DSI จัดประชุมสร้างเครือข่ายป้องกัน – ปราบปราม อาชญากรรมข้ามชาติ

published: 9/23/2015 11:01:31 AM updated: 9/23/2015 11:01:31 AM 886 views   TH
 

 

             DSI จัดประชุมสร้างเครือข่ายป้องกัน – ปราบปราม อาชญากรรมข้ามชาติ นางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม เชิงปฏิบัติการโครงการประชุมร่วมมือระหว่างกรมสอบสวนคดีพิเศษและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทั้งในและต่างประเทศในประเทศไทย

             ในวันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน 2558 เวลา 10.30 น. ณ ห้องบอลรูม เอ – บี ชั้น 2  โรงแรม มิลเลเนียม ฮิลตัน ถนนเจริญนคร คลองสาน กรุงเทพมหานคร จัดโดยสำนักกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม นางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า การประชุม เชิงปฏิบัติการโครงการประชุมร่วมมือระหว่างกรมสอบสวนคดีพิเศษและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทั้งในและต่างประเทศในประเทศไทย เป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับกลุ่มเจ้าหน้าที่ต่างชาติต่อต้านยาเสพติดและอาชญากรรมประจำประเทศไทย (Foreign Anti – Narcotic and Crime Community : FANC) และเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอื่น ๆ ที่ประจำอยู่ในประเทศไทยในลักษณะที่มีรูปแบบเช่นเดียวกับการจัดประชุมนานาชาติ (International Conference) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เกิดเครือข่ายในการประสานการดำเนินงานการป้องกันและปราบปรามปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ และเสริมสร้างให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีและความร่วมมือกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของประเทศต่าง ๆ การประชุมในครั้งนี้ จัดรูปแบบการประชุมออกเป็น 2 ส่วน คือ ข่วงเข้า เป็นการนำเสนอภารกิจของหน่วยงานในสังกัดกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้แก่ สำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา สำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม สำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมร้ายแรงและการก่อการร้ายสากล ศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ ช่วงบ่าย เป็นการอภิปรายร่วม (Panel Discussion) ในหัวข้อ “Proceeding approaches to prevent Human Trafficking and Smuggling in terms of Transnational Crime : The Contribution of Cooperative Efforts among Law Enforcement Agencies” โดยผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ และประเทศไทยในประเด็นในการอภิปราย ดังนี้ สถานการณ์การลักลอบขนคนและค้ามนุษย์ สาเหตุ และผลที่ตามมาของอาชญากรรมข้ามชาติ มุมมองของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย แนวทางการประสานความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา (ภายในประเทศ และระหว่างประเทศ) ตัวอย่างที่ดีที่สุด (Best Practices) ภายหลังการอภิปราย จะมีการจัดเลี้ยงแสดงความขอบคุณแก่วิทยากรและผู้เข้าร่วมโครงการ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในการสร้างเครือข่ายการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติระหว่างกรมสอบสวนคดีพิเศษและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของประเทศต่าง ๆ ที่ประจำอยู่ในประเทศไทยอันจะเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมการประสานความร่วมมือด้านการป้องกันและปราบปรามการก่ออาชญากรรมและภารกิจของกรมสอบสวนคดีพิเศษสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี