รมว.ยุติธรรม นำดีเอสไอ แถลงยึดทรัพย์ตัดวงจรยาเสพติด กว่า500 ล้าน
published: 8/21/2020 2:34:58 PM updated: 8/25/2020 2:07:05 PM 2451 views THรมว.ยุติธรรม นำดีเอสไอ แถลงยึดทรัพย์ตัดวงจรยาเสพติด กว่า500 ล้าน
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ หรือ ศอ.ปส. พร้อมด้วย พันตำรวจโท กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และนายอุทัย สินมา อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีแรงงานภาค 3 ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานสืบสวนสอบสวนทางการเงิน เพื่อการยึดทรัพย์สินเครือข่ายยาเสพติด (ครั้งที่ 6/2563) ร่วมกันแถลงข่าว “ยุทธการพิทักษ์ไทย ยึดทรัพย์ ตัดวงจรยาเสพติด” ครั้งที่ 5/2563
นายสมศักดิ์ ระบุว่า “ตามนโยบายเร่งด่วนของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ให้ไว้เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 โดยมีข้อสั่งการให้ขยายผล เพื่อจับกุมนายทุน และผู้อยู่เบื้องหลังการค้ายาเสพติด รวมถึงจัดตั้งกลไกการบูรณาการการปราบปรามยาเสพติด เพื่อสืบสวนขยายผลและยึดทรัพย์สินเครือข่ายยาเสพติด โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ที่ได้รับมอบหมายภารกิจในการสอบสวนเส้นทางการเงินของเครือข่ายนางสาวชบา จนล่าสุดมีการปิดล้อม ตรวจค้น เป้าหมาย เครือข่ายยาเสพติด เพื่อตัดวงจรด้วยการยึดทรัพย์ ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ใช้เทคโนโลยีในการสืบค้นธุรกรรมทางการเงินที่ทันสมัย โดยปฏิบัติการสืบสวน สอบสวนเครือข่ายยาเสพติดอย่างเข้มข้น เพื่อติดตามเครือข่ายผู้ค้ายาเสพติดทางกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งสามารถอายัดบัญชีธนาคาร และทรัพย์สินที่เป็นทองคำแท่ง ทองรูปพรรณ อสังหาริมทรัพย์ รถยนต์หรู กระเป๋าแบรนด์เนม เงินสดไทยและต่างประเทศ ฯลฯ รวมมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท
นายสมศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า “ปฏิบัติตัดวงจรยาเสพติดนั้นดำเนินการมาตลอด 7 เดือน ถือเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการปรามปราบยาเสพติดให้ได้มากที่สุด จากปีก่อนสถิติการยึดทรัพย์ ที่ทำได้ทั้งปีเฉลี่ยเพียง 600 ล้านบาท แต่เมื่อเรานำวิธีการตัดวงจรมาใช้ไม่ถึง 1 ปีเราสามารถยึดได้กว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเกินเป้ากว่าที่เรากำหนด การดำเนินงานในครั้งตนต้องขอบคุณทุกหน่วยงานที่ทำให้เราประสบความสำเร็จและในปีต่อไปเราจะทำงานให้เข้มข้นตามแนวทาง 10 X RULE ( ทำงาน 10 เท่า ) ดังนั้นในปีหน้าเราจะตัดวงจรยาเสพติดให้ได้ กว่า 6,000 ล้าน”
ด้าน พันตำรวจโท กรวัชร์ กล่าวว่า “ยุทธการครั้งนี้ทางดีเอสไอใช้เวลาในการติดตามกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดมากกว่า 3 เดือน และนำเทคโนโลยีสืบค้นธุรกรรมทางการเงินมาใช้เพียง 2 เดือน ก็สามารถเริ่มปฏิบัติการพร้อมกันได้ถึง 5 จุด ในจังหวัดชลบุรี จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร 2 จุด คือ เขตบางเขน และ เขตตลิ่งชัน โดยจุดที่สามารถอายัดทรัพย์สินได้มากที่สุดในการลงพื้นที่ คือ เขตตลิ่งชันได้ทองคำแท่งน้ำหนักประมาณ 1,000 บาท พระเครื่องและสร้อยทองคำ รวม 35 รายการ เครื่องประดับอื่นอีก 10 รายการ และยังพบธนบัตรไทยและธนบัตรต่างชาติอีกประมาณ 1 ล้าน 2 แสนบาท และมี
- บัญชีธนาคาร จำนวน 65 บัญชี มูลค่า 50 ล้านบาท
- บ้านพร้อมที่ดิน จำนวน 85 รายการ มูลค่า 340 ล้านบาท
- รถยนต์ จำนวน 97 คัน มูลค่ากว่า 83 ล้านบาท
- ทองคำ จำนวน 1,064 บาท มูลค่ากว่า 31 ล้านบาท
- พระกรอบทอง พร้อมสร้อยทอง จำนวน 30 รายการ มูลค่ากว่า 2 ล้าน
- กระเป๋าแบรนด์เนม จำนวน 11 ใบ มูลค่ากว่า 8 แสนบาท
- เครื่องประดับ มูลค่า 5 แสนบาท
นอกจากนี้ยังพบเงินสดสกุลต่างๆ อาทิ เงินดอลลาร์ เงินกีบลาว เงินดองเวียดนาม รวมทั้งสิ้นกว่า 1 ล้าน 2 แสนบาท และรวมมูลค่าการยึดทรัพย์ ทั้งสิ้นกว่า 500 ล้านบาท” โดยเรายังสามารถเข้ายึด/อายัดไม้แปรรูป ในจังหวัดสมุทรสาครได้อีกจำนวนหนึ่งด้วย ซึ่งในขณะนี้ดีเอสไอ ได้ส่งมอบให้กรมป่าไม้ ตรวจสอบว่าไม้เป็นชนิดใด มีปริมาณเท่าใด หากพบว่าเป็นไม้ที่ไม่ถูกต้อง ดีเอสไอจะดำเนินการตามกฎหมายขั้นเด็ดขาด
ผมขอยืนยันว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ จะเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติงาน และจะดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับผู้กระทำความผิดในลักษณะนี้ให้ได้รับการลงโทษตามกฎหมายอย่างหนักต่อไป”
ในส่วนการปฏิบัติงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในด้านการตัดวงจรทางการเงินของเครือข่ายยาเสพติด กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งเป็นธุรกรรมการเงินต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ค้ายาเสพติด โดยใช้เครื่องมือติดตามความสัมพันธ์การรับโอนเงินที่เป็นระบบเก่า ซึ่งเป็นการยากในการขยายผล ไปถึงตัวการสำคัญในเรื่องยาเสพติด ประกอบกับท่านรัฐมนตรีสมศักดิ์ เทพสุทิน ให้ความสำคัญ ในเรื่องของการตัดเส้นทางการเงินของวงจรยาเสพติด ด้วยการยึด/อายัดทรัพย์ จึงได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการสืบค้นทางการเงิน โดยเทคโนโลยีดังกล่าว สามารถเจาะไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เป็นตัวการสำคัญได้ ทั้งยังสามารถแยกกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดออกไปเป็นวงกว้าง และจากการตรวจสอบข้อมูลทางธนาคาร ข้อมูลการชำระภาษี ของกรมสรรพากร พบว่า กลุ่มคนเหล่านี้มีเงินเข้าบัญชีธนาคารเป็นหลัก 100 – 1,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีการชำระภาษี และเมื่อตามเส้นทางของบุคคลเหล่านี้พบว่าส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด เมื่อรวบรวมข้อมูลจนมั่นใจว่ากลุ่มบุคคลนี้ได้กระทำการเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงรับเป็นคดีพิเศษ และได้ปฏิบัติการในวันที่ 19 สิงหาคม 2563 โดยสามารถยึดและอายัดทรัพย์สินได้กว่า 500 ล้านบาท