สรุปผลการประชุม ศอ.รส. เมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๗
published: 4/4/2014 1:16:06 PM updated: 4/4/2014 1:16:06 PM 996 views THสรุปผลการประชุม ศอ.รส. เมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๗
ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ ศอ.รส. มีผลการประชุมสมควรแจ้งให้พี่น้องประชาชนทราบ ดังนี้
เรื่องที่ ๑ ตามที่กลุ่ม กปปส. และกลุ่ม นปช. ได้ประกาศว่าจะมีการชุมนุมใหญ่ในวันพรุ่งนี้ คือวันที่ ๕ เมษายนนั้น เพื่อให้การชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อยและป้องกันเหตุแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ศอ.รส. ได้มอบหมายให้ พล.ต.อ. วรพงษ์ ชิวปรีชา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศอ.รส. เป็นผู้รับผิดชอบในการประชุมเพื่อวางกรอบและแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัย โดยในส่วนของกลุ่ม กปปส. จะใช้อัตรากำลังเจ้าหน้าที่ตามเดิมที่ปฏิบัติงานอยู่ ส่วนการชุมนุมของกลุ่ม นปช. จะมีการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อดูแลการชุมนุม โดยจะใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร จำนวนทั้งสิ้น ๑๙ กองร้อย หรือกว่า ๓,๐๐๐ นาย บูรณาการร่วมกันในการตั้งด่านตรวจคัดกรองบุคคล ยานพาหนะ และอาวุธต่างๆ และยังมีการจัดสายตรวจผสมตำรวจและทหาร เพื่อออกตรวจตราในพื้นที่ ๓ เขต ได้แก่ พุทธมณฑลสายสาม พุทธมณฑลสายสี่ และทวีวัฒนา นอกจากนี้ ศอ.รส. ยังได้จัดชุดปฏิบัติการมวลชนเพื่อให้บริการด้านข้อมูลและการแพทย์ รวมทั้งชุดเคลื่อนที่เร็วสำหรับแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้วย ศอ.รส. จึงขอเรียกร้องให้พี่น้องประชาชนงดเว้นการเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มใดๆ เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเอง และขอเรียกร้องให้แกนนำทั้งสองฝ่ายจัดการชุมนุมโดยสงบ และไม่ยั่วยุมวลชนให้เกิดการเผชิญหน้ากัน
เรื่องที่ ๒ ในวันนี้ ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ได้ชี้แจงเกี่ยวกับความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศอันเป็นผลมาจากการชุมนุมทางการเมืองของ กปปส. และกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะการชุมนุมปิดกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โดย สศช. ได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จากเดิมร้อยละ ๔.๐-๕.๐ เป็นร้อยละ ๓.๐-๔.๐ ซึ่งมีปัจจัยมาจากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักธุรกิจที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ลดลง และการชะลอการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนและการชะลอการลงทุนของภาคธุรกิจ อันเนื่องมาจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองและความไม่มั่นใจในเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ การประมาณการนี้สอดคล้องกับการคาดการณ์ของหน่วยงานเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือ ADB และศูนย์วิจัยกสิกรไทยฯ เป็นต้น ซึ่งล้วนปรับลดประมาณการทางเศรษฐกิจของไทยลงเหลือไม่ถึงร้อยละ ๓ นอกจากนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังระบุว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ ๖๘.๘ ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ ๑๔๙ เดือนนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๔ เป็นต้นมา เนื่องจากผู้บริโภคยังไม่มั่นใจในสถานการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทยในอนาคต และล่าสุดบริษัท Japan Credit Rating Agency หรือ JCR ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือของญี่ปุ่น ได้ปรับแนวโน้มความน่าเชื่อถือของประเทศไทยเป็นลบ เนื่องจากปัจจัยความวุ่นวายทางการเมืองที่ยืดเยื้อซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น ศอ.รส. จึงมีความกังวลว่า หากการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. และกลุ่มอื่นๆ ยังยืดเยื้อต่อไป และวิกฤติการณ์ของความขัดแย้งยังไม่ยุติ ก็มีแนวโน้มว่าประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยก็อาจลดต่ำลงจนถึงระดับติดลบได้ ศอ.รส. เห็นว่า ความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เนื่องจากส่งผลกระทบต่อประเทศและประชาชนในวงกว้าง ดังนั้น ศอ.รส. จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมกันแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ
จึงประกาศมาเพื่อทราบทั่วกัน