DSI เตือนภัยการฉ้อโกงประชาชนผ่านระบบออนไลน์ด้วยโปรแกรม Messenger
published: 8/8/2562 17:20:41 updated: 8/8/2562 17:20:41 5793 views TH"DSI เตือนภัยการฉ้อโกงประชาชนผ่านระบบออนไลน์ด้วยโปรแกรม Messenger"
DSI ได้รับแจ้งเบาะแสจากเครือข่ายภาคประชาชน เกี่ยวกับการหลอกลวงทางระบบออนไลน์ ด้วยการติดต่อเหยื่อผ่านโปรแกรมสนทนา Messenger ที่เชื่อมโยงกับ Facebook ใช้โปรไฟล์ “ตัน ภาสกรนที” นักธุรกิจชื่อดัง หลอกลวงว่าได้รับรางวัลใหญ่ จำนวน 1,000,000 บาท แต่ต้องยืนยันการรับสิทธิ์ด้วยการซื้อ “True Money” จำนวน 2,000 บาท เป็นค่าดำเนินการและต้องส่งสลิปการซื้อพร้อมเลขบัญชีของเหยื่อให้คนร้าย สุดท้ายสูญเสียเงิน !!
กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2562 ได้มีคนร้าย ใช้ Facebook ชื่อว่า “ตัน ภาสกรนที” ซึ่งเป็นนักธุรกิจชื่อดังและมีภาพโปรไฟล์ยืนยันความน่าเชื่อถือ มาทักขอเป็นเพื่อนกับผู้เสียหายซึ่งเป็นเครือข่ายให้ข้อมูลข่าวสารของกรมสอบสวนคดีพิเศษ บน Facebook และเมื่อรับเป็นเพื่อน คนร้ายจึงติดต่อทางโปรแกรมสนทนา Messenger ซึ่งเชื่อมกับ Facebook แนะนำว่าเป็นผู้โชคดีได้รับรางวัลจาก #กิจกรรมตัน บุญ สุ่มหาผู้โชคดีทาง Facebook เพื่อแจกเงินล้าน พร้อมแสดงความยินดีกับผู้เสียหายว่าเป็นผู้โชคดีได้รับรางวัล จำนวน 1,000,000 บาท และสอบถามว่าประสงค์รับสิทธิหรือไม่ หากประสงค์จะรับรางวัลให้ผู้เสียหายดำเนินการตามเงื่อนไขที่แจ้ง จากนั้นจะแจ้งให้ผู้เสียหายทราบว่าต้องมีค่าดำเนินการ 2,000 บาท
คนร้ายให้ผู้เสียหายซื้อ “True Money” จากร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven จำนวน 2,000 บาท ซึ่งจะมีสลิปยืนยันการซื้อ แบ่งเป็นใบละ 1,000 บาท จำนวน 2 ใบ แล้วให้ถ่ายภาพสลิปซึ่งจะมีรหัสที่เกี่ยวข้องปรากฏบนสลิปที่สามารถนำไปใช้จำหน่ายจ่ายโอนเงินได้ ส่งให้คนร้ายพร้อมภาพหน้าบัญชีของผู้เสียหายผ่านโปรแกรมสนทนา Messenger ซึ่งเมื่อคนร้ายได้ภาพถ่ายสลิป True Money จากผู้เสียหายไปแล้วก็ไม่ติดต่อกลับมาอีก และไม่มีการโอนเงินรางวัลกลับให้ผู้เสียหายตามที่แจ้งไว้แต่อย่างใด และเมื่อตรวจสอบเงิน True Money ก็พบว่ามีการโอนไปยังที่อื่นแล้ว เป็นเหตุให้ได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ ในการหลอกลวงดังกล่าว ยังมีการใช้เอกสารปลอมที่มีเครื่องหมายของทางราชการ (ตราครุฑ) ว่ามีการดำเนินการดังกล่าวจริง เพื่อให้เกิดความสมจริงทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่ออีกด้วย
จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า โปรไฟล์ “ตัน ภาสกรนที” ที่คนร้ายใช้ เพิ่งมีการ update ข้อมูลเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยมีสมาชิกถึง 1,224 คน และเมื่อตรวจข่าวย้อนหลังพบว่า มีกรณีอ้างนักธุรกิจชื่อดังหลอกลวงต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2561 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งยังมีประชาชนตกเป็นเหยื่ออยู่ จากกรณีดังกล่าว พันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เห็นว่าแม้เรื่องดังกล่าวจะมีความเสียหายไม่มาก แต่เป็นเรื่องนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่จะปราบปรามการหลอกลวงประชาชนผ่านระบบออนไลน์ อีกทั้งพฤติการณ์ของคนร้ายใช้วิธีการที่เปลี่ยนแปลงไปและยังไม่มีการเตือนภัยในเรื่องดังกล่าวมาก่อน จึงมอบหมายให้กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นและประสานงานกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (บก.ปอท.) เพื่อสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีต่อไป
จากกรณีดังกล่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงขอแจ้งเตือนไปยังพี่น้องประชาชนว่า ปัจจุบันการหลอกลวงผ่านระบบออนไลน์มีการพัฒนารูปแบบที่หลากหลาย มักจะแอบอ้างผู้มีชื่อเสียงหรือหน่วยงานราชการเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ โดยท้ายสุดของกระบวนการหลอกลวงจะให้ผู้เสียหายส่งเงินจำนวนน้อยให้คนร้ายเพื่อแลกกับผลประโยชน์จำนวนมาก ซึ่งขัดกับหลักความจริง จึงขออย่าได้หลงเชื่อ ทั้งนี้ หากท่านมีเบาะแสในเรื่องดังกล่าว สามารถแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุ หรือแจ้งเบาะแสมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยสามารถติดต่อผ่าน 8 ช่องทาง ดังนี้ (1) การติดต่อด้วยตนเองที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ เลขที่ 128 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210 (2) การส่งเรื่องมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษทางไปรษณีย์ (3) โทรสายด่วนหรือ DSI Call Center 1202 (โทร.ฟรีทั่วประเทศ) (4) การติดต่อผ่านเว็บไซต์ www.dsi.go.th (5) การติดต่อผ่าน Messenger Facebook ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (6) การติดต่อผ่านแอพพลิเคชั่น DSI กรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่อยู่บนระบบโทรศัพท์ Smartphone ทั้งระบบ IOS และ Android (7) การติดต่อผ่านตู้สีขาว รับเรื่องราวร้องทุกข์ และ (8) การติดต่อผ่านศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษทั้ง 10 เขต ซึ่งสามารถตรวจสอบที่ตั้งได้จากเว็บไซต์กรมสอบสวนคดีพิเศษ ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษจะรักษาข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสเป็นความลับและจะดำเนินการตามกฎหมาย
จึงประชาสัมพันธ์มาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
คณะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ
8 สิงหาคม 2562