DSI ร่วมเครือข่าย ประชุมถอดบทเรียนหาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ระดับชาติ

published: 11/25/2021 10:20:27 AM updated: 11/25/2021 4:44:01 PM 1089 views   TH
 

วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน 2564  เวลา 08.30 น. นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการถอดบทเรียนการดำเนินคดีอาชญากรรมข้ามชาติด้านการค้ามนุษย์ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมฯ ประกอบด้วย เครือข่ายการทำงานด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมด้านการค้ามนุษย์ จำนวน 135 คน ณ โรงแรมภูเก็ต แมริออท รีสอร์ท แอนด์ สปา เมอร์ลินบีช (Phuket Marriott Resort & Spa, Marlin Beach) อำเภอกระทู้ จังหวัดภูเก็ต
นายไตรยฤทธิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับปัญหาการค้ามนุษย์ โดยได้ยกเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันแก้ไข โดยท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม  (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) ได้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแล ต้องดำเนินการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดด้านการค้ามนุษย์อย่างจริงจังและเด็ดขาด  กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรภาคีเครือข่ายนานาชาติหลายแห่ง จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเป็นการถอดบทเรียนจาก “การดำเนินคดีอาชญากรรมข้ามชาติด้านการค้ามนุษย์”  ในระหว่างวันที่ 24 - 26 พฤศจิกายน 2564 โดยกำหนดหัวข้อการประชุม อาทิ การพัฒนากระบวนการนโยบายสาธารณะที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังเพื่ออนุวัตรการอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์โดยเฉพาะสตรีและเด็ก , การพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ , การสืบสวนและสอบสวนคดีการค้ามนุษย์ในรูปแบบอาชญากรรมข้ามชาติ , การดูแลและเยียวยาผู้เสียหายในคดีการค้ามนุษย์ เป็นต้น โดยมีหน่วยงานระดับนานาชาติ  ได้แก่  สำนักงานสอบสวนกลางแห่งสหรัฐอเมริกา (FBI)  สำนักงานการสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐอเมริกา (HSI)  สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเครือรัฐออสเตรเลีย (ABF) สำนักงานผู้ช่วยทูต ฝ่ายตำรวจกลุ่มประเทศนอร์ดิค  และมีองค์กรระหว่างประเทศ องค์กรพัฒนาเอกชน หน่วยงานของไทย เข้าร่วมงานด้วย ได้แก่ ASEAN-ACT ,  Hanns Seidel  ,  IOM Thailand  ,  UNODC  , มูลนิธิ IJM  ,  มูลนิธิ A21 Thailand  ,  มูลนิธิฟอร์ฟรีด้อมอินเตอร์เนชั่นแนล  ,  องค์การโอเปอร์เรชั่น อันเดอร์กราวด์ เรลโรด , มูลนิธิพิทักษ์สตรี (AAT) , มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ฯลฯ และหน่วยงานอื่นที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ประกอบด้วย ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด , กองทัพเรือภาค 3 , กรมการปกครอง , กองต่อต้านการค้ามนุษย์ , กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ , สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง  เข้าร่วมประชุม
 นายไตรยฤทธิ์ กล่าวต่อว่า ท่านรัฐมนตรีฯ ได้กล่าวขอบคุณผู้แทนจากทุกหน่วยงาน ที่ให้ความร่วมมือผลักดันให้เกิดการประชุมระดับชาติในครั้งนี้ ซึ่งท่านมองเห็นว่าอนาคต กรมสอบสวนคดีพิเศษและหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จะเกิดการบูรณาการความร่วมมือในลักษณะภาคีเครือข่ายของหน่วยงานด้านการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ เพื่อเสริมสร้างแนวทางการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน นำมาสู่การปรับระดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP REPORT) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และท้ายนี้ผมขอขอบคุณท่านพลตำรวจเอก ธรรมศักดิ์  วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ให้เกียรติร่วมประชุมและบรรยาย หัวข้อ “การพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์” อีกด้วย

        กรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างเป็นรูปธรรม โดยมุ่งเน้นการปราบปราบด้วยการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ในลักษณะเครือข่ายองค์กรอาชญากรรมระหว่างประเทศ ผู้มีอิทธิพล รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ในส่วนของการป้องกัน มุ่งเน้นการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในการแจ้งเหตุ แจ้งเบาะแส หรือเสริมสร้างองค์ความรู้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อเกิดเป็นภาคีความร่วมมือในการป้องกันการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์อย่างเป็นรูปธรรม