อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ แถลงข่าวการจับกุมนายหน้าค้ามนุษย์รายใหญ่หลอกลวงคนไทยทำงานอินโดนีเซีย

published: 7/1/2015 12:46:44 PM updated: 7/1/2015 12:46:44 PM 914 views   TH
 


นาง สุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วย พ.ต.อ.ทรงศักดิ์  รักศักดิ์สกุล  รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ

พ.ต.ท.ไพศิษฎ์ สังคหะพงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ และพ.ต.ท.คมวิชช์  พัฒนรัฐ ผู้อำนวยการส่วนป้องกันและปราบปราม 1 ร่วมแถลงข่าวการจับกุมนายหน้าค้ามนุษย์รายใหญ่ จำนวน 2 ราย ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น G กรมสอบสวนคดีพิเศษ

ตามที่ องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) และสื่อมวลชนกลุ่มหนึ่งได้ให้ข้อมูลกับ DSI ว่ามีคนไทยจำนวนมากถูกหลอกลวง บังคับให้ไปทำงานในเรือประมงบริเวณเกาะอัมบน สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และส่วนหนึ่งได้หลบหนีไปพำนักอยู่บนเกาะอัมบนดังกล่าว ซึ่งต่อมารัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือในการนำคนไทยเหล่านี้เดินทางกลับมายังประเทศไทย ซึ่ง DSI ได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนเป็นคดีพิเศษ จำนวน 4 คดี เนื่องจากเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระ รวมทั้งกลุ่มผู้เสียหาย
กลุ่มผู้กระทำความผิดต่างกัน และได้มีผลการจับกุมผู้กระทำความผิดแล้วสรุปสำนวนเสนออัยการสูงสุดไปส่วนหนึ่งแล้ว

เนื่องจากคดีการค้ามนุษย์ในรูปแบบการบังคับใช้แรงงานในเรือประมง เป็นคดีสำคัญ
ที่มีผลกระทบต่อภาพพจน์ของประเทศไทยในเวทีนานาชาติ นางสุวณา  สุวรรณจูฑะ อฺธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงได้กำชับให้ศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เร่งรัดติดตามจับกุมผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยในคดีพิเศษที่ 12/2558 นี้ พนักงานสอบสวน
คดีพิเศษได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนมาโดยตลอด พบข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มขบวนการนายหน้าและผู้เกี่ยวข้องอื่นๆในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร และได้ตรวจพบสถานที่ที่เกิดเหตุในคดีพิเศษนี้ทั้งหมดแล้ว
จึงได้ร้องขอต่อศาลเพื่อออกหมายจับผู้ต้องจำนวน 6 ราย โดยมีตัวการสำคัญ 2 รายคือ นายชยุตพงศ์ หรือ ป้อม เจริญพร และนายสำรวย หรือ อ้วน ฉัตรกรด 
ที่มีข้อมูลจากการสืบสวนมาโดยตลอด

จนทราบว่าเป็นตัวการใหญ่ที่สั่งการให้กลุ่มนายหน้าเถื่อนที่อยู่ตามสถานีรถไฟ สถานีขนส่ง สวนสาธารณะ หลอกลวงผู้เสียหายจากสถานที่ต่าง ๆ ดังกล่าว แล้วส่งมาขายให้บุคคลทั้งสองนำตัวแรงงานที่ถูกหลอกลวงมาไปควบคุมตัวไว้บริเวณบ่อกุ้งแห่งหนึ่ง ก่อนที่จะติดต่อกับเจ้าของเรือประมง เพื่อนำแรงงานที่ถูกหลอกลวงเหล่านี้ ไปขายในราคาประมาณคนละ 30,000 บาท เพื่อให้ทำงาน
ในเรือประมงที่บริเวณเกาะอัมบน สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยคดีนี้มีผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จำนวน 7 คน

จนเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ สามารถติดตามจับกุมตัวนายชยุตพงศ์ฯ ซึ่งได้หลบหนีไปกบดานที่จังหวัดชลบุรีมาได้ และขยายผลไปจับกุม นายสำรวยฯ ที่จังหวัดสมุทรสาคร โดยแจ้งข้อกล่าวหากับทั้งสองคนว่า กระทำความผิดฐาน“สมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์โดยแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ด้วยการบังคับใช้แรงงานประมง , ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพ
ในร่างกาย และให้ผู้อื่นนั้นกระทำการใดให้แก่ผู้กระทำหรือบุคคลอื่น จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำ ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 4 , 6 , 7 , 9 , 10 , 52 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และมาตรา 310 ทวิ และ 312 ทวิ (1) และฐานหลอกลวงคนไปทำงานต่างประเทศ ตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 91 ตรี ในเบื้องต้นนายชยุตพงศ์ฯ และนายสำรวยฯ ได้ให้การรับสารภาพในข้อหาร่วมกัน
ค้ามนุษย์ และคดีพิเศษนี้อยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนขยายผลเพิ่มเติมและติดตามจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับที่ยังหลบหนีอยู่