอ่อน) รวมอยู่ด้วย นั้น
       กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวแล้ว พบว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ดำเนินการสืบสวนการกระทำผิดอาญาที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างโครงการก่อสร้างสนามกีฬาฟุตซอล รวม 3 กรณี คือ
     1. กรณีร้องเรียนกล่าวหาว่ามีการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการก่อสร้างสนามกีฬาบางกอกฟุตซอล อารีน่า กรุงเทพมหานคร อันอาจเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 รวมทั้งกล่าวหาว่ามีการทุจริตการใช้งบประมาณในการก่อสร้าง ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ รับไว้สืบสวนตามสำนวนสืบสวนที่ 163/2556 
     2. กรณีร้องเรียนกล่าวหาว่าว่ามีการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการจ้างก่อสร้างสนามฟุตซอล หมู่ที่ 1 บ้านคำเขื่อนแก้ว ตามแบบองค์การบริหารส่วนตำบลคำเขื่อนแก้ว อันอาจเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542  ซึ่งกรมสอบสวน คดีพิเศษรับไว้สืบสวน ตามสำนวนสืบสวนที่ 303/2560
     3. กรณีร้องเรียนกล่าวหาว่ามีการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการจ้างก่อสร้างสนามฟุตซอล ของเทศบาลวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท และของวิทยาลัยเขาวง ตำบลกุดสิมคุ้มใหม่ อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ อันอาจเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษรับไว้สืบสวน ตามสำนวนสืบสวนที่ 82/2561
     เรื่องทั้งหมด กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ดำเนินการสืบสวนตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 แล้วพบว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 (กรณีที่ 1) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 (กรณีที่ 2 และ 3) จึงได้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าว และจากฐานข้อมูลด้านงานคดีพิเศษไม่พบว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติส่งเรื่องกลับมาให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการแต่อย่างใด กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงยังไม่ได้รับเรื่องดังกล่าวไว้สอบสวน จึงมิใช่กรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษรับเรื่องไว้ทำการสอบสวนเป็นคดีพิเศษ และทำการสอบสวนไม่เต็มประสิทธิภาพ (ทำสำนวนอ่อน) แต่อย่างใด อย่างไรก็ตามเพื่อให้ความจริงปรากฎ กรมสอบสวนคดีพิเศษจะได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป ทั้งนี้ หากกรมสอบสวนคดีพิเศษพบว่ามีผู้กระทำความผิด จะเสนอให้มีการพิจารณาลงโทษโดยเด็ดขาด 
     จึงประชาสัมพันธ์มาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

Lasted Post

Related Post