เผยแพร่ผลงานตัวอย่างการดำเนินคดีกรณีบริษัทฯ นำเข้าสินค้าหูฉลามแห้ง (SHARK FINS) (นายพิพัฒน์ เพ็ญภาค)
published: 5/19/2014 9:43:36 AM updated: 5/19/2014 9:43:36 AM 1900 views TH
เผยแพร่ผลงานตัวอย่างการดำเนินคดีกรณีบริษัทฯ นำเข้าสินค้าหูฉลามแห้ง (SHARK FINS) โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องก่อนนำเข้าสินค้าประเภทดังกล่าว และมิได้สำแดงใบอนุญาตฯ ในใบขนสินค้า ขาเข้าอันเป็นความผิดฐานร่วมกันสำแดงเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงข้อกำกัดตามกฏหมาย พ.ร.บ. ศุลกากร
(คดีพิเศษที่ ๖๒/๒๕๕๑ สำนักคดีภาษีอากร)
ชื่อ – สกุล นายพิพัฒน์ เพ็ญภาค
ตำแหน่ง พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ชำนาญการพิเศษ
คดีพิเศษที่ ๖๒/๒๕๕๑ เป็นกรณีที่บริษัทฯ ผู้ต้องหาได้ร่วมกันนำเข้าสินค้าประเภทหูฉลามแห้ง (SHARK FINS) เป็นจำนวนมากเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมปศุสัตว์ ตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาด พุทธศักราช ๒๕๔๖ ฉบับลงวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๔๖ ข้อ ๒(๑๘) “ปลา” ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔(๓) แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พุทธศักราช ๒๔๙๙ เป็นของต้องกำกัดตามมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน และเป็นของต้องกำกัด ตามมาตรา ๔(๑) ประกอบมาตรา ๕๔ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พุทธศักราช ๒๔๙๐ โดยมีพระราชกฤษฎีกาห้ามมิให้นำสัตว์น้ำบางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๔๗ ลงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๗ ซึ่งออกตามความในมาตรา ๕๔ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พุทธศักราช ๒๔๙๐ ห้ามมิให้ นำปลาฉลาม (รวมถึงซากหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของปลาฉลาม) เข้ามาในราชอาณาจักรเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว
คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษพิจารณาแล้วเห็นว่าหูฉลามเป็นซากของปลาฉลาม และถือเป็นสัตว์น้ำตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงมีผลให้ผู้นำหูฉลามแห้ง (SHARK FINS) เข้ามาในราชอาณาจักร จะต้องขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา ๕๔ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พุทธศักราช ๒๔๙๐ และมีบทกำหนดโทษตามมาตรา ๖๒ กรณีที่ผู้นำเข้ามิได้ขออนุญาตให้ถูกต้อง ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อพ้น ๓๐ วันนับแต่วันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๔๗ และสินค้าหูฉลามแห้ง (SHARK FINS) ที่ผู้ต้องหาได้ร่วมกันนำเข้ามาในราชอาณาจักร ตามใบขนสินค้าขาเข้า ๑๕๓ ฉบับนั้น เป็นของที่ต้องควบคุมการนำเข้า ซึ่งต้องดำเนินการภายใต้บังคับตามมาตรา ๕๔ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พุทธศักราช ๒๔๙๐ และตามมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พุทธศักราช ๒๔๙๙ โดยกฎหมายดังกล่าวมีหลักการและเหตุผลว่าสัตว์จำพวก ปลา ....ฯลฯ..... อาจเกิดโรคระบาดรุนแรงและแพร่เชื้อโรคจากสัตว์ดังกล่าวมาสู่มนุษย์ได้ เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค อันอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและอาจเกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศได้การนำเข้าสัตว์ดังกล่าวจึงต้องได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนการนำเข้าจึงรับฟังได้ว่าบริษัทฯผู้ต้องหาได้ร่วมกันนำเข้าสินค้าหูฉลามแห้ง (SHARK FINS) จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามาในราชอาณาจักร ตามใบขนสินค้าขาเข้ารวม ๑๕๓ ฉบับ ซึ่งเป็นของที่ต้องควบคุมการนำเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องก่อนนำเข้าสินค้าประเภทดังกล่าว และมิได้สำแดงใบอนุญาตฯ ในใบขนสินค้าขาเข้า อันเป็นความผิดฐานร่วมกันสำแดงเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงข้อกำกัด ตามมาตรา ๙๙ , ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช ๒๔๖๙ ประกอบมาตรา ๑๖ , ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๙) พุทธศักราช ๒๔๘๒ , ตามมาตรา ๕๔ แห่งพระราชบัญญัติการประมงพุทธศักราช ๒๔๙๐ , ตามมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พุทธศักราช ๒๔๙๙ และตามมาตรา ๘๓ แห่งประมวลกฎหมายอาญา คดีมีหลักฐานพอฟ้อง จึงเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาตามฐานความผิดดังกล่าว
อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษมีความเห็นทางคดีเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาตามความเห็นของคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ
________________________________________________