DSI แจ้งเตือนประชาชนระวัง ถูกหลอกให้ลงทุนค้าเงินดิจิทัล โดยใช้เทคโนโลยี AI
published: 8/26/2019 11:01:40 AM updated: 8/26/2019 11:01:40 AM 7278 views THDSI แจ้งเตือนประชาชนระวัง ถูกหลอกให้ลงทุนค้าเงินดิจิทัล โดยใช้เทคโนโลยี AI
ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประกาศอนุญาตให้ 7 สกุลเงินดิจิทัล ใช้ในการซื้อขาย ประกอบด้วย เงินสกุล Bitcoin, Bitcoin Cash, Ethereum, Ethereum Classic, Litecoin, Ripple และ Stellar โดย ก.ล.ต. ได้ประกาศรายชื่อบริษัทผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล จำนวน 4 บริษัท โดยแบ่งเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจำนวน 3 ราย ได้แก่
1. บริษัท บิทคอยน์ จำกัด ( BX) www.bx.in.th
2. บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ( BITKUB) www.bitkub.com
3. บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ( Satang Pro) www.satang.pro
นอกจากนี้ยังมีผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นนายหน้าและผู้ค้า (Broker/Dealer) จำนวน 1 ราย ได้แก่ บริษัทคอยส์ ทีเอช จำกัด (Coins TH) www.coins.co.th
สำหรับวิธีการในการซื้อขายเงินสกุลดิจิทัลนั้น ผู้จะทำการซื้อขายต้องสมัครสมาชิกตามที่เว็บไซต์ข้างต้นกำหนดไว้ โดยจะต้องลงทะเบียนระบุตัวตนด้วยบัตรประจำตัวประชาชนและสมุดบัญชีเงินฝาก ที่จะใช้ในการทำธุรกรรมซื้อขายเงินดิจิทัล ซึ่งเว็บไซต์ข้างต้นจะทำหน้าที่เสมือนเป็นตัวกลางในการซื้อขายเงินดิจิทัลของสมาชิก อันมีลักษณะเหมือนการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งราคาซื้อขายจะขึ้นลงตามปัจจัย
ในตลาดโลกและมีความผันผวนคล้ายกับหลักการของการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ราคาซื้อขาย
ในแต่ละครั้งไม่สามารถกำหนดชัดเจนตายตัวได้ ซึ่งนักเก็งกำไรจะให้ความสนใจในการซื้อขายในระยะสั้นหรือระยะยาวแตกต่างกันไป
เมื่อกระแสการซื้อขายเงินดิจิตอลกำลังได้รับความนิยมจากนักลงทุน กลุ่มมิจฉาชีพจึงได้คิดอุบายในการหลอกลวงทรัพย์สินจากผู้ที่หลงเชื่อและไม่มีความรู้เพียงพอ โดยมีการจัดทำเว็บไซต์ต่างๆ ขึ้นมา กล่าวอ้างว่าเป็นเว็บไซต์ที่ดำเนินการโดย นิติบุคคลหรือ บุคคลต่างชาติ มีวัตถุประสงค์ในทางการค้าเงินดิจิทัลด้วยวิธี Arbitrage (อาร์บิทราจ) เป็นการทำกำไรจากผลต่างของราคาสินค้าชนิดเดียวกันในสองตลาด
โดยกล่าวอ้างว่าใช้ผู้ช่วยในการดำเนินการที่เรียกว่า Artificial Intelligence (AI) ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ถูกเขียนและพัฒนาให้มีความฉลาด มีความสามารถคิด วิเคราะห์ วางแผน และตัดสินใจได้ โดยการประมวลผลจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ มากไปกว่านั้นยังสามารถดัดแปลงการประมวลผล ประยุกต์ ให้เป็นไปตามสถานการณ์ต่างๆ และถูกกำหนดมาให้ทำการซื้อเหรียญดิจิทัลในตลาดที่มีราคาต่ำ แล้วนำไปขายในตลาดที่มีราคาสูงกว่าเพื่อทำกำไร ซึ่งเรียกว่าการ “เทรด ด้วย AI” และเสนอว่าหากผู้ลงทุนสนใจลงทุนจะได้รับผลตอบแทน 2 % ต่อวัน จากยอดลงทุน เนื่องจากการลงทุนดังกล่าวไม่มีความเสี่ยงเพราะดำเนินการด้วย AI ซึ่งถูกออกแบบมาให้ทำการเทรดให้ได้กำไรเท่านั้น
ในประเทศไทยพบการชักชวนให้ลงทุนในลักษณะดังกล่าวนี้อยู่หลายเว็บไซต์ ก.ล.ต.จึงได้มีประกาศเตือน เมื่อวันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม 2562 ฉบับที่ 66/2562 เตือนกรณี FX Trading Corporation ที่พบการชักชวนให้ผู้ลงทุนเข้าร่วมลงทุนกับบริษัท โดยอ้างว่า ใช้เทคโนโลยี AI ซึ่งสามารถทำกำไรจากการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัลให้กับผู้ลงทุนได้เป็นรายวัน รวมทั้งจะได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นหากสามารถชักชวนบุคคลอื่นให้เข้ามาลงทุนในเครือข่ายเพิ่มอีกได้ โดย ก.ล.ต.แจ้งว่า FX Trading Corporation มิได้อยู่ในรายชื่อผู้ที่ได้รับอนุญาตหรืออยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.แต่อย่างใด ทั้งนี้ ก.ล.ต.ยังได้ย้ำว่า การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง อย่างไรก็ตาม นอกจากกรณี FX Trading Corporation ยังพบว่ามีการดำเนินการของเว็บไซต์อื่น ๆ ที่คล้ายกันอีกหลายเว็บไซต์
การสืบสวนสอบสวนกรณีที่พบว่าเป็นการชักชวนให้ลงทุนข้างต้นนี้ซึ่งมีลักษณะเป็นแชร์ลูกโซ่ เป็นเรื่องที่มีความยุ่งยากและซับซ้อนเพราะแชร์ลูกโซ่ที่เกี่ยวกับเงินดิจิทัลที่กล่าวมานี้ กล่าวอ้างว่าเป็นนิติบุคคลต่างประเทศ เว็บไซต์ที่ดำเนินการเป็นเว็บไซต์ต่างประเทศ การลงทุนนั้น ผู้ลงทุนต้องดำเนินการหาซื้อเหรียญดิจิทัลที่ถูกต้องตามกฎหมายในประเทศของไทย จากนั้นนำเหรียญดิจิทัลโอนไปยังเว็บไซต์ที่เปิดรับการลงทุน เมื่อจะมีการปันผล เว็บไซต์ดังกล่าวจะปันผลกลับมาเป็นเงินสกุลต่างประเทศ อาทิ เงินดอลลาร์สหรัฐ หากผู้ลงทุนต้องการที่จะเบิกเงินปันผลดังกล่าวออกมา ต้องนำเงินสกุลต่างประเทศที่ได้รับ ไปแลกเปลี่ยนเป็นเหรียญดิจิทัลด้วยวิธีที่ถูกต้องตามกฎหมายในประเทศไทย อาทิ กับบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ กลต.รับรองที่กล่าวมาข้างต้น แล้วจึงจะเปลี่ยนเป็นเงินไทยเข้าบัญชีธนาคารผู้ลงทุน ทำให้ไม่พบกระแสเงินลงทุนไปยังบัญชีบุคคลที่ชักชวนโดยตรง และเนื่องจากเป็นการกระทำโดยเว็บไซต์ที่อยู่ต่างประเทศ ถือว่าการกระทำความผิดส่วนหนึ่งส่วนใดได้กระทำลงนอกราชอาณาจักร อันเป็นความผิดนอกราชอาณาจักร ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 ให้อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ หรือจะมอบหมายให้พนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนคนใดเป็นผู้รับผิดชอบทำการสอบสวนแทน ซึ่งที่ผ่านมา การสอบสวนคดีพิเศษที่เกี่ยวกับความผิดนอกราชอาณาจักรจะต้องประสานความร่วมมือไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดและหน่วยงานในต่างประเทศ ซึ่งมีขั้นตอนและวิธีการดำเนินการที่ต้องใช้เวลาพอสมควร บางคดีอาจใช้เวลาหลายปีถึงจะได้ข้อมูลที่ใช้เป็นพยานหลักฐานได้
คณะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ
24 สิงหาคม 2562