ดีเอสไอ จับกุมชาวอิหร่าน อยู่ไทยนาน 20 ปี ปลอมหนังสือเดินทาง เพื่อค้ามนุษย์ และ ลักลอบขนคนไปยังประเทศที่สาม

published: 18/3/2558 15:36:37 updated: 18/3/2558 15:36:37 1038 views   TH
 

 

 

          นางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มอบหมายให้ พันตำรวจเอกทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล ผู้บัญชาการสำนักกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ และ พันตำรวจโทเชน กาญจนาปัจจ์ รักษาการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ และศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมร้ายแรงและก่อการร้ายสากล ดำเนินการสืบสวน จับกุมผู้ต้องหาชาวอิหร่าน ตัวการรายใหญ่ของขบวนการค้าหนังสือเดินทางปลอมข้ามชาติ ที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ต้องหาคดีพิเศษ ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองไทยเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี ประกอบธุรกิจรับซื้อหนังสือเดินทางที่ถูกขโมยมาจากทั่วโลก และปลอมด้วยการลักลอบนำหนังสือเดินทางที่ถูกขโมยเข้ามาจำหน่าย หรือ นำหนังสือเดินทางไปปลอมเพื่อจำหน่ายต่ออีกทอดหนึ่งให้แก่ลูกค้าตามที่ต้องการ ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้จับกุมมาก่อนหน้านี้
 
          เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2558 เวลา 06.40 น. เจ้าหน้าที่ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมร้ายแรงและก่อการร้ายสากล สำนักกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ ร่วมกับส่วนปฏิบัติการพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้สนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบัญชาการตำรวจสันติบาล เข้าทำการตรวจค้นบ้านพักเลขที่ 62/69 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พร้อมจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญา คือ นายเอสราฟิล บอนดาร์ หรือ มูรัต กูเรลฯ ชาวอิหร่าน อายุ 45 ปี ในความผิดฐาน “ลักทรัพย์หรือรับของโจร เอาไปเสียซึ่งเอกสาร ใช้เอกสารปลอม และใช้หนังสือเดินทาง และแผ่นปะตรวจลงตรา (วีซ่า) ปลอม" พร้อมของกลาง สิ่งของที่อาจใช้ในการทำปลอมหนังสือเดินทางหลายรายการ อาทิ เครื่องตัดขอบการ์ด หลอดไฟแบ็คไลท์ แผ่นสติ๊กเกอร์วีซ่าเปล่า เอกสารแผ่นหน้าข้อมูลบุคคลของหนังสือเดินทาง และได้ตรวจยึดอุปกรณ์เก็บข้อมูลอิเลกทรอนิกส์ ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าภายในได้บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือเดินทางปลอม แผ่นหน้าข้อมูลบุคคลที่มีการเปรียบเทียบกับภาพถ่ายบุคคลหน้าตรง จำนวนมาก และไฟล์ข้อมูลภาพซึ่งถูกเก็บไว้ในโทรศัพท์สมาร์ทโฟนของผู้ต้องหา ข้อมูลรูปถ่ายบุคคลสำหรับใช้ติดในหนังสือเดินทาง ข้อมูลแผ่นปะตรวจลงตรา (วีซ่า)
 
         ต่อมา ในวันที่ 16 มีนาคม 2558 ได้มีการขยายผลผู้ต้องหาได้นำเจ้าหน้าที่ไปตรวจค้นห้องเช่าที่ ถนนสุขุมวิท ตำบลหนองปรือ เมืองพัทยา พบหนังสือเดินทางประเทศต่างๆ กว่า 60 ประเทศ รวมแล้ว 1,053 เล่ม ถูกเก็บไว้ในห้องเช่าดังกล่าว และยังพบรอยตราประทับ บัตรประจำตัวประชาชน ใบอนุญาตขับขี่ และแผ่นหน้าข้อมูลบุคคลหนังสือเดินทางของประเทศต่างๆ รวมทั้งบัญชีเงินฝากธนาคาร และเอกสารประเภทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทางคดีซึ่งจากหลักฐานดังกล่าว เชื่อว่ามีการลักลอบจำหน่ายหนังสือเดินทาง และเอกสารปลอมมาตลอดระยะเวลาหลายปี ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการตรวจสอบของกลางจำนวนมาก 
 
          ที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ติดตามสืบสวนติดตามขบวนการดังกล่าวมาเป็นเวลานาน พบว่า นายปาคเนจัด ซีเยส รามิน ชาวอิหร่านผู้ต้องหาในคดีพิเศษ เกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบค้าหนังสือเดินทางปลอมให้แก่ผู้ที่ต้องการเข้าประเทศที่สาม เป็นขบวนการลักลอบส่งคนเข้าประเทศที่สามและการค้ามนุษย์รายใหญ่ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ผ่านไทยไปยังสหภาพยุโรป ทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม ได้ดำเนินการเฝ้าระวัง ติดตาม และป้องกันขบวนการค้าหนังสือเดินทางปลอมเครือข่ายข้ามชาติอย่างต่อเนื่อง โดยพฤติการณ์ของกลุ่มบุคคลดังกล่าว 
 
          ที่ผลิต นำเข้า-ส่งออก เอกสารสำคัญ และหนังสือเดินทางที่ได้จากการโจรกรรมทั่วโลก ขายให้แก่กลุ่มอาชญากรเพื่อกระทำความผิดอาชญากรรมข้ามชาติ หรือ ใช้เป็นประเทศทางผ่าน ที่พำนัก จัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ ขบวนการค้ามนุษย์ (Human Trafficking) ขบวนการลักลอบขนคนเข้าประเทศ (People Smuggling) ขบวนการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานโดยผิดกฎหมาย (Illegal Migrant) ขบวนการก่อการร้าย (Terrorism) 
การฉ้อโกงข้ามชาติ (Boiler Room) การฟอกเงิน (Money Laundering) หรืออาชญากรรมร้ายแรงอื่นๆ (Serious Crime) รวมถึงอาชญากรรมฉ้อโกงปลอมตั๋วเงินและเช็คธนาคารระหว่างประเทศไทยกับสถาบันการเงินและธนาคารในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคยุโรป โดยใช้หนังสือเดินทางปลอมและเอกสารปลอมปกปิดอำพรางตัว โอนเงินข้ามชาติ อันเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศไทยและนานาประเทศ โดยได้สืบสวนสอบสวนดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ที่กระทำความผิดชาวต่างชาติ ในลักษณะดังกล่าวมาแล้วหลายกลุ่ม คือ
 
- กลุ่มของนางหยู๋ ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกเป็นเวลา 2 ปี
 
- กลุ่มของนายกิยานี่ และพวก รวม 5 คน ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกเป็นเวลา 12 ปี
 
- กลุ่มของนายโทนี่ และพวก รวม 4 คน ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกทั้งสิ้น 31 ปี
 
- กลุ่มของนายรามิน ซึ่งได้ยื่นขอประกันตัวต่อศาลจังหวัดพัทยา แล้วได้หลบหนีประกันชั้นศาล ปัจจุบันจับกุมนายรามินได้ที่ประเทศมาเลเซีย และอยู่ระหว่างดำเนินการร่วมกับพนักงานอัยการฝ่ายต่างประเทศ ขอให้ทางการมาเลเซียส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน กลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน
 
- กลุ่มของนายชาฮซาด นาซีร บัตต์ ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 16 ปี 6 เดือน
 
         พฤติการณ์ของกลุ่มอาชญากรรมเหล่านี้ จะมีการใช้คนไทยเป็นตัวกลางทำหน้าที่รับ-ส่งเอกสารสำคัญ ทำธุรกรรม เปิดบริษัทหรือทำธุรกิจต่างๆ บังหน้า เพื่อแฝงตัวในการกระทำความผิดดังกล่าว ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ จักได้เร่งดำเนินการสืบสวน สอบสวน จับกุมผู้กระทำความผิด และ กลุ่มองค์กรอาชญากรรม ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษจะได้ประสานงานกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต่างประเทศและสถานทูตเพื่อสืบสวนขยายผลต่อไป