DSI นำเสนอผลการสำรวจความเชื่อมั่นของสาธารณชน ต่อการดำเนินงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
published: 9/16/2022 12:35:14 PM updated: 9/16/2022 12:35:14 PM 795 views THDSI นำเสนอผลการสำรวจความเชื่อมั่นของสาธารณชน
ต่อการดำเนินงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
วันที่ 15 กันยายน 2565 เวลา 09.30 น.นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นประธานเปิดการประชุมนำเสนอผลการสำรวจความเชื่อมั่นของสาธารณชนต่อการดำเนินงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 8 กรมสอบสวนคดีพิเศษ อาคารรัฐประศาสนภักดี การสำรวจความเชื่อมั่นฯ ดำเนินการโดยคณะทำงานตามโครงการการสำรวจความเชื่อมั่นฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ซึ่ง พันตำรวจโท พเยาว์ ทองเสน รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นหัวหน้าคณะทำงานและกองพัฒนาและสนับสนุนคดีพิเศษ (ส่วนพัฒนาระบบงานสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ) เป็นฝ่ายเลขานุการฯ โดยมีผู้รับบริการ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และประชาชน ตอบแบบสำรวจ รวมทั้งสิ้น 1,246 ราย สรุปได้ดังนี้
1. กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ทราบถึงช่องทางการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและช่องทางการเตือนภัยของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผ่านสื่อออนไลน์ (ไลน์/เฟสบุ๊ค ฯลฯ) “มากที่สุด”
2. ในภาพรวมกลุ่มตัวอย่างมีความเชื่อมั่นต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในเรื่อง “มีบุคลากรที่มีความรู้ ทักษะ และความเชี่ยวชาญ ปฏิบัติงานด้วยความเป็นสหวิชาชีพ” มากที่สุด สำหรับปัญหา/อุปสรรคนั้น กลุ่มตัวอย่างมีความความเห็นว่า “หลักเกณฑ์ในการรับเป็นคดีพิเศษ มีข้อจำกัดมาก” เป็นปัญหา/อุปสรรค มากที่สุด และมีความเห็นว่า คดีที่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและสังคมมากที่สุด คือ “คดีความผิดเกี่ยวกับธุรกิจการเงินนอกระบบ” ทั้งนี้ มีค่าความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (จาก 1 – 10) อยู่ในระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 73.80 (= 7.38) โดยมีความเห็นว่า “การถูกแทรกแซงทางการเมือง” ทำให้เกิด “ไม่เชื่อมั่น” ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ มากที่สุด
3. ในภาพรวมกลุ่มตัวอย่างมีค่าเฉลี่ยความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานของกรมสอบสวน
คดีพิเศษตามหลักธรรมาภิบาล อยู่ในระดับมาก (= 3.78) คิดเป็นร้อยละ 75.51 โดยมีค่าเฉลี่ยความเชื่อมั่นต่อ “หลักประสิทธิภาพ” มากที่สุด (= 3.90) คิดเป็นร้อยละ 77.88 และหลักการตอบสนอง “น้อยที่สุด” (= 3.73) คิดเป็นร้อยละ 74.43 ตามลำดับ
4. ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนา โดยสรุปข้อเสนอแนะต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดังนี้
(1) ควรเป็นหน่วยงานที่ปราศจากการแทรกแซง โดยเป็นองค์กรอิสระในลักษณะเช่นเดียวกับองค์กรอัยการ หรือศาล หรืออาจเป็นหน่วยงานขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี
(2) ควรประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลข่าวสารกับผู้รับบริการ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และประชาชน ทั้งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่หรือภารกิจ ช่องทางการติดต่อ การแจ้งความคืบหน้าในการดำเนินคดี และแจ้งผลการดำเนินคดี ตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งคดีเสร็จสิ้น ทั้งนี้ ต้องไม่ขัดต่อหลักกฎหมาย เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และเพื่อความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่
(3) ควรนำระบบคุณธรรมมาใช้ในการบริหารบุคลากรให้มากขึ้น รับโอนบุคลากรจากหน่วยงานภายนอกให้น้อยลง แต่เพิ่มการเปิดสอบเพื่อรับข้าราชการใหม่แทน โดยการสอบต่าง ๆ ควรเป็นการดำเนินการโดยหน่วยงานภายนอก และเร่งพัฒนาด้านบุคลากรให้มีความรู้และทักษะดิจิทัลเท่าทันต่ออาชญากรรมในปัจจุบันในทุกรูปแบบ
(4) ควรพัฒนาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ และควรพัฒนากฎหมาย โดยการนำกฎหมายที่มีอยู่แล้วมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันโดยเร็ว.