การดำเนินการกรณีขบวนการนำรถยนต์ใช้แล้วเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อจดประกอบเป็นรถยนต์จากอุปกรณ์ชิ้นส่วนรถยนต์เก่า

published: 23/5/2560 10:44:17 updated: 23/5/2560 10:44:17 2030 views   TH
 

การดำเนินการกรณีขบวนการนำรถยนต์ใช้แล้วเข้ามาในราชอาณาจักร

เพื่อจดประกอบเป็นรถยนต์จากอุปกรณ์ชิ้นส่วนรถยนต์เก่า

 

 

ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มีคำสั่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่ 372/2559 ลงวันที่ 21 เมษายน 2559 มอบหมายให้ พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรณีขบวนการนำรถยนต์ใช้แล้วเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจดประกอบเป็นรถยนต์จากอุปกรณ์ชิ้นส่วนรถยนต์เก่า ทางคณะพนักงานสอบสวนได้เร่งรัดดำเนินการตรวจสอบข้อมูลรถยนต์จดประกอบจากชิ้นส่วนเก่าจากต่างประเทศที่กรมการขนส่งทางบกนำส่งข้อมูลมาให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการ จำนวน 7,123 คัน ซึ่งกรมการขนส่งทางบกได้แบ่งการนำส่งเอกสารข้อมูลการจดทะเบียนรถยนต์จดประกอบเป็น 2 ครั้ง ครั้งแรก จำนวน 548 คัน ครั้งที่สอง จำนวน 6,575 คัน ซึ่งจากการตรวจสอบ จำนวน 7,123 คัน เบื้องต้นพบว่าเข้าข่ายเป็นความผิด จำนวน 3,773 คัน ดังนี้

1. ความผิดตามมาตรา 27 และ/หรือ มาตรา 27 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 จำนวน 1,038 คัน ดำเนินการสืบสวนสอบสวนเป็นคดีพิเศษแล้ว จำนวน 25 คัน และอยู่ระหว่างการดำเนินการสืบสวนเพื่อพิจารณาเป็นคดีพิเศษอีก จำนวน 1,013 คัน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

    1.1 รถหรูที่มีมูลค่าเกินกว่า 4 ล้านบาท พบความผิด จำนวน 98 คัน เป็นคดีพิเศษแล้ว จำนวน 25 คัน และอยู่ระหว่างการพิจารณาเป็นคดีพิเศษ จำนวน 73 คัน ตามตารางที่แนบ

    1.2 รถที่มีมูลค่าไม่เกินกว่า 4 ล้านบาท พบความผิด จำนวน 940 คัน และอยู่ระหว่าง
การพิจารณาเป็นคดีพิเศษ

2. ความผิดตามมาตรา 6 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 จำนวน 2,735 คัน ซึ่งได้นำส่งข้อมูลรถจดประกอบให้กรมศุลกากรพิจารณาดำเนินการเรียกเก็บอากรโครงตัวถังและเครื่องยนต์
ที่นำเข้ามาจดประกอบเป็นรถยนต์ครบชุดสมบูรณ์ตามมาตรา ๖ แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร 
พ.ศ. 2530 แล้ว จำนวน 848 คัน และกรมศุลกากรได้ส่งผลการพิจารณาสำหรับรถยนต์ที่คณะกรรมการพิจารณาเรียกเก็บอากรอุปกรณ์ชิ้นส่วนที่นำเข้ามาประกอบเป็นรถยนต์ครบชุดสมบูรณ์ตามมาตรา 6 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 มีมติให้เรียกเก็บอากรโครงรถยนต์เก่าใช้แล้ว และเครื่องยนต์เก่าใช้แล้วในพิกัดอัตราศุลกากรในฐานะสิ่งที่สมบูรณ์แล้วนั้นกลับมาให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินคดีอาญา จำนวน 205 คัน และกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ออกเลขคดีพิเศษเพื่อดำเนินคดีกับกลุ่มผู้กระทำความผิดไปแล้ว จำนวน 27 คัน ทั้งนี้ คงเหลือข้อมูลรถจดประกอบที่ต้องนำส่งกรมศุลกากรพิจารณา จำนวน 1,887 คัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลข้อมูลหมายเลขตั้งต้นโครงตัวถังรถยนต์และหมายเลขเครื่องยนต์จากโรงงานผู้ผลิตจากต่างประเทศ

 

ทั้งนี้ คดีพิเศษ จำนวน 25 คัน ตามข้อ 1. มีผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องในการกระทำความผิด ประกอบด้วย

1. นิติบุคคล จำนวน 3 บริษัท

2. บุคคลธรรมดา ได้แก่ (1) นักการเมืองท้องถิ่น (2) ข้าราชการตำรวจ (3) เจ้าหน้าที่
กรมศุลกากร (4) อดีตเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบก (5) กลุ่มผู้นำเข้ารถจดประกอบ เจ้าของบริษัท และพนักงานบริษัท (6) คนยื่นขอจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก และได้มีการแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ต้องหาแล้ว

ผู้ครอบครองรถปัจจุบัน อย่าหลงเชื่อกลุ่มบุคคลที่แอบอ้างว่าสามารถตกลงกับเจ้าหน้าที่ไม่ให้มีการดำเนินคดี และไม่ต้องนำรถยนต์มาส่งมอบให้กับเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบรถยนต์ เพราะเบื้องต้นรถยนต์ที่ท่านได้ครอบครองไว้ตามรายการดังกล่าว จำนวน 73 คัน มีหลักฐานน่าเชื่อถือว่าอาจเข้าข่ายกระทำผิดตามกฎหมายทั้งนี้เพื่อประโยชน์ต่อผู้ครอบครองรถยนต์ดังกล่าว และเป็นการปกป้องสิทธิของผู้ที่จะครอบครองรถยนต์รายต่อไป จึงให้ท่านนำรถยนต์ที่ครอบครองมาส่งมอบให้กับเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ
ได้ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป โดยประสานงานได้ที่ นายนพดล รัตนเสถียร ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ เบอร์โทรศัพท์ 084-700-1741 สำนักงานรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล)

 

 

 

****************************************************************

 

Documents related

Lasted Post

Related Post