DSI ร่วมกับ กรมการปกครอง องค์กรพัฒนาเอกชนด้านบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ มอบบัตรประจำตัวประชาชนตามโครงการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม (DNA) ให้กับประชาชนในพื้นที่อำเภออมก๋อย จำนวน 100 คน

published: 8/23/2022 4:37:43 PM updated: 8/23/2022 4:37:43 PM 825 views   TH
 

DSI ร่วมกับ กรมการปกครอง องค์กรพัฒนาเอกชนด้านบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ
มอบบัตรประจำตัวประชาชนตามโครงการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม (DNA)
ให้กับประชาชนในพื้นที่อำเภออมก๋อย จำนวน 100 คน

     วันนี้ (วันอังคารที่ 23 สิงหาคม 2565) เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมที่ว่าการอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดย นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมกับกรมการปกครอง โดย นายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่  องค์กรแพลน อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย และเครือข่ายสตรีชนเผ่าแห่งประเทศไทย จัดโครงการสำคัญของกรมการปกครอง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 หรือ 10 Flagships to DOPA All Smart 2022 ภายในแนวคิด “ทำให้ประชาชนทุกข์น้อยลง สุขมากขึ้น” มาสู่โครงการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม และพิธีมอบบัตรประจำตัวประชาชนตามโครงการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม (DNA) ให้กับประชาชนในพื้นที่อำเภออมก๋อย จำนวน 100 คน ส่งผลให้ประชาชนได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายและสามารถเข้าถึงสิทธิได้อย่างรวดเร็ว เท่าเทียม ทั่วถึง อย่างมีประสิทธิภาพ
   จากปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนและความเหลื่อมล้ำในสังคม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบาย “ยุติธรรมสร้างสุข” มาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงนำแนวคิดดังกล่าวมาพิจารณาแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนด้านบุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนและความเหลื่อมล้ำ ด้วยการบูรณาการแก้ไขปัญหาร่วมกับกรมการปกครอง สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ องค์กรพัฒนาเอกชนด้านบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ
   นายไตรยฤทธิ์ กล่าวว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ นอกจากจะมีภารกิจในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม เช่น การกระทำความผิดสวมตัวทำบัตรประจำตัวประชาชนหรือเพิ่มชื่อบุคคลในทะเบียนราษฎร และป้องปรามการทุจริตภาครัฐ ยังมีการพัฒนาการให้บริการด้านสิทธิมนุษยชน โดยนำปัญหาความเดือดร้อนของคนไร้รัฐไร้สัญชาติมาพัฒนาการให้บริการ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม มีแนวทางประกอบด้วย การสร้างโอกาสให้กับคนไร้รัฐไร้สัญชาติโดยค้นหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติ การช่วยเหลือค้นหาและพิสูจน์หลักฐาน บูรณาการแก้ไขปัญหาเพื่อลดระยะเวลาในการพิจารณาสัญชาติ ออกแบบกระบวนการกลั่นกรองเพื่อให้โครงการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม เพื่อให้ผลการตรวจสอบเกิดความแม่นยำ เป็นการประหยัดงบประมาณแผ่นดิน และเกิดประสิทธิภาพในการตรวจพิสูจน์