DSI เตือนภัย กลโกงแชร์ลูกโซ่

published: 3/8/2023 2:17:46 PM updated: 3/8/2023 2:20:16 PM 1469 views   TH
 

DSI เตือนภัย กลโกงแชร์ลูกโซ่
 


​      ตามที่ปรากฏข้อมูลผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ในลักษณะการชักชวนให้ประชาชนเข้าร่วมลงทุนในธุรกิจรูปแบบต่าง ๆ ที่อาจเข้าข่ายเป็นการหลอกลวงให้ร่วมลงทุนในธุรกิจแชร์ลูกโซ่ ซึ่งนับวันมีแต่จะทวีความรุนแรงสร้างความเดือนร้อน และเป็นภัยต่อสังคมมากขึ้นทุกขณะ ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลการกระทำความผิดของกลุ่มมิจฉาชีพในคดีต่าง ๆ พบพฤติกรรมที่กลุ่มผู้กระทำความผิดมักใช้เป็นอุบายในการล่อลวงที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ มีการโฆษณาว่าเป็นการลงทุนระยะสั้น แต่ให้ผลตอบแทนสูง ส่วนใหญ่จะมีการรับประกันต้นเงินลงทุน ผู้กระทำผิดชอบโพสต์แสดงภาพการใช้ชีวิตหรูหรา เช่น โชว์เงินสดจำนวนมาก ๆ มีบ้านหลังใหญ่ มีรถยนต์หรูราคาแพงหลายคัน และใช้สินค้าแบรนด์แนม อวดอ้างว่ามีบุคคลผู้มีชื่อเสียงในวงสังคม ดารา นักร้อง นักแสดงเป็นหุ้นส่วนหรือเข้าร่วมลงทุนด้วย บางกรณีอาจมีการจัดฉากอบรม สัมมนา บรรยายให้ความรู้ สร้างภาพแสดงแผนการลงทุนในธุรกิจเป็นร้อยล้าน พันล้านบาท แสดงผลประกอบการที่ได้กำไรดีเกินจริง เพื่อโน้มน้าวให้รีบเร่งตัดสินใจเข้าร่วมลงทุน แต่ในความเป็นจริงมีการจดทะเบียนธุรกิจเพียงหลักแสนหรือหลักล้านต้นๆ และผลประกอบการไม่มีกำไร หรือมีแต่น้อย หลายๆ คดีพบว่าผู้กระทำผิดมักโน้มน้าวให้ผู้ลงทุนซึ่งเป็นสมาชิกเก่าไปหาสมาชิกใหม่มาลงทุนเพิ่ม โดยใช้ค่าแนะนำสมาชิกเป็นสิ่งจูงใจ และมักสร้างภาพขยายกิจการเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ ไปยังประเภทธุรกิจที่ต่างกัน เช่น เริ่มต้นจากการขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ต่อมาอ้างว่ามีผลประกอบการดี จึงขยายกิจการไปทำธุรกิจเสริมความงาม หรือธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ โดย 4 กลุ่มประเภทธุรกิจที่มิจฉาชีพนิยมนำมาใช้ในการหลอกลวง คือ  
​1. กลุ่มธุรกิจการรับฝากเงิน หรือการระดมทุนเพื่อนำไปลงทุนในสินค้าอื่นต่อ เช่น กรณีแชร์แม่มณี เป็นการชักชวนให้ประชาชนนำเงินมาฝากกับผู้กระทำความผิด โดยผู้ลงทุนจะได้รับเงินปันผลร้อยละ 50 ของเงินลงทุนต่อเดือน หรือกรณีแชร์โอดี แคปปิตอล เป็นการชักชวนให้ประชาชนนำเงินมาลงทุนให้ผู้กระทำความผิดนำไปลงทุนทำธุรกิจเครื่องประดับ เสื้อผ้า รถยนต์ หรือรีสอร์ท โดยผู้ลงทุนจะได้รับเงินปันผลร้อยละ 10 ของเงินลงทุนต่อเดือน เป็นต้น


​2. ธุรกิจขายตรง (แอบแฝงแชร์ลูกโซ่) เป็นการใช้รูปแบบการประกอบธุรกิจขายตรงเป็นฉากบังหน้า ส่วนใหญ่มักอ้างขายสินค้าอาหารเสริม เครื่องสำอาง ของกินของใช้ต่างๆ แต่ความจริงแล้วผู้กระทำความผิดไม่มีสินค้าอยู่จริง หรือเป็นสินค้าด้อยคุณภาพไม่สมราคา เช่น กรณีแชร์น้ำมันหอมระเหย ผู้กระทำความผิดได้ชักชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าสมัครเป็นสมาชิกตัวแทนจำหน่าย ตะเกียง และน้ำมันหอมระเหย สมาชิก การลงทุนมี 5 ระดับ หลังจากสมัครแล้วสมาชิกเก่าจะต้องหาสมาชิกใหม่เข้าร่วมเป็นเครือข่ายให้ได้ตามจำนวนที่กำหนด เพื่อให้ตนเองได้เลื่อนระดับสูงขึ้น ไม่ได้มุ่งเน้นให้สมาชิกนำสินค้าไปจำหน่ายแต่อย่างใด โดยผู้ลงทุนจะได้รับเงินปันผลร้อยละ 1.6 – 1.8 ของเงินลงทุนต่อเดือน เป็นต้น


3. ธุรกิจพลังงาน หรือสินค้าเกษตร เช่น กรณีแชร์น้ำมันออสซี่ออยล์ เป็นการชักชวนให้ประชาชนนำเงินมาลงทุนในสินค้ากลุ่มธุรกิจไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และน้ำมันเพื่อการเกษตรราคาถูก โดยผู้ลงทุนจะได้รับเงินปันผลร้อยละ 2.6 ของเงินลงทุนต่อเดือน


4. ธุรกิจเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศ (Forex) หรือสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) เช่น กรณีแชร์ Forex-3D เป็นการชักชวนให้ประชาชนนำเงินมาลงทุนกับผู้ต้องหาเพื่อนำไปเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศ อ้างว่ามีทีมงานผู้เชี่ยวชาญและใช้ระบบ AIในการเก็งกำไรซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนให้ โดยผู้ลงทุนจะได้รับเงินปันผลร้อยละ 5 – 6.6 ของเงินลงทุนต่อเดือน หรือกรณีแชร์ พี มายเนอร์ เป็นการชักชวนให้ประชาชนนำเงินมาลงทุนกับผู้ต้องหา เพื่อนำไปเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัล USDT, BITCOIN โดยผู้ลงทุนจะได้รับเงินปันผลร้อยละ 15 ของเงินลงทุนต่อเดือน เป็นต้น


กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงขอประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนมายังพี่น้องประชาชน ขอให้ใช้ความระมัดระวังในการลงทุน เพื่อมิให้ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพโดยง่าย ทั้งนี้ หากสงสัยว่าจะถูกหลอกให้ลงทุนในธุรกิจแชร์ลูกโซ่สามารถสอบถามข้อมูลเบื้องต้นก่อนการลงทุนได้ที่ไลน์ @checkdidsi
​​
-----------------------------------
 
ลงวันที่ 8 มีนาคม 2566