ดีเอสไอ บุกจับแหล่งผลิต แหล่งเก็บ และจำหน่ายสินค้าประเภทอุปกรณ์ประดับยนต์ โทรศัพท์มือถือ กระเป๋า นาฬิกา ฯลฯ ปลอมเครื่องหมายการค้ายี่ห้อดัง
published: 3/14/2016 4:24:14 PM updated: 3/14/2016 4:24:14 PM 1106 views THตามนโยบายการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของกรมสอบสวนคดีพิเศษที่เน้นการจับกุมแหล่งผลิต แหล่งเก็บสินค้า แหล่งจำหน่าย และผู้กระทำผิดที่เป็นตัวการรายใหญ่ รวมทั้งการละเมิดบนอินเตอร์เน็ต ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการค้าการลงทุนของประเทศ ประกอบกับประเทศไทยถูกสำนักงานผู้แทนการค้าของสหรัฐอเมริกาจัดลำดับสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้อยู่ในบัญชีประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) และรัฐบาลมีนโยบายเร่งรัดการดำเนินการให้ไทยหลุดจากบัญชีดังกล่าวนั้น
พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ขานรับนโยบายดังกล่าวของรัฐบาลโดยให้ความสำคัญกับการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีผลการตรวจค้นจับกุมของสำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา ภายใต้การอำนวยการของ พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และ พ.อ.พินิจ ตั้งสกุล ผู้บัญชาการสำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา ดังนี้
1. เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2559 เวลาประมาณ 13.30 น. เจ้าหน้าที่สำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา นำโดย พ.ต.ท.นิรุติ พัฒนรัฐ ผู้อำนวยการส่วนคดีทรัพย์สินทางปัญญา 3 ได้นำหมายค้นของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เข้าตรวจค้นโรงงานผลิต ที่เก็บสินค้า และร้านจำหน่ายสินค้าประเภทอะไหล่และอุปกรณ์ประดับยนต์ปลอมเครื่องหมายการค้ารวม 8 จุด ในพื้นที่ เขตปทุมวัน เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร และที่จังหวัดปทุมธานี ผลการตรวจค้นพบอุปกรณ์ประดับยนต์ เช่น กาบบันได กาบเสาประตู พวงกุญแจ ปลอกหุ้มกุญแจ กรอบป้ายทะเบียน ปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้า MERCEDES BENZ, BMW, VOLVO, FORD ฯลฯ รวมจำนวน 4,048 ชิ้น มูลค่าของกลางประมาณ 10 ล้านบาท จึงได้ยึดเป็นของกลางและจับกุมเจ้าของเป็นผู้ต้องหา 2 ราย ดำเนินคดีในข้อหาปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้า และมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.๒๕๓๔
2. เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2559 เวลาประมาณ 14.00 น. เจ้าหน้าที่สำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา ร่วมกับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพิเศษ ได้นำหมายค้นของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เข้าทำการตรวจค้นแหล่งจำหน่ายและเก็บสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ดังนี้
1) ร.ต.อ.พลสัณห์ เทิดสงวน ผู้อำนวยการส่วนคดีทรัพย์สินทางปัญญา 1 ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นแหล่งจำหน่ายสินค้าปลอมเครื่องหมายการค้าประเภทโทรศัพท์มือถือย่านศูนย์การค้า อินทราสแควร์ รวม 8 จุด ผลการตรวจค้นพบโทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์โทรศัพท์ เช่น แบตเตอรี่ หูฟัง ลำโพง เพาเวอร์แบงค์ ฯลฯ ปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าซัมซุง แอปเปิ้ล และบีตส์ นอกจากนั้น ยังพบกล้องถ่ายรูปปลอมเครื่องหมายการค้าโซนี่ และนาฬิกาที่ปลอมเครื่องหมายการค้าโรเล็กซ์ แท็คฮอยเออร์ ราโด และอื่นๆ อีกจำนวนมาก รวมจำนวนทั้งสิ้น 9,428 ชิ้น มูลค่าของกลางประมาณ 5 ล้านบาท จึงได้ยึดเป็นของกลางและจับกุมเจ้าของเป็นผู้ต้องหาจำนวน 2 ราย ดำเนินคดีในข้อหาเสนอจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534
2) พ.ต.ท.ธนวัฒน์ วงศ์อนันต์ชัย ผู้อำนวยการส่วนคดีทรัพย์สินทางปัญญา 2 ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นแหล่งเก็บสินค้าและจำหน่ายสินค้าปลอมเครื่องหมายการค้าประเภท กระเป๋า ย่านถนนสามัคคี และถนนพหลโยธิน รวม 2 จุด ผลการตรวจค้นพบกระเป๋าถือ กระเป๋าสตางค์ ต่างหู เข็มกลัด รองเท้า นาฬิกา ฯลฯ ปลอมเครื่องหมายการค้าชาแนล แอร์เมส พราด้า คริสเตียนดิออร์ หลุยส์วีตตอง โรเล็กซ์ ปาเต็กฟิลิปส์ ฯลฯ รวมจำนวน 2,005 ชิ้น มูลค่าของกลางประมาณ 5 ล้านบาท จึงได้ยึดเป็นของกลางและจับกุมเจ้าของเป็นผู้ต้องหา 1 ราย ดำเนินคดีในข้อหา เสนอจำหน่าย และมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ซึ่งสินค้าดังกล่าวนอกจากผู้ต้องหาจะวางจำหน่ายที่ร้านย่านถนนพหลโยธินแล้ว ยังมีการเสนอจำหน่ายผ่านทางสื่อออนไลน์ อาทิ อินสตาแกรม เฟสบุค ไลน์ โดยใช้ชื่อของตนเองและผู้อี่นเพื่อการค้า มีการจำหน่ายทั้งปลีกและส่งทั่วประเทศในราคาค่อนข้างสูง และรับสมัครตัวแทนจำหน่ายด้วย โดยในแต่ละวันจะส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าทางไปรษณีย์เป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ ดีเอสไอ จะดำเนินการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยเฉพาะสินค้าประเภทอุปโภคและบริโภคปลอม อันอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชนผู้บริโภค เช่น ยา เครื่องสำอาง อะไหล่รถยนต์ น้ำปลา กาแฟผงสำเร็จรูป ฯลฯ รวมทั้งการจำหน่ายสินค้าปลอมดังกล่าวบนอินเทอร์เน็ตอย่างจริงจังและเข้มงวดต่อไป