DSI ปฏิญาณตน “ข้าราชการ DSI ไร้ทุจริต” เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากรมสอบสวนคดีพิเศษ ปีที่ 17

published: 10/3/2019 5:43:48 PM updated: 10/3/2019 5:43:48 PM 1522 views   TH
 
DSI ปฏิญาณตน “ข้าราชการ DSI ไร้ทุจริต” เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากรมสอบสวนคดีพิเศษ ปีที่ 17

          ในวันนี้ (วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม 2562) เวลา 09.00 น. พันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วย พันตำรวจโท กรวัชร์ ปานประภากร นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ นายมณฑล แก้วเก่า และพันตำรวจโท ปกรณ์ สุชีวกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ จำนวนกว่า 1,000 คน ร่วมปฏิญาณตน “ข้าราชการ DSI ไร้ทุจริต” และผนึกกำลังสามัคคีแสดงออกถึงเจตนารมณ์ในการที่จะยึดถือค่านิยมร่วม “เกียรติศักดิ์ เชี่ยวชาญ และซื่อสัตย์” เพื่อให้เป็นที่ประจักษ์และส่งสารสู่สาธารณชน เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากรมสอบสวนคดีพิเศษ ปีที่ 17 พร้อมทั้งจัดพิธีสงฆ์ เจริญพระพุทธมนต์ และถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์สมณศักดิ์ จำนวน 10 รูป ณ บริเวณโถงกลาง ชั้น G และบริเวณด้านข้างอาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ

   

   

   

   

          พันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม สถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2545 ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 มาตรา 36 กำหนดให้กรมสอบสวนคดีพิเศษมีอำนาจหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในคดีพิเศษ ตลอดระยะเวลา 16 ปี ที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษเกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน ทั้งด้านการบริหารราชการ การปฏิรูปและปรับปรุงกฎหมาย การบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐ และระบบวิธีการปฏิบัติงาน ภายใต้บริบทแวดล้อมทางด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นองค์การที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทุกด้านอยู่เสมอ พร้อมทั้งยึดถือ “ความซื่อสัตย์สุจริต” และ “ความรักสามัคคี” เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ซึ่งเสมือนเป็นพลังและความเข้มแข็งขององค์การ และพร้อมยืนหยัดเคียงข้างพี่น้องประชาชนและประเทศชาติ ในการอำนวยความยุติธรรม เพื่อปกป้องผลประโยชน์และความผาสุกของสังคมโดยรวม ซึ่งพลังสามัคคีดังกล่าวนี้เป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งที่ทำให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ สามารถยืนหยัดต่อสู้กับความอยุติธรรมและไม่เกรงกลัวอิทธิพลใดๆ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ชื่อของ “กรมสอบสวนคดีพิเศษ” หรือ “ดีเอสไอ” เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ซึ่งเห็นเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า เมื่อพี่น้องประชาชนมีทุกข์ร้อนหรือภัยอันใด ชื่อของ “ดีเอสไอ” จะเป็นหน่วยงานแรก ๆ ที่ถูกกล่าวถึงเสมอ

   

   

   

          ในมิติด้านการดำเนินคดีพิเศษนั้น ตั้งแต่มีการจัดตั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2545 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 17 ปี กรมสอบสวนคดีพิเศษมีการสอบสวนดำเนินคดีพิเศษไปแล้วถึง 2,654 คดี โดยดำเนินการสอบสวนเสร็จแล้ว 2,497 คดี อยู่ระหว่างการสอบสวน 157 คดี นอกจากนั้นยังมีเรื่องที่รับไว้สืบสวนก่อนรับเป็นคดีพิเศษ ถึง 3,053 เรื่อง ดำเนินการเสร็จแล้ว 2,918 เรื่อง และอยู่ระหว่างดำเนินการ 135 เรื่อง โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษได้แบ่งประเภทของอาชญากรรมที่รับไว้ดำเนินการเป็น 4 กลุ่มคดี ดังนี้

               1. ด้านอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ได้แก่ อาชญากรรมด้านการเงิน การธนาคาร การภาษีอากร การฟอกเงิน การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจ การคลัง กลุ่มนี้มีการดำเนินคดีไปแล้วทั้งสิ้น 803 คดี

               2. ด้านอาชญากรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและทรัพย์สินทางปัญญา ได้แก่ อาชญากรรมที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ และการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา กลุ่มนี้มีการดำเนินคดีไปแล้วทั้งสิ้น 528 คดี

               3. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ อาชญากรรมที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภค สิ่งแวดล้อม และเกี่ยวกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กลุ่มนี้มีการดำเนินคดีไปแล้วทั้งสิ้น 373 คดี

               4. ด้านอาชญากรรมระหว่างประเทศและอาชญากรรมพิเศษ ได้แก่ อาชญากรรมที่เป็นความผิดข้ามชาติ องค์กรอาชญากรรม การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว การเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ การค้ามนุษย์ อาชญากรรมที่กระทบต่อความมั่นคงประเทศ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน และอาชญากรรมพิเศษอื่น ๆ กลุ่มนี้มีการดำเนินคดีไปแล้วทั้งสิ้น 950 คดี

          โดยคดีพิเศษที่ดำเนินการแล้วเสร็จนั้น เมื่อนำมาคำนวณมูลค่าความเสียหาย/ผลประโยชน์
ที่ปกป้อง รักษา เรียกคืนให้แก่รัฐ เอกชน และประชาชนแล้ว มีมูลค่าถึง 599,425,112,300.49 บาท ในขณะที่ แต่ละปี กรมสอบสวนคดีพิเศษใช้งบประมาณเฉลี่ยปีละ 1,000 ล้านบาทเศษ เท่านั้น

          นอกจากนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษยังได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี พ.ศ. 2562 ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรติและสร้างขวัญกำลังใจแก่หน่วยงานที่ได้รับรางวัลมุ่งพัฒนาคุณภาพการให้บริการและระบบการบริหารของหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพ โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับรางวัล จำนวน 4 รางวัล ดังนี้ 1. สาขาบริการภาครัฐประเภทขยายผลมาตรฐานการบริการจากผลงาน “The Choice เกมทางเลือกทางรอด” สื่อการเรียนรู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำเสริมสร้างคุณภาพชีวิต 2. สาขาคุณภาพการบริการจัดการภาครัฐรายหมวด หมวด 4 การวิเคราะห์ผลการดำเนินงานขององค์การและการจัดการความรู้ 3. สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ได้แก่  รางวัลเปิดใจใกล้ชิดประชาชน (Open Governance) 4. นายชาลิน กันแพงศรี เครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดเลย ได้รับรางวัล ผู้นำหุ้นส่วนความร่วมมือ (Engaged Citizen)

          ก้าวเข้าสู่ปีที่ 17 กรมสอบสวนคดีพิเศษขอให้คำมั่นว่า จะปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มุ่งมั่นในการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยจะปรับปรุงระบบการปฏิบัติงาน เพื่อมุ่งสู่การเป็นระบบราชการ 4.0 และให้มีมาตรฐานในระดับสากล ลดขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ไม่จำเป็น สร้างการมีส่วนร่วมกับ
ทุกภาคส่วน เสริมสร้างระบบคุณธรรมและความโปร่งใสในการบริหารงานด้านต่าง ๆ พร้อมทั้งแสดงเจตจำนงร่วมกันให้คำสัตย์ปฏิญาณที่แสดงถึงปณิธานในอันที่จะปฏิบัติตน ปฏิบัติงาน ด้วยการ “มุ่งรักษาเกียรติศักดิ์ ด้วยใจซื่อสัตย์สุจริต และปฏิบัติภารกิจด้วยความเป็นมืออาชีพ” เพื่อมุ่งสู่วิสัยทัศน์การเป็น “องค์การหลักในการบังคับใช้กฎหมายกับอาชญากรรมพิเศษตามมาตรฐานสากล” ด้วยกัน ตามนโยบายรัฐบาลนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อให้กรมสอบสวนคดีพิเศษก้าวไปสู่องค์กรชั้นนำของประเทศที่ได้รับความไว้วางใจและเป็นที่เชื่อมั่น ศรัทธา เป็นที่พึ่งด้านการอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนตลอดไป

   

   

   

          ในวันคล้ายวันสถาปนากรมสอบสวนคดีพิเศษ ปีที่ 17 นี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้จัดกิจกรรมเสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรมให้แก่บุคลากร เสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยผู้บริหารกรมสอบสวนคดีพิเศษร่วมกันประกาศคำมั่นสัญญาค่านิยมร่วมและวัฒนธรรมองค์การของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ตลอดจนข้าราชการและเจ้าหน้าที่จำนวนกว่า 1,000 คน ร่วมกันปฏิญาณตน “ข้าราชการ DSI ไร้ทุจริต” พร้อมแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านการทุจริต ซึ่งมุ่งสนองตอบนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงยุติธรรมในการป้องกัน ปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ และเพื่อปลุกจิตสำนึก สร้างค่านิยมในการยึดมั่น และร่วมมือกันปฏิบัติตามนโยบายการบริหารองค์การตามหลักธรรมาภิบาลให้แก่บุคลากรของกรมสอบสวนคดีพิเศษ รวมทั้งเสริมสร้างภาพลักษณ์ของผู้ปฏิบัติงานในการยึดมั่น ดำรงตน ตามค่านิยมที่สำคัญ 3 ประการ คือ เกียรติศักดิ์ เชี่ยวชาญ ซื่อสัตย์ โดยมุ่งปฏิบัติงานให้บรรลุตามยุทธศาสตร์ของกรมสอบสวนคดีพิเศษในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับสาธารณชนและพัฒนาองค์การอย่างยั่งยืน