“DSI ร่วมประชุมเครือข่ายปกป้องคุ้มครองเด็ก INHOPE จากประเทศเนเธอร์แลนด์”
published: 11/24/2022 8:48:05 AM updated: 11/24/2022 8:56:35 AM 674 views TH“DSI ร่วมประชุมเครือข่ายปกป้องคุ้มครองเด็ก INHOPE จากประเทศเนเธอร์แลนด์”
กรมสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมประชุมเครือข่ายฮอตไลน์สากลอินโฮป (INHOPE.org) ร่วมกับ ศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์ (ศปอ.) กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในประเด็นการคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์ เพิ่มยกระดับการทำงานคุ้มครองเด็กบนโลกออนไลน์ในประเทศไทย
วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน 2565 ณ ห้องประชุม ศปอ. ชั้น 11 กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มอบหมายให้ ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงษ์มณี ผู้อำนวยการศูนย์คดีละเมิดทางเพศเด็ก และนางสาวอัญชนา ชัยเลิศ เจ้าหน้าที่คดีพิเศษชำนาญการ เป็นผู้แทนร่วมประชุมกับเครือข่ายฮอตไลน์สากลอินโฮป (INHOPE) โดยมี นางเตือนใจ คงสมบัติ รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในการประชุม และ Ms. Suzanne Wissenburg , Training & Services Manager ผู้แทนจากโดยเครือข่ายฮอตไลน์สากลอินโฮป (INHOPE) เข้าร่วมประชุม โดยมีศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์ (ศปอ.) กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย, มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก, เครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย และกลุ่มผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและคลาวด์ ในประเด็นการคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์ โดยเครือข่ายฮอตไลน์สากลอินโฮป (INHOPE.org) เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานร่วมกับมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย โดย INHOPE มีภารกิจต่อต้านภาพลามกอนาจารเด็กและการแสวงหาประโยชน์ทางเพศเด็กบนอินเทอร์เน็ตที่มีเครือข่ายการทำงานใน 48 ประเทศทั่วโลก โดยเน้นการทำงานเชิงรุก ในการพัฒนาซอฟต์แวร์และการฝึกอบรม เสริมสร้างศักยภาพ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งขยายเครือข่าย และการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ โดยมุ่งหวังให้โลกปราศจากสื่อการล่วงละเมิดทางเพศทางออนไลน์
ในการประชุมผู้แทนจากศูนย์คดีละเมิดทางเพศเด็ก Child Sexual Exploitation Crime Center (CSECC) ได้นำเสนอเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ และภารกิจของกรมสอบสวนคดีพิเศษ รวมถึงภารกิจด้านการสืบสวนสอบสวนคดีละเมิดทางเพศเด็ก โดยกล่าวว่าอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ให้ความสำคัญกับการป้องกัน และปราบปรามการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับสื่อลามกอนาจารเด็ก และการนำนวัตกรรมมาใช้ในการสืบสวนสอบสวน โดยการสนับสนุนเครือข่ายพันธมิตรในการแบ่งปันข้อมูลให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ เช่น การร่วมพัฒนาโปรแกรม iCOP 2.0 ของมหาวิทยาลัย Bristol เพื่อใช้ตรวจจับการเผยแพร่สื่อลามกอนาจารเด็กในระบบอินเทอร์เน็ตในการใช้คำ Searching เป็นภาษาไทย ใน Search engine ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มีปฏิบัติการจับกุมดำเนินคดี และขยายผลเครือข่ายการละเมิดทางเพศเด็กอย่างต่อเนื่อง มีการประสานงานทั้งองค์การตำรวจสากล (INTERPOL) และศูนย์รับแจ้งข้อมูลเด็กหายและเด็กถูกละเมิดแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา U.S. National Center for Missing and Exploited Children หรือ NCMEC เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดทางเพศเด็กทางออนไลน์ อีกทั้งได้พัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ในการเข้าถึงข้อมูล International Child Sexual Exploitation Database (ICSE) เพื่อลดระยะเวลาการสืบสวนสอบสวน ที่ประชุมได้ให้ความสำคัญพัฒนาบุคลากร โดยได้หารือเกี่ยวกับการสนับสนุนให้บุคลากรของกรมสอบสวนคดีพิเศษ เดินทางไปฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทางเพศเด็ก ณ สำนักงานตำรวจสากล สาธารณรัฐสิงคโปร์ อันจะนำมาซึ่งการเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกัน ปราบปรามการกระทำความผิดในคดีละเมิดทางเพศเด็กได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย