DSI ร่วมงาน "2 ปี พ.ร.บ.ทรมานฯ : กุญแจสู่ความเป็นธรรม”
published: 2/24/2025 3:36:31 PM updated: 2/24/2025 4:15:45 PM 112 views
DSI ร่วมงาน "2 ปี พ.ร.บ.ทรมานฯ : กุญแจสู่ความเป็นธรรม”
ในวันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 09.00 น. พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายอังศุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ผู้อำนวยการกองกิจการอำนวยความยุติธรรม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กองกิจการอำนวยความยุติธรรม เข้าร่วมงาน "2 ปี พ.ร.บ.ทรมานฯ : กุญแจสู่ความเป็นธรรม" โดยมี พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธี และได้รับเกียรติจาก คุณซินเทียร์ เวลิโก้ ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บรรยายเกี่ยวกับมุมมองและความคาดหวังต่อพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 โดยมี นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นางสาวเอมอร เสียงใหญ่ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุม 10-09 (Auditorium) ชั้น 10 อาคารกระทรวงยุติธรรม
โอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เยี่ยมชมนิทรรศการ “อุโมงค์แห่งความยุติธรรม : Key of Juctice” ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษได้นำเสนอผลการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ทรมานฯ ในกรณีลุงเปี๊ยกถูกบังคับทรมานในคดีอาญาและรับชมการนำเสนอผลงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน พ.ร.บ.ฯ ดังกล่าว พร้อมทั้งได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ โดยได้เน้นย้ำความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ให้ครอบคลุมทั้งการป้องกัน การปราบปราม และการเยียวยา เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมอย่างแท้จริง โดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยได้รับการชื่นชมจากหลายประเทศถึงความก้าวหน้าในเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่เคารพสิทธิมนุษยชน เคารพหลักประชาธิปไตย และเป็นประเทศที่มีหลักนิติธรรมที่สูงขึ้น ซึ่งหลักนิติธรรมที่สำคัญประการหนึ่ง คือ ต้องใช้กฎหมายอยู่เหนือบุคคล ซึ่งถือว่าเป็นพลวัตที่เราต้องพัฒนากฎหมายต่อไป โดยกฎหมายฉบับนี้ถือเป็นกุญแจไปสู่ความเป็นธรรม ซึ่งความเป็นธรรมมีความเป็นนามธรรมสูงแต่มีความสำคัญยิ่ง เพราะความเป็นธรรมทำให้เกิดประชาคมร่วมกัน หรือการหลอมรวมเป็นสังคมและเป็นประเทศ ประเทศใดหากขาดซึ่งความเป็นธรรม ไม่ใช่เฉพาะผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่หมายรวมถึงผู้ปกครองที่ไม่ให้ความเป็นธรรมก็จะอยู่ยาก วันนี้ประเทศไทยเราได้มีกฎหมายที่เป็นพระราชบัญญัติที่จะปกป้องคุ้มครองประชาชน ซึ่งหวังให้ประชาชนทุกคนได้รับความเป็นธรรมจากกฎหมายฉบับนี้ สำหรับสิ่งที่เป็นข้อท้าทาย คือ เมื่อเรามีกฎหมายที่ดี สิ่งที่จะทำให้กฎหมายมีพลัง คือ ผู้ปฏิบัติ ผู้บังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนผู้พิพากษา ที่จะต้องธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมตามกฎหมายฉบับนี้ โดยเป้าหมายสำคัญที่สุด คือ การปกป้องคุ้มครองประชาชนให้ได้รับความปลอดภัยอย่างแท้จริง