เผยแพร่ผลงานตัวอย่างการดำเนินคดีกรณีบริษัทฯ ที่ไดรับการส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI) (นายพิพัฒน์ เพ็ญภาค)

published: 5/19/2014 9:50:14 AM updated: 5/19/2014 9:50:14 AM 2694 views   TH
 

เผยแพร่ผลงานตัวอย่างการดำเนินคดีกรณีบริษัทฯ ที่ไดรับการส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI) กระทำผิดตามกฏหมาย พ.ร.บ. ศุลกากร

(คดีพิเศษที่ ๒๖/๒๕๕๑ สำนักคดีภาษีอากร)

 

ชื่อ – สกุล        นายพิพัฒน์  เพ็ญภาค

ตำแหน่ง          พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ชำนาญการพิเศษ

         

                   คดีพิเศษที่ ๒๖/๒๕๕๑ เป็นกรณีที่บริษัทฯ ผู้ต้องหาเป็นบริษัทฯ ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน จากสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดยได้รับสิทธิและประโยชน์ให้ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบและวัสดุที่จำเป็นต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศเพื่อใช้ในการผลิตส่งออกตามมาตรา ๓๖ (๑) แห่ง พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. ๒๕๒๐ แต่ผู้ต้องหาได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขและวิธีการสำหรับส่วนสูญเสียของวัตถุดิบตามมาตรา ๓๖ (๑) แห่ง พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. ๒๕๒๐ กล่าวคือได้นำเศษวัตถุดิบส่วนสูญเสีย (SCRAP) ที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตได้แก่เศษเหล็ก เศษเหล็ก (ชิ้น) เศษอลูมิเนียม เศษสแตนเลส เศษพลาสติก เศษทองเลือง และเศษทองแดง รวม ๗ รายการ ซึ่งเป็นส่วนสูญเสียหรือเศษซากที่เกิดขึ้นจากวัตถุดิบในกระบวนการผลิตตามใบขนส่งสินค้าขาเข้าในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ถึง พ.ศ. ๒๕๔๓ ที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยได้รับยกเว้นอากรขาเข้าดังกล่าว มีน้ำหนักเศษวัตถุดิบรวมทั้งสิ้น ๕๐,๐๓๘,๔๘๘.๒๑ กิโลกรัม และเศษวัตถุดิบที่เป็นชิ้นจำนวน ๒๐,๒๗๑,๗๖๔ ชิ้น ไปจำหน่ายให้กับบุคคลอื่นที่ไม่มีสิทธิได้รับยกเว้นอากรเป็นรายวันโดยมีมูลค่าในเชิงพาณิชย์ก่อนที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จะอนุมัติให้ตัดบัญชีวัตถุดิบและยื่นขอชำระภาษีอากร

คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษร่วมกันพิจารณาแล้วเห็นว่ากรณีการจำหน่ายเศษวัตถุดิบที่มีมูลค่าในเชิงพาณิชย์ดังกล่าวไม่ปรากฏหลักฐานการชำระภาษีอากรของเศษวัตถุดิบที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยได้รับการยกเว้นค่าภาษีอากร ซึ่งถือว่าของนั้นได้โอนไปเป็นของบุคคลที่ไม่มีสิทธิได้รับยกเว้นอากร หรือได้นำไปใช้ในการอื่นนอกจากที่กำหนดไว้

คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ทำการตรวจสอบเศษวัตถุดิบ ส่วนสูญเสีย (SCRAP) ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตมีขั้นตอนและวิธีการโดยการตรวจสอบจากบัญชีเอกสารหลักฐานการรับเงิน (RECEIPT SLIP) ซึ่งได้สรุปยอดเศษวัตถุดิบส่วนสูญเสีย (SCRAP) ตามปริมาณ น้ำหนัก และราคาการซื้อขายเศษวัตถุดิบส่วนสูญเสีย (SCRAP) ซึ่งเป็นเอกสารทางบัญชีของบริษัทฯ ผู้ต้องหา และเป็นเอกสารที่ได้มาจากการตรวจค้น ณ สถานประกอบการของผู้ต้องหาเอง อีกทั้งเป็นเอกสารที่น่าเชื่อว่าได้รับการยกเว้นตามขั้นตอนและเงื่อนไขของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เนื่องจากการได้รับสิทธิยกเว้นอากรจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดยนำเครื่องจักร หรือวัตถุดิบจากต่างประเทศเข้ามาทำการผลิต ผสม หรือประกอบ แล้วส่งออกจำหน่ายไปยังต่างประเทศเท่านั้น ต่อมาภายหลังผู้ต้องหาได้ส่งผู้แทนมาพบเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร โดยยืนยันแต่เพียงว่าได้เสียภาษีถูกต้องตามที่ได้รับอนุญาตตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI) แต่ไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับส่วนต่างระหว่างที่ตรวจพบเศษวัตถุดิบตามเอกสารกับส่วนที่ได้รับการชำระภาษี ซึ่งจากการตรวจพบเศษวัตถุดิบนั้นมีจำนวนมากกว่าส่วนที่ได้ชำระภาษีไว้แล้ว ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวถึงแม้การที่ผู้ต้องหามีเอกสารหลักฐานมายืนยันว่ามิได้กระทำความผิดตามที่กล่าวอ้างแต่มิได้ชี้แจงในรายละเอียด โดยสรุปข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการชำระภาษีอากรให้เจ้าพนักงานทราบส่วนกรณีการจะขายเศษวัตถุดิบที่เหลือจากการผลิตได้นั้นจะต้องได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้ตัดยอด ตัดบัญชี และจะต้องชำระภาษีอากรให้ครบถ้วนเสียก่อน จึงจะขายเศษวัตถุดิบที่เหลือจากการผลิตนั้นได้

คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษร่วมกันพิจารณาแล้วเชื่อว่าบริษัทฯ ผู้ต้องหาเป็นผู้ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ได้รับสิทธิและประโยชน์ให้ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบ และวัสดุจำเป็นที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศเพื่อใช้ในการผลิตส่งออกตามมาตรา ๓๖ (๑) แห่ง พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. ๒๕๒๐ แต่ได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขและวิธีการสำหรับส่วนสูญเสียของวัตถุดิบตามมาตรา ๓๖ (๑) แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. ๒๕๒๐ โดยนำเศษวัตถุดิบส่วนสูญเสีย (SCRAP) ที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตได้แก่เศษเหล็ก เศษเหล็ก (ชิ้น) เศษอลูมิเนียม เศษสแตนเลส เศษพลาสติก เศษทองเหลือง และเศษทองแดง ซึ่งเป็นส่วนสูญเสียหรือเศษซากที่เกิดจากวัตถุดิบในกระบวนการผลิตที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยได้รับยกเว้นอากรขาเข้าไปจำหน่ายให้กับบุคคลอื่นที่ไม่มีสิทธิได้รับยกเว้นอากรก่อนที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จะอนุมัติให้ตัดบัญชีวัตถุดิบและยื่นขอชำระภาษีอากร อีกทั้งไม่ปรากฏหลักฐานการชำระภาษีอากรของวัตถุดิบที่นำเข้าซึ่งถือว่าของนั้นได้โอนเป็นของบุคคลอื่นที่ไม่มีสิทธิได้รับยกเว้นอากร หรือได้นำไปใช้ในการอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ทำให้มีหน้าที่ต้องแจ้งขอชำระอากรสำหรับส่วนสูญเสียของวัตถุดิบให้ครบถ้วน เมื่อไม่ปรากฏว่าได้ชำระภาษีสำหรับส่วนสูญเสียของวัตถุดิบที่ได้จำหน่ายไปให้ถูกต้อง จึงต้องถือว่าส่วนสูญเสียของวัตถุดิบที่จำหน่ายให้แก่บุคคลที่ไม่มีสิทธิได้รับยกเว้นอากรหรือนำไปใช้ในการอื่น

คณะพนักงานสอบสวนพิจารณาแล้วเห็นว่าบริษัทฯ ผู้ต้องหามีหน้าที่ต้องแจ้งขอชำระอากรสำหรับส่วนสูญเสียของวัตถุดิบให้ครบถ้วนรวมราคาประเมิน ๔๒๗,๓๔๔,๓๒๗.๐๙ บาท คิดเป็นค่าอากรขาเข้า ๙,๐๗๐,๗๒๗.๐๐ บาท และให้ชำระภาษีอากรที่ขาดจำนวน ๙,๐๗๐,๒๗๒.๐๐ บาท มีโทษให้                                ปรับสองเท่าคิดเป็นเงิน ๑๘,๑๔๑,๔๕๔.๐๐ บาท เงินเพิ่ม ๙,๐๗๐,๒๗๒.๐๐ บาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม ๓๕,๘๖๙,๒๕๔.๐๐ บาท เบี้ยปรับ ๓๕,๘๖๙,๒๔๕.๐๐ บาท เงินเพิ่ม ๓๕,๘๖๙,๒๕๔.๐๐ บาท รวมภาษีที่ต้องชำระทั้งสิ้น ๑๔๑,๘๙๕,๑๑๑ บาท กรณีดังกล่าวถือได้ว่าบริษัทฯ ผู้ต้องหาได้กระทำความผิดตามกฎหมายศุลกากร                                             โดยการฝ่าฝืนตามมาตรา ๑๐ แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๕๓๐ ประกอบมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน จึงมีความผิดฐานร่วมกันสำแดงเท็จหรือเกี่ยวข้องด้วยประการใด ๆ                         เพื่อหลีกเลี่ยงค่าภาษีศุลกากรโดยเจตนาฉ้อค่าภาษี ตามมาตรา ๙๙, ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ ประกอบกับมาตรา ๑๖, ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๘๒ และประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๘๓, ๙๑ คดีมีหลักฐานพอฟ้อง เห็นควรสั่งฟ้องบริษัทฯ ผู้ต้องหาตามฐานความผิดดังกล่าว

อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษมีความเห็นทางคดีเห็นควรสั่งฟ้องบริษัทฯ ผู้ต้องหาตามความเห็นของคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งต่อมาผู้ต้องหาได้ติดต่อขอระงับคดีในชั้นพนักงานอัยการ                       โดยยินยอมชำระค่าภาษีอากรที่ขาดพร้อมเบี้ยปรับ

 

___________________________________