แถลงการณ์ ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ ศอ.รส. ฉบับที่ ๘ เรื่อง ข้อเรียกร้องและแจ้งเตือนสมาชิกวุฒิสภา รวมถึงกลุ่มต่างๆ ให้ยุติการคัดเลือกและแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (นายกรัฐมนตรี มาตรา ๗)

published: 14/5/2557 13:06:04 updated: 14/5/2557 13:06:04 1410 views   TH
 

แถลงการณ์

ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ ศอ.รส. ฉบับที่ ๘

เรื่อง ข้อเรียกร้องและแจ้งเตือนสมาชิกวุฒิสภา รวมถึงกลุ่มต่างๆ ให้ยุติการคัดเลือกและแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (นายกรัฐมนตรี มาตรา ๗)

----------------------------------------    

ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ ศอ.รส. เป็นหน่วยงานพิเศษที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โดย ศอ.รส. มีภารกิจสำคัญในการสนธิกำลังทั้งข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ และข้าราชการพลเรือน ตลอดจนเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงต่างๆ เพื่ออำนวยการและปฏิบัติการให้เกิดความสงบเรียบร้อยในทุกๆ มิติ ทั้งในเขตพื้นที่รับผิดชอบ และสังคมในภาพรวม  

 

บัดนี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับแกนนำ กปปส. ได้ร่วมกันกระทำความผิดต่างๆ นานาอย่างต่อเนื่อง และสร้างความเสียหายกับประเทศชาติบ้านเมืองตลอดมา จนในที่สุดเมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคมที่ผ่านมานี้ พนักงานอัยการได้มีคำสั่งฟ้องนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวกแกนนำถึง ๕๑ คน ในข้อหาอุกฉกรรจ์ที่สำคัญ ได้แก่ ร่วมกันเป็นกบฎ ร่วมกันขัดขวางการเลือกตั้ง ร่วมกันเป็นอั้งยี่หรือซ่องโจร และข้อหาอื่นๆ รวมทั้งหมด ๙ ข้อหา โดยเฉพาะนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และนายชุมพล จุลใส ซึ่งถูกสั่งฟ้องในข้อหาร่วมกันก่อการร้ายเพิ่มเติมอีกด้วย  พฤติการณ์การกระทำของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และแกนนำ กปปส. นอกจากจะเป็นความผิดต่อกฎหมายแล้ว ยังมีข้อเรียกร้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายต่างๆ นานา อาทิเช่น การเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีลาออกจากการปฏิบัติหน้าที่โดยอ้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๓ และมาตรา ๗ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สามารถกระทำได้ตามกฎหมาย และแม้รัฐบาลจะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชน และจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ อันเป็นการรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย แต่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และแกนนำ กปปส. ก็ยังคงกระทำการขัดขวางไม่ให้มีการเลือกตั้ง จนในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร  นายกรัฐมนตรี รวมถึงรัฐมนตรีบางคนสิ้นสุดลง อีกทั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ได้มีมติว่าข้อกล่าวหามีมูลกรณีการยื่นถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โครงการรับจำนำข้าว ซึ่งถือได้ว่าข้อเรียกร้องของนายสุเทพ เทือกสุบรรณที่ต้องการให้นายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง ได้รับการตอบสนองแล้ว  

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีบางคนสิ้นสุดลงเฉพาะตัว และวินิจฉัยต่อไปว่าเป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เป็นการเฉพาะให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๘๒ ยังคงต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๘๑ คณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติมอบหมายให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ “เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี” ไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา ๑๐ ของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่กำหนดให้ “ในระหว่างที่คณะรัฐมนตรีต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่เพราะนายกรัฐมนตรีตาย ขาดคุณสมบัติ ต้องคำพิพากษาให้จำคุก สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ไว้วางใจ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง หรือวุฒิสภามีมติให้ถอดถอนจากตำแหน่ง ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ปฎิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน”  ดังนั้น ตามที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และกลุ่มแกนนำ ได้นำมวลชนเดินทางไปเรียกร้องที่รัฐสภา เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ รวมทั้งออกแถลงการณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยเรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภาร่วมกันคัดเลือกและทูลเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๗ แห่งรัฐธรรมนูญนั้น ศอ.รส. จึงเห็นว่าข้อเรียกร้องตามแถลงการณ์ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นเรื่องที่ไม่สามารถกระทำได้โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เนื่องจากการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๑ มาตรา ๑๗๒ และมาตรา ๑๗๓ โดยนายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ปัจจุบันยังไม่อาจมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทำให้ไม่มีสภาผู้แทนราษฎรที่จะทำหน้าที่คัดเลือกและให้ความเห็นชอบบุคคลที่สมควรได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีได้ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว  ประกอบกับปัจจุบันยังคงมีคณะรัฐมนตรีที่มีนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล “เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี” อยู่ การดำเนินการที่จะให้มีนายกรัฐมนตรีคนกลาง จึงเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจกระทำได้ และโดยเฉพาะการดำเนินการเพื่อจัดตั้งนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีขึ้นอีกชุดหนึ่งในขณะที่คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ นอกจากจะเป็นการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายแล้ว ยังจะเป็นการล่วงละเมิดพระราชอำนาจต่อองค์พระมหากษัตริย์เป็นอย่างยิ่ง  ศอ.รส. จึงขอเรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภา รวมถึงกลุ่มการเมืองและกลุ่มผู้สนับสนุนบางกลุ่ม ยุติการกระทำผิดต่อกฎหมายด้วยการคัดเลือกและทูลเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะนอกจากจะเป็นความผิดต่อกฎหมายแล้ว ยังจะเป็นสาเหตุให้เกิดความรุนแรงและเหตุร้ายขึ้นในบ้านเมือง ซึ่งจากการประเมินสถานการณ์ในปัจจุบันมีข้อมูลเพียงพอที่บ่งชี้ได้ว่าจะเกิดความรุนแรงและเหตุร้ายขึ้นในเขตพื้นที่รับผิดชอบของ ศอ.รส. โดยเฉพาะหากยังมีการคัดเลือกและเสนอแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีขึ้นมาใหม่ตามที่ กปปส. เรียกร้อง จะต้องเกิดความไม่พอใจจากมวลชนอีกกลุ่มหนึ่งอย่างรุนแรงและลุกลามไปถึงการก่อเหตุร้ายและเข้าปะทะกันอย่างแน่นอน จนอาจกลายเป็นสงครามกลางเมืองได้ในที่สุด  นอกจากนั้น ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่ปรากฎอยู่ในขณะนี้คือ การที่วุฒิสมาชิกบางคนและกลุ่มผู้สนับสนุนบางกลุ่มให้การสนับสนุนกิจกรรมและแนวทางดำเนินการต่างๆ นานา โดยเฉพาะการคัดเลือกแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี มาตรา ๗ ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวของนายสุเทพ เทือกสุบรรณกับพวก ซึ่งได้ถูกพนักงานอัยการสั่งฟ้องในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ ร่วมกันก่อการร้าย ร่วมกันขัดขวางการเลือกตั้ง และฐานความผิดอื่นๆ นั้น บุคคลและกลุ่มบุคคลที่เข้าไปเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณกับพวกดังกล่าว อาจมีความผิดและอาจถูกดำเนินคดีฐานให้การสนับสนุน หรือเป็นตัวการร่วมสมคบคิดกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวกไปด้วย ซึ่ง ศอ.รส. จะติดตามพฤติการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป  

 

อนึ่ง ด้วยความเคารพต่อสมาชิกวุฒิสภาทุกท่าน ซึ่งล้วนเป็นบุคคลที่มีความสำคัญของประเทศ ศอ.รส. มีความเชื่อมั่นต่อความเป็นผู้รักษากฎหมาย และเป็นผู้ใหญ่สำคัญในบ้านเมืองที่จะไม่กระทำในสิ่งที่นอกเหนือกฎหมาย และจะปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการตามที่ได้ปฏิญาณตนไว้ก่อนเข้ารับหน้าที่ การที่ ศอ.รส. จำเป็นต้องมีแถลงการณ์ฉบับนี้ ก็เพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจอันถูกต้อง และหลีกเลี่ยงเหตุความไม่สงบและเหตุร้ายแรงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น

 

ศอ.รส. จึงเห็นสมควรแถลงการณ์มาเพื่อพี่น้องประชาชนได้รับทราบ อนึ่ง แถลงการณ์ฉบับนี้เป็นความเห็นและดำเนินการโดยฝ่ายบริหารของ ศอ.รส. โดยตรง ซึ่งไม่ได้ขอให้ฝ่ายทหารร่วมมีความเห็นและดำเนินการด้วย    

 

จึงแถลงการณ์มาเพื่อทราบทั่วกัน      

ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย        

๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๗            

เวลา ๑๓.๐๐ น.

Lasted Post

Related Post