ดีเอสไอ บุกค้นเป้าหมายสถานที่พักของ สมาชิกระดับแกนนำของกลุ่มขบวนการแชร์ลูกโซ่หลอกลวงให้ลงทุนในทองคำ(เพกาซัส) ในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

published: 10/15/2015 3:33:41 PM updated: 10/15/2015 3:33:41 PM 1396 views   TH
 

 

ดีเอสไอ บุกค้นเป้าหมายสถานที่พักของสมาชิกระดับแกนนำของกลุ่มขบวนการแชร์ลูกโซ่หลอกลวงให้ลงทุนในทองคำ(เพกาซัส) ในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
 
 
 
          สืบเนื่องจาก กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับ กรณีกลุ่มบุคคลทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ อ้างว่า บริษัท พีเอ็มบี เพกาซัส (ไทยแลนด์) จำกัด และ Pegasus Bullion Limited เชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปลงทุนในทองคำ โดยจะให้ผลตอบแทนในอัตราร้อยละ ๑๐ ต่อเดือน (ร้อยละ ๑๒๐ ต่อปี) เป็นคดีพิเศษที่ ๑๒๕/๒๕๕๘ เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๘
 
 
          วันนี้ (พฤหัสบดีที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๘) เวลา ๐๙.๐๐ น. นายกอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรมรักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้สั่งการให้ พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ ๑ นำคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ ๑๒๕/๒๕๕๘ เข้าตรวจค้นเป้าหมายสถานที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อรวบรวมพยานหลักฐาน โดยพันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล พร้อมเจ้าหน้าที่นำกำลังพร้อมหมายค้นของศาลอาญาเข้าทำการตรวจค้นบ้านเลขที่ ๑๓๓/๖ หมู่ที่ ๑ ตำบลน้ำน้อย อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นบ้านพักของ นางศุทธา หน่อสกุลคม สมาชิกระดับแกนนำของกลุ่มขบวนการแชร์ลูกโซ่หลอกลวงให้ประชาชนทั่วไปลงทุนในทองคำกับบริษัทพีเอ็มบี เพกาซัส (ไทยแลนด์) จำกัด และ Pegasus Bullion Limited ผลการตรวจค้นปรากฏพบทรัพย์สินจำนวนมาก อาทิ โฉนดที่ดิน เงินสด เพชร ทองคำ และเครื่องประดับมีค่า รถยนต์แฮลิเออร์ จำนวน ๑ คัน สมุดบัญชีเงินฝากของเจาของบ้านเป้าหมาย จำนวนกว่า ๖๐ บัญชีมียอดหมุนเวียนรวมประมาณ ๑๕ ล้านบาท โดยทรัพย์สินที่ยึดอายัดในครั้งนี้ คาดว่าอาจมีความเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในจังหวัดสงขลาประมาณ ๑๐ ล้านบาท ในเบื้องต้นนางศุทธายอมรับว่าเป็นแม่ข่ายที่เชิญชวนให้ประชาชนมาลงทุนในธุรกิจแชร์ทองคำจริง
 
          พฤติกรรมของกลุ่มขบวนการดังกล่าวคือ กลุ่มของนางศุทธา หน่อสกูลคม กับพวก ได้ร่วมกับชาวต่างชาติ ร่วมกันกระทำการอย่างเป็นขั้นตอน เป็นขบวนการ โดยแบ่งหน้าที่กันทำ ดำเนินการเตรียมการวางแผนเปิดบริษัทไทยให้มีชื่อคล้องหรือคล้ายกับบริษัทที่ตั้งอยู่ต่างประเทศโดยการจัดตั้งบริษัทในไทยนั้นได้มีการว่าจ้างให้คนไทยเป็นผู้จดทะเบียนจัดตั้งและเป็นผู้มีอำนาจลงนาม
ในบริษัท ทั้งที่ผู้มีชื่อไม่ทราบว่าบริษัทดำเนินกิจการอย่างไร และมีการวางแผนชักชวนให้บุคคลทั่วไปเข้าร่วมลงทุนในการซื้อขายทองคำในลักษณะเก็งกำไรและราคาโดยให้ผลตอบแทนเกินอัตราตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งการหลอกลวงนั้นเพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อถือและหลงเข้าร่วมลงทุน กลุ่มผู้กระทำผิดจึงได้จัดทำเว็บไซต์ มีการจัดประชุมแสดงภาพความสำเร็จมีการขึ้นกล่าวจูงใจให้ผู้ร่วมลงทุนเกิดความเชื่อมั่น ทำให้ผู้เสียหายลงทุนแบบไม่ถอนทุนและผลตอบแทนระหว่างลงทุนจากนั้นกลุ่มผู้กระทำผิดได้หยุดจ่ายผลตอบแทนและให้เหตุผลกับผู้เสียหายว่าความขัดข้องของบริษัทที่ตั้งอญู่ต่างประเทศแต่ในความเป็นจริง การก่อตั้งบริษัทขึ้นมาเป็นการก่อตั้งโดยกลุ่มผู้กระทำผิดเองมาแต่ต้น
 
          อันเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่ากลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการหลอกลวงประชาชนให้ร่วมลงทุนอันเข้าลักษณะของการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน
 
          อนึ่ง จากการสืบสวนสอบสวนพบว่ามีจำนวนผู้เสียหายที่หลงเชื่อไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า
๕๐๐ ล้านบาท ซึ่งนอกจากพื้นที่ในภาคใต้แล้วยังมีประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตกเป็นผู้เสียหายอีกจำนวนมาก ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษจะได้เร่งดำเนินการนำตัวผู้กระทำความผิดมาฟ้องลงโทษและทำการตรวจสอบอายัดทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดต่อไป 
 
 ……………………………………………………