“ดีเอสไอ” บุกทลายโกดังเก็บสินค้าประเภทโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ปลอมเครื่องหมายการค้ายี่ห้อดัง ย่านถนนเสือป่า มูลค่ากว่า 10 ล้านบาท
published: 7/10/2559 16:08:47 updated: 7/10/2559 16:08:47 1507 views TH“ดีเอสไอ” บุกทลายโกดังเก็บสินค้าประเภทโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ปลอมเครื่องหมายการค้ายี่ห้อดัง ย่านถนนเสือป่า มูลค่ากว่า 10 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2559 เวลาประมาณ 10.00 น. เจ้าหน้าที่ของสำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญาและสำนักปฏิบัติการพิเศษ โดยการนำของ พันเอก พินิจ ตั้งสกุล ผู้บัญชาการสำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา และ พันตำรวจโท นิรุติ พัฒนรัฐ ผู้อำนวยการส่วนคดีทรัพย์สินทางปัญญา 3 ได้นำหมายค้นของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เข้าทำการตรวจค้นอาคารแกรนด์เสือป่า ถนนเสือป่า เลขที่ 149 ถนนเสือป่า แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีการแบ่งเป็นห้องเพื่อให้ผู้ค้าใช้เป็นแหล่งเก็บสินค้าประเภทโทรศัพท์มือถือปลอมเครื่องหมายการค้า โดยได้เข้าทำการตรวจค้นห้องเก็บสินค้าภายในอาคาร และจับกุมนางเสียนเอี้ยน เฉิน อายุ 44 ปี เชื้อชาติจีน สัญชาติไทย เป็นผู้ต้องหา พร้อมด้วยของกลาง โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ เช่น แบตเตอรี่โทรศัพท์ แบตเตอรี่สำรอง (POWER BANK) เครื่องชาร์ตแบตเตอรี่ ลำโพง หูฟัง ฯลฯ ปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้า ยี่ห้อ APPLE, SAMSUNG, BEATS, BOSE จำนวนมากกว่า 20,000 ชิ้น รวมมูลค่ามากกว่า 10 ล้านบาท นำส่งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ
เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยกล่าวหาว่า มีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร, เอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์หรือข้อความใด ๆ ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้ หรือทำให้ปรากฏที่สินค้า หีบ ห่อ วัตถุที่ใช้หุ้มห่อ ให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของผู้อื่นนั้น และรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่ยังมิได้เสียค่าภาษีหรือของต้องจำกัด หรือของต้องห้าม หรือที่เข้ามาในราชอาณาจักร โดยยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องก็ดี หรือเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวแก่ของนั้น และสำนัก
คดีทรัพย์สินทางปัญญาจะได้ดำเนินการจับกุมผู้ต้องหารายอื่น ๆ มาดำเนินคดีต่อไป
จากการตรวจสอบในเบื้องต้น ตัวแทนผู้เสียหายแจ้งว่า สินค้าของกลางที่ทำการยึดมาดังกล่าวเป็นสินค้าที่ไม่มีคุณภาพและไม่ได้มาตรฐานในการผลิต ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้ที่นำไปใช้งานได้
อนึ่ง การจับกุมปราบปรามสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ดังกล่าว เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและกรมสอบสวนคดีพิเศษที่เน้นการปราบปรามในพื้นที่ที่มีการละเมิดสูง มีลักษณะเป็นแหล่งผลิต แหล่งเก็บ แหล่งจำหน่ายโดยผู้กระทำผิดเป็นตัวการรายใหญ่ เนื่องจากปัญหาการละเมิดดังกล่าวทำให้ประเทศไทยถูกสหรัฐอเมริกาประเมินสถานะการคุ้มครองการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการค้าการลงทุนของประเทศเป็นอย่างมาก และรัฐบาลมีนโยบายเร่งรัดการดำเนินการป้องกันและปราบปรามเพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากบัญชีดังกล่าวโดยเร็ว
****************************************************************