เผยแพร่ผลงานตัวอย่างการดำเนินคดีกรณีผู้ต้องหา ร่วมกันหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร และหลีกเลี่ยงภาษีธุรกิจเฉพาะ (นายพิพัฒน์ เพ็ญภาค)
published: 19/5/2557 9:47:50 updated: 19/5/2557 9:47:50 3361 views THเผยแพร่ผลงานตัวอย่างการดำเนินคดีกรณีผู้ต้องหา ร่วมกันหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร และหลีกเลี่ยงภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา ๓๗ และ ๙๑/๒๑ (๗) แห่งประมวลรัษฎากร
(คดีพิเศษที่ ๙๒/๒๕๕ สำนักคดีภาษีอากร)
ชื่อ – สกุล นายพิพัฒน์ เพ็ญภาค
ตำแหน่ง พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ชำนาญการพิเศษ
คดีพิเศษที่ ๙๒/๒๕๕๒ เป็นคดีที่กรมสรรพากรได้มีหนังสือร้องทุกข์ขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินคดีกับผู้ต้องหา กรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษมีหนังสือขอให้กรมสรรพากรทำการตรวจภาษีของผู้ต้องหา กับพวก ซึ่งกรมสรรพากรได้ทำการตรวจสอบภาษีในปีภาษี ๒๕๔๐ – ๒๕๔๗ ของผู้ต้องหากับพวกแล้วพบว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ละเลยไม่ยื่นแบบเพื่อเสียภาษีและหลีกเลี่ยงภาษีธุรกิจเฉพาะโดยผู้ต้องหามีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์และจากการอื่น แต่ไม่มีการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้อันเข้าลักษณะความผิดตามมาตรา ๓๗,๓๗ ทวิ และมาตรา ๙๑/๒๑ (๗) แห่งประมวลรัษฏากร
คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ปรากฎว่าระหว่างวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๐ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๗ (ปีภาษี ๒๕๔๐ – ๒๕๔๗) ผู้ต้องหามีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์และจากการอื่น จึงมีหน้าที่ต้องนำเงินได้มายื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี แต่จากการตรวจสอบไม่พบว่าผู้ต้องหาได้มีการยื่นแบบเสียภาษีโดยถูกต้องแต่อย่างใด ซึ่งผู้ต้องหาประกอบกิจการมาเป็นเวลานานย่อมต้องทราบว่ามีหน้าที่ต้องนำเงินที่ได้รับจากการประกอบกิจการมาเสียภาษีและในการประกอบกิจการควรมีการจัดทำบัญชีไว้เพื่อตรวจสอบสภาพกิจการได้ ซึ่งโดยวิสัยของผู้ประกอบกิจการที่มีรายรับ – รายจ่ายเป็นจำนวนสูงมากจะมีการจัดทำบัญชีเพื่อตรวจสอบสภาพกิจการ ผลกำไร – ขาดทุนของกิจการ แต่ผู้ต้องหาอ้างว่ามิได้จัดทำบัญชีไว้ เชื่อว่ามีเจตนาเพื่อมิให้ปรากฏข้อมูลและหลักฐานในการดำเนินกิจการ ประกอบกับผู้ต้องหาทั้งสองไม่มีการยื่นแบบเพื่อเสียภาษีนับตั้งแต่เริ่มประกอบกิจการ แม้ผู้ต้องหาจะยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะไว้ก็เป็นเพียงบางส่วนและเป็นการเสียภาษีไว้ไม่ถูกต้องเพื่อให้มีการเสียภาษีน้อยกว่าที่ควรจะเสีย ทั้งการดำเนินการจัดสรรที่ดินตามโครงการเกื้อกูลฯ ของผู้ต้องหามีการนำชื่อบุคคลอื่นเข้าเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วม และโอนไปมาหลายครั้งก่อนโอนขายมีการจดทะเบียนหย่ากับภรรยาและนำเงินจากการประกอบการเข้าบัญชีของผู้ต้องหาที่ ๒ เป็นจำนวนมาก แต่ผู้ต้องหาที่ ๑ และผู้ต้องที่ ๒ ยังอยู่กินฉันท์สามีภรรยาปกติ การกระทำของผู้ต้องหาทั้งสองตามพฤติการณ์ข้างต้นเป็นการจงใจเพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรตั้งแต่ต้นเข้าลักษณะเป็นการกระทำโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกันเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา ๓๗ (๒) และหลีกเลี่ยงภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา ๙๑/๒๑ (๗) แห่งประมวลรัษฎากร
คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ร่วมกันพิจารณาแล้วเห็นว่าการที่ผู้ต้องหาที่ ๑ ได้มาพบเจ้าพนักงานตามประมวลรัษฎากรตามหมายเรียกเพื่อชี้แจงเกี่ยวกับการตรวจภาษีของผู้ต้องหาทั้งสอง ซึ่งเจ้าพนักงานของกรมสรรพากรได้แจ้งให้ผู้ต้องหาทั้งสองชี้แจงข้อเท็จจริงและส่งมอบเอกสารหลักฐานบัญชีรายรับ – รายจ่ายให้เจ้าพนักงานเพื่อใช้ในการพิจารณาตรวจสอบภาษี แต่ผู้ต้องหาทั้งสองไม่สามารถส่งหลักฐานใดให้เจ้าพนักงานได้และแจ้งว่ารายการเงินฝาก – ถอน ในบัญชีของผู้ต้องหาทั้งสองเกี่ยวข้องกับเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ แต่ไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นเงินได้จากการขายที่ดินแปลงใดและได้จ่ายให้กับใครบ้าง โดยอ้างว่าไม่ได้จัดทำบัญชีรายการรับ – จ่ายไว้และไม่มีหลักฐานใดเพื่อให้เจ้าพนักงานตรวจสอบ
คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ร่วมกันพิจารณากรณีเงินฝากในบัญชีธนาคารของผู้ต้องหาที่ ๒ การที่ผู้ต้องหาที่ ๑ ได้ชี้แจงในฐานะผู้รับมอบอำนาจของผู้ต้องหาที่ ๒ ว่าเป็นผู้นำเงินฝากให้กับผู้ต้องหาที่ ๒ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว ค่าเลี้ยงดูบุตร และส่วนหนึ่งเป็นเงินที่ผู้ต้องหาที่ ๑ นำเข้าฝากบัญชีของผู้ต้องหาที่ ๒ เพื่อตกแต่งรายการบัญชีสำหรับใช้ในการยื่นกู้เงินเพื่อซื้อบ้าน แต่ผู้ต้องหาที่ ๑ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ารายการเงินฝากของผู้ต้องหาที่ ๒ มีรายการใดเกี่ยวข้องกับเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ หรือเงินได้ประเภทใด โดยอ้างว่ามิได้จัดทำบัญชีรายการรับ – จ่ายไว้และไม่มีหลักฐานใดให้ทำการตรวจสอบ
คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ร่วมกันพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของผู้ต้องหาทั้งสองดังกล่าวถือว่าเป็นการร่วมกันโดยจงใจให้ถ้อยคำเท็จต่อเจ้าพนักงานว่าไม่สามารถชี้แจงได้ด้วยวิธีบ่ายเบี่ยงหรืออ้างว่าไม่ได้จัดทำบัญชีรายการรับ – จ่ายไว้ และไม่มีหลักฐานใดให้ตรวจสอบ ซึ่งผิดวิสัยของผู้ประกอบการที่มีมูลค่าหลายร้อยล้านบาท อันเข้าลักษณะเป็นการกระทำโดยรู้อยู่แล้ว หรือจงใจแจ้งข้อความหรือให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดงเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา ๓๗ (๑) และหลีกเลี่ยงภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา ๙๑/๒๑ (๗) แห่งประมวลรัษฎากร
คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ร่วมกันพิจารณาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานดังกล่าวข้างต้นแล้วเชื่อว่าผู้ต้องหาทั้งสองได้ร่วมกันกระทำความผิดฐานร่วมกันหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ละเลยไม่ยื่นรายการเพื่อเสียภาษี และหลีกเลี่ยงภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา ๓๗ , ๓๗ ทวิ และ ๙๑/๒๑ (๗) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบด้วยมาตรา ๘๓ แห่งประมวลกฎหมายอาญา ต่างกรรม ต่างวาระ
คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ร่วมกันพิจารณาแล้วเห็นว่าทางคดีมีพยานหลักฐานพอฟ้อง ควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ ๑,๒ ในความผิดฐานร่วมกันหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร และหลีกเลี่ยงภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา ๓๗ และ ๙๑/๒๑ (๗) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบด้วยมาตรา ๘๓ แห่งประมวลกฎหมายอาญา ต่างกรรมต่างวาระ สำหรับความผิดฐานร่วมกันละเลยไม่ยื่นรายการเพื่อเสียภาษีตามมาตรา ๓๗ ทวิแห่งประมวลรัษฎากรตามข้อกล่าวหานั้น มีอัตราโทษปรับไม่เกินห้าพันบาทหรือจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือทั้งจำทั้งปรับ มีอายุความ ๕ ปี โดยเหตุเกิดระหว่างวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๐ (วันแรกของปีภาษี ๒๕๔๐) ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๘ (วันสุดท้ายของปีภาษี ๒๕๔๗) คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษได้พิจารณาจากพยานหลักฐานเห็นว่าขาดอายุความแล้ว จึงเห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาที่ ๑,๒ ในความผิดฐานร่วมกันละเลยไม่ยื่นรายการเพื่อเสียภาษีตามประมวลรัษฎากร
อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษมีความเห็นทางคดีเห็นควรสั่งฟ้องและสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาตามความเห็นของคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ
___________________________________________________