อย่างไรถึงจะเรียกว่าฮั้วประมูล ?

published: 29/10/2556 12:08:47 updated: 29/10/2556 12:08:47 56504 views   TH
 

อย่างไรถึงจะเรียกว่าฮั้วประมูล ?

 

ก่อนอื่น ขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “ฮั้ว” เสียก่อน  ตามพจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ คำว่า “ฮั้ว” หมายถึง รวมหัวกัน ร่วมกันกระทำการ สมยอมกันในการเสนอราคาเพื่อมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม  หรือ เพื่อให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น การฮั้ว คือ การตกลงกันที่จะไม่มีการแข่งขันในการประกวดราคาประมูลงานระหว่างพ่อค้าโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้ราคาที่ตกลงกันและมีการแบ่งผลประโยชน์กัน

ตัวอย่างเช่น

ในการประกวดราคาก่อสร้างอาคารของส่วนราชการแห่งหนึ่ง มีผู้ซื้อซองประกวดราคาเพื่อเข้าสู้ราคากันรวมจำนวน ๑๐ ราย หากทั้ง ๑๐ รายต่างก็แข่งกันเสนอราคาอย่างอิสระเสรี  ผลการประกวดราคาก็จะได้แก่ผู้ที่เสนอราคาต่ำสุด  ซึ่งประโยชน์จะตกได้แก่รัฐที่สามารถประหยัดงบประมาณได้  แต่หากมีการ “ฮั้ว” กัน  โดยพ่อค้าทั้ง ๑๐ ราย ประชุมตกลงกันว่าจะให้พ่อค้ารายหนึ่งได้งานชิ้นนี้  โดยพ่อค้ารายอื่นจะเสนอราคาที่สูงกว่า  และพ่อค้าที่ได้งานตกลงที่จะจ่ายค่าตอบแทนให้แก่พ่อค้ารายอื่นที่เข้าร่วมยื่นซองประกวดราคาด้วย

ผลของการฮั้วหรือตกลงกันในการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ คือ การที่รัฐได้รับความเสียหาย เช่น ทำให้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น เพราะหากให้มีการแข่งขันกันอย่างเสรี  ผู้ที่เสนอราคาต่ำจะเป็นผู้ที่ได้งานไป  แต่การฮั้ว  ราคาที่เสนอไม่ใช่ราคาที่ต่ำสุดที่สามารถดำเนินงานตามประสงค์ได้  หรืองานที่ประมูลได้ไปเนื่องจากการฮั้ว  ค่าจ้างส่วนหนึ่งต้องนำจ่ายตามข้อตกลงฮั้วทำให้ผู้ได้รับงานจำเป็นต้องลดมาตรฐานของสิ่งก่อสร้างเพื่อประหยัดต้นทุน  ทำให้งานต่างๆของรัฐที่เกิดจากการประมูลที่มีการฮั้วไม่มีคุณภาพ

นอกจากนี้การฮั้วในการประมูลงานยังเป็นการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการประมูลแสวงหาประโยชน์ที่มิชอบจากผู้ประมูลได้ จากการดำเนินการจัดซื้อสินค้าและบริการของหน่วยงานของรัฐที่ผ่านมาได้มีการกระทำในลักษณะเป็นการสมยอมในการเสนอราคาและมีพฤติการณ์ต่างๆอันทำให้มิได้มีการแข่งขันกันเสนอประโยชน์สูงสุดให้แก่หน่วยงานของรัฐอย่างแท้จริงและเกิดผลเสียหายก่อประเทศชาติ  นอกจากนี้ ในบางกรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐก็มีส่วนร่วมหรือมีส่วนสนับสนุนในการทำความผิด  หรือละเว้นไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่  อันมีผลทำให้ปัญหาในการเรื่องนี้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในลักษณะดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ  รัฐจึงจำเป็นต้องมีมาตรการผ่านกฏหมายที่เรียกว่า “พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.๒๕๔๒” ขึ้น  ซึ่งกฎหมายดังกล่าวมีเจตนารมณ์หรือเหตุผลในการประกาศใช้คือ เพื่อกำกับดูแลให้การจัดหาสินค้าและบริการ ไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อหรือการจัดจ้าง หรือวิธีอื่นใดของหน่วยงานของรัฐทุกแห่ง ซึ่งเป็นการดำเนินการโดยใช้งบประมาณ  เงินกู้  เงินช่วยเหลือหรือรายได้ของหน่วยงานของรัฐ  ซึ่งเป็นเงินของแผ่นดิน  รวมทั้งการที่รัฐให้สิทธิในการดำเนินกิจการบางอย่างโดยการให้สัมปทานอนุญาตหรือกรณีอื่นใดในลักษณะเดียวกันก็เป็นการดำเนินการเพื่อให้ประโยชน์สาธารณะอันเป็นกิจการของรัฐ  กระทำอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรรม  และมีการแข่งขันกันอย่างเสรีเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่รัฐ พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกันการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.๒๕๔๒  หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “กฏหมายฮั้ว”  เป็นกฎหมายอาญาที่มุ่งจะทำให้การจัดหาสินค้าหรือบริการของหน่วยงานของรัฐทุกแห่งที่ใช้เงินงบประมาณเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมและมีการแข่งขันกันอย่างเสรีเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่รัฐ  โดยบุคคลที่จะเกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับนี้ได้แก่คน ๓ กลุ่ม ต่อไปนี้ คือ

กลุ่มแรก

  ผู้ที่ประสงค์จะเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ  ไม่ว่าจะเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง  ผู้ขายสินค้า  ผู้ขายบริการ  ผู้รับสัมปทาน เป็นต้น หรืออาจเรียกว่า เป็นการกระทำผิดอาญาที่เอกชนเป็นผู้กระทำความผิด

กลุ่มที่สอง

เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการเสนอราคา หรืออาจเรียกว่า เป็นการกระทำผิดที่เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐเป็นผู้กระทำ

กลุ่มที่สาม

ผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง เป็นผู้กระทำความผิด จากทั้งสามกลุ่มดังกล่าว  ขอแยกการกระทำความผิดที่บัญญัติในกฎหมายฮั้วและยกตัวอย่างเพื่อเพื่อให้เกิดความเข้าใจ ดังนี้

๑.ความผิดอาญาที่เอกชนเป็นผู้กระทำ

๑.๑ ความผิดฐานตกลงร่วมกันในระหว่างผู้เข้าเสนอราคาโดยทุจริต (มาตรา ๔)

ผู้ใดตกลงร่วมกันในการเสนอราคา เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะให้ประโยชน์แก่ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ

  • โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม หรือ
  • โดยการกีดกันมิให้มีการเสนอสินค้าหรือบริการอื่นต่อหน่วยงานของรัฐ หรือ
  • โดยเอาเปรียบแก่หน่วยงานของรัฐอันมิใช่เป็นไปในทางการประกอบธุรกิจปกติ

ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสามปีและปรับร้อยละห้าสิบของจำนวนเงินที่มีการเสนอ ราคาสูงสุดในระหว่างผู้ร่วมกระทำความผิดนั้น หรือของจำนวนเงินที่มีการทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐแล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ผู้ใดเป็นธุระในการชักชวนให้ผู้อื่นร่วมตกลงกันในการกระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง ผู้นั้นต้องระวางโทษตามวรรคหนึ่ง

ยกตัวอย่างเช่น

ในการประมูลงานของ อ.บ.ต.แห่งหนึ่ง มีผู้ประสงค์จะเข้าเสนอราคาจำนวน ๔ คน คือ นายหนึ่ง นายสอง นายสาม นายสี่ และทั้ง ๔ คนได้ตกลงกันว่าให้นายหนึ่งเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด โดยนายสอง นายสาม นายสี่ จะเข้าเสนอราคาด้วยแต่จะเสนอในราคาที่สูงกว่าที่นายหนึ่งเสนอ เพื่อให้นายหนึ่งเป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับ อ.บ.ต. โดยนายหนึ่งตกลงจะจ่ายค่าตอบแทนให้คนละ ๑ ล้านบาท การกระทำของทั้ง ๔ ถือเป็นกาหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม มีความผิดตามมาตรา ๔ แล้ว

๑.๒  ความผิดอาญาฐานให้เงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเพื่อจูงใจให้ร่วมเสนอราคาโดยทุจริต(มาตรา ๕)

ผู้ใด ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้เงินหรือทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด แก่ผู้อื่น

  • เพื่อประโยชน์ในการเสนอราคาโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะจูงใจให้ร่วมดำเนินการใดๆ อันเป็นการให้ประโยชน์แก่ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ หรือ
  • เพื่อจูงใจให้ผู้นั้นทำการเสนอราคาสูงหรือต่ำจนเห็นได้ว่าไม่เป็นไปตามลักษณะสินค้า บริการ หรือสิทธิที่จะได้รับ หรือ
  • เพื่อจูงใจให้ผู้นั้น ไม่เข้าร่วมในการเสนอราคาหรือถอนการเสนอราคา

ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปีและปรับร้อยละห้าสิบของจำนวนเงินที่มีการเสนอ ราคาสูงสุดในระหว่างผู้ร่วมกระทำความผิดนั้น หรือของจำนวนเงินที่มีการทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐแล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ผู้เรียก รับ หรือยอมจะรับเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อกระทำการตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดด้วย

ยกตัวอย่างเช่น

กรณีที่ ๑ มีการประมูลงานในหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่ง นาย ก ซึ่งรู้จักกับเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี จึงได้ไปติดต่อเจ้าหน้าที่ให้กำหนดรายละเอียดในการประมูลที่เอื้อประโยชน์แก่นาย ก และกีดกันผู้รับเหมารายอื่น พร้อมกับเสนอจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนเจ้าหน้าที่ ความผิดของนาย ก เกิดขึ้นทันทีที่มีการให้ ขอให้ รับว่าจะให้ โดยไม่ต้องรอให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามที่นาย ก ร้องขอเสียก่อน หรือ กรณีที่ ๒ ในกรณีที่มีการประมูลงานในหน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่ง นาย ข ได้รับหน้าที่จากนาย ก ซึ่งเป็นผู้เข้าเสนอราคารายหนึ่ง ให้ติดต่อกับผู้รับเหมารายอื่นให้เสนอราคาสูงกว่านาย ก เพื่อให้นาย ก เป็นผู้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ โดยเสนอจะให้เงินตอบแทนกับผู้รับเหมารายอื่น ความผิดของนาย ข สำเร็จทันทีเมื่อมีการ ให้ ขอให้ รับว่าจะให้ โดยไม่ต้องรอให้ผู้รับเหมารายอื่นดำเนินการตามที่ตกลง หรือแม้แต่ผู้รับเหมารายอื่นไม่ดำเนินการตามที่ตกลงการกระทำของนาย ข ก็ยังเป็นความผิดอยู่

๑.๓  ความผิดฐานใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญให้ร่วมเสนอราคาโดยทุจริต (มาตรา ๖)

ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่น

  • ให้จำยอมร่วมดำเนินการใดๆ ในการเสนอราคา หรือ
  • ให้ไม่เข้าร่วมในการเสนอราคา หรือ
  • ให้ถอนการเสนอราคา หรือ
  • ให้ต้องทำการเสนอราคาตามที่กำหนด

โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญด้วยประการใดๆ ให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญ หรือบุคคลที่สาม จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับร้อยละห้าสิบของจำนวนเงินที่มีการเสนอราคาสูงสุดในระหว่างผู้ร่วมกระทำความผิดนั้น หรือของจำนวนเงินที่มีการทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐแล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

ยกตัวอย่างเช่น

นายเอกข่มขู่นายนายโทไม่ให้เข้าร่วมในการเสนอราคาก่อสร้างอาคารของ เทศบาล โดยขู่ว่าถ้าเข้าร่วมเสนอราคาจะถูกยิงทิ้ง ถ้านายโทกลัวจนยอมปฏิบัติตาม นายเอกมีความผิดฐานใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญให้ร่วมการเสนอราคาโดยทุจริต แต่ถ้านายโทไม่ยอมตามที่ขู่ นายเอกก็มีความผิดเพียงแค่พยายามเท่านั้น

๑.๔  ความผิดอาญาฐานใช้อุบายหลอกลวงเพื่อมิให้ผู้อื่นเข้าเสนอราคาหรือเสนอราคาโดยหลงผิด(มาตรา ๗)

ผู้ใดใช้อุบายหลอกลวง หรือกระทำการโดยวิธีอื่นใด เป็นเหตุให้ผู้อื่นไม่มีโอกาสเข้าทำการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม หรือให้มีการเสนอราคาโดยหลงผิด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปีและปรับร้อยละห้าสิบของจำนวนเงินที่มีการเสนอราคาสูงสุดในระหว่างผู้ร่วมกระทำความผิดนั้น หรือของจำนวนเงินที่มีการทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐแล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

ยกตัวอย่างเช่น

นายเสือทราบว่าเทศบาลแห่งหนึ่งจะมีการประกวดราคา จึงได้ปลอมเอกสารแจ้งการประกวดราคาส่งให้นายสิงห์คู่แข่ง เมื่อนายสิงห์ได้รับจึงหลงเชื่อเป็นเหตุให้หลงผิดในการกำหนดราคาการยื่นประกวดราคา การกระทำของนายเสือจึงเป็นความฐานใช้อุบายหลอกลวงเพื่อมิให้ผู้อื่นเข้าเสนอราคาหรือเสนอราคาโดยหลงผิด

๑.๕  ความผิดฐานเสนอราคาที่สูงหรือต่ำเกินปกติจนไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาได้(มาตรา ๘)

ผู้ใดโดยทุจริต

  • ทำการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐโดยรู้ว่าราคาที่เสนอนั้นต่ำมากเกินกว่าปกติจนเห็นได้ชัดว่าไม่เป็นไปตามลักษณะสินค้าหรือบริการ หรือ
  • เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่หน่วยงานของรัฐสูงกว่าความเป็นจริงตามสิทธิที่จะได้รับ

โดยมีวัตถุประสงค์เป็นการกีดกันการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมและการกระทำเช่นว่านั้น เป็นเหตุให้ไม่สามารถปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาได้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสามปีและปรับร้อยละห้าสิบของจำนวนเงินที่มีการเสนอ ราคา หรือของจำนวนเงินที่มีการทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐแล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ในกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาได้ตามวรรคหนึ่ง เป็นเหตุให้หน่วยงานของรัฐ ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการดำเนินการให้แล้วเสร็จตามวัตถุประสงค์ของสัญญาดังกล่าวผู้กระทำผิดต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายให้แก่หน่วยงานของรัฐนั้นด้วย ในการพิจารณาดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ถ้ามีการร้องขอให้ศาลพิจารณากำหนดค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องรับภาระเพิ่มขึ้นให้แก่หน่วยงานของรัฐตามวรรคสองด้วย

ยกตัวอย่างเช่น

ในการประมูลงานก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลแห่งหนึ่งซึ่งประกาศราคากลาง ไว้ที่ ๑๐๐ ล้านบาท แต่นายดำยื่นประกวดราคา ๔๐ ล้านบาทซึ่ง ต่ำกว่าผู้ประกวดราคารายอื่น ต่อมาเมื่อดำเนินการตามสัญญาปรากฏว่าไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จตามสัญญาได้ ถ้านายดำรู้ว่าราคาที่เสนอนั้นต่ำกว่าปกติจนเห็นได้ชัดว่าไม่เป็นตามลักษณะของการก่อสร้างอาคารนายดำมีความผิดฐานเสนอราคาที่สูงหรือต่ำเกินปกติจนไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาได้

๑.๖  ความรับผิดของผู้แทนนิติบุคคลในกรณีมีการกระทำความผิดที่เป็นประโยชน์ต่อนิติบุคคล (มาตรา๙)

ในกรณีที่การกระทำความผิด เป็นไปเพื่อนิติบุคคลใด ให้ถือว่า หุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจในการดำเนินงานในกิจการของนิติบุคคลนั้น หรือผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลในเรื่องนั้น เป็นตัวการร่วมในการกระทำผิดด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิดนั้น

๒. ความผิดอาญาที่เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐเป็นผู้กระทำ

๒.๑ ความผิดอาญาฐานเจ้าหน้าที่ละเว้นไม่ดำเนินการให้มีการยกเลิกการเสนอราคาที่ฝ่าฝืนกฎหมาย (มาตรา ๑๐)

เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการอนุมัติการพิจารณาหรือการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเสนอราคาครั้งใด รู้หรือมีพฤติการณ์แจ้งชัดว่าควรรู้ว่าการเสนอราคาในครั้งนั้นมีการกระทำความผิด ละเว้นไม่ดำเนินการเพื่อให้มีการยกเลิกการดำเนินการดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอราคาในครั้งนั้น มีความผิดฐานกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท

ยกตัวอย่างเช่น

มีชายฉกรรจ์กลุ่มหนึ่ง ยืนอยู่หน้าประตูของส่วนราชการที่เปิดให้มีการยื่นซองประกวดราคา แล้วห้ามไม่ให้ผู้รับเหมาเข้ามายื่นซองประกวดราคา เจ้าหน้าที่เห็นเหตุการณ์เช่นนี้ ต้องทราบว่ามีการกระทำความผิดฐานใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญให้ร่วมเสนอราคาโดยทุจริตตามมาตรา ๖ แล้ว และต้องรายงานเพื่อให้มีการยกเลิกการดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอราคาในครั้งนั้น หากไม่ดำเนินการถือว่ามีการละเว้นเป็นความผิดตามมาตรา ๑๐

๒.๒ ความผิดอาญาฐานเจ้าหน้าที่กระทำการเอื้อประโยชน์ต่อการกระทำผิด (มาตรา ๑๑)

เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ หรือผู้ได้รับมอบหมายจากหน่วยงานของรัฐ โดยทุจริตทำการออกแบบ กำหนดราคา กำหนดเงื่อนไข หรือกำหนดผลประโยชน์ตอบแทน อันเป็นมาตรฐานในการเสนอราคา

  • โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม
  • เพื่อช่วยเหลือให้ผู้เสนอราคารายใด ได้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐโดยไม่เป็นธรรม
  • เพื่อกีดกันผู้เสนอราคารายใดมิให้มีโอกาสเข้าแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม

ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งแสน บาทถึงสี่แสนบาท

ยกตัวอย่างเช่น

นายเอเป็นผู้อำนวยการของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ได้กำหนดเงื่อนไขใน การประกาศสอบราคาซื้อครุภัณฑ์การแพทย์ตู้เย็นเก็บศพ โดยมีเงื่อนไขไว้ข้อหนึ่งว่า ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้ผ่านมาตรฐานการผลิต ISO 9001 หรือได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) แม้กำหนดว่าผลิตภัณฑ์นี้จะมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือประเทศไทยก็ได้ แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ตู้เย็นเก็บศพที่ทำในประเทศไทยยังไม่มีประกาศกำหนดมาตรฐานจึงยังไม่มีผู้ได้รับเครื่องหมาย มอก. และยังไม่มีผู้ได้รับการจดทะเบียนกับสำนักมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม การกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ทำในประเทศไทยไม่สามารถผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการเปิดซองสอบราคาได้ หากปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า นายเอได้สั่งการให้มีการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวโดยมุ่งหวังให้บริษัทต่างประเทศเป็นผู้ได้รับงานครั้งนี้ นายเอจะมีความผิดตามมาตรา ๑๑ ทันที

๒.๓ เจ้าหน้าที่กระทำความผิดเองหรือกระทำการใดๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม (มาตรา ๑๒)

เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ กระทำความผิดตาม พรบ.นี้ หรือกระทำการใดๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ มีความผิดฐานกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท

ยกตัวอย่างเช่น

ในการประกวดราคาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารเรียน โรงเรียนรัฐแห่งหนึ่ง นายสมชายเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจไม่ได้ประกาศให้ผู้รับเหมาโดยทั่วไปทราบวันซื้อกำหนดแบบแปลนและยื่นซองประกวดราคา แต่ได้บอกกล่าวให้ทราบเฉพาะผู้รับเหมาบางกลุ่มที่ตนเองจะสามารถเรียกประโยชน์ได้เท่านั้น นายสมชายกระทำความผิดตามมาตรา ๑๒ เพราะเป็นการกระทำใดๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพราะการไม่เปิดปิดประกาศย่อมเป็นการกีดกันไม่ให้ผู้รับเหมารายอื่นเข้ามาแข่งขัน โดยการกระทำนี้นายสมชายมีเจตนาเพื่อให้ผู้รับเหมาบางรายเป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ

๓. ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกระทำความผิดหรือใช้อำนาจเหนือทำให้มีการกระทำผิด (มาตรา ๑๓)

ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือกรรมการ หรืออนุกรรมการในหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมิใช่เป็น เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐผู้ใด กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ หรือกระทำการใดๆ ต่อเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐซึ่งมีอำนาจหรือหน้าที่ในการอนุมัติการพิจารณา หรือการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเสนอราคาเพื่อจูงใจ หรือทำให้จำยอมต้องยอมรับการเสนอราคาที่มีการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำความผิดฐานกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทถึงสี่แสนบาท

ยกตัวอย่างเช่น

ในการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่ง หัวหน้าส่วนราชการนั้นพบว่าผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นคู่สัญญาของรัฐได้รับเลือก เพราะมีการตกลงร่วมกันในการเสนอราคา จึงได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อที่จะสั่งยกเลิกการประกวดราคา นายชัยรัฐมนตรีผู้ควบคุมกระทรวง     ที่ส่วนราชการดังกล่าวสังกัดอยู่จึงเรียกหัวหน้าส่วนราชการดังกล่าวไปคุยเพื่อจูงใจไม่ให้สั่งยกเลิกการประกวดราคาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นายชัยมีความผิดตามมาตรา ๑๓


หากท่านพบเห็นการกระทำซึ่งเข้าข่ายเป็นความผิดดังกล่าวข้างต้น หรือท่านเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำความผิดดังกล่าว ท่านสามารถมายื่นเรื่องร้องเรียนได้ด้วยตนเองที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ผ่านศูนย์บริหารคดี ทั้งนี้หากท่านต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ท่านสามารถโทรมาที่สำนักคดีอาญาพิเศษ ๒ เบอร์โทรศัพท์ ๐๒๕๗๕๔๒๙๗
-------------------------------------