DSI ร่วมกับสำนักงาน อย. ดำเนินมาตรการเชิงรุกในการคุ้มครองผู้บริโภค ตรวจสอบผลิตภัณฑ์น้ำยากันยุงซึ่งมีส่วนผสมวัตถุอันตราย ชี้!! หากไม่ได้รับอนุญาต / ไม่ได้ขึ้นทะเบียน มีโทษทั้งจำ ทั้งปรับ

published: 5/24/2023 4:56:23 PM updated: 5/24/2023 4:56:23 PM 458 views   TH
 

DSI ร่วมกับสำนักงาน อย. ดำเนินมาตรการเชิงรุกในการคุ้มครองผู้บริโภค
ตรวจสอบผลิตภัณฑ์น้ำยากันยุงซึ่งมีส่วนผสมวัตถุอันตราย
ชี้!! หากไม่ได้รับอนุญาต / ไม่ได้ขึ้นทะเบียน มีโทษทั้งจำ ทั้งปรับ

      กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดย กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบผู้ประกอบการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดชลบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ ที่จำหน่ายน้ำยากันยุงที่ใช้กับเครื่องพ่นไอน้ำหรือเครื่องพ่นไอหมอก ด้วยการโฆษณาผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยอ้างว่าน้ำยากันยุงดังกล่าวเป็นสมุนไพร สังเคราะห์จากดอกไม้ธรรมชาติ ชื่อ “สารไพรีทรินส์” (Pyrethrins) แต่จากการสืบสวนขยายผลและนำผลิตภัณฑ์ที่ล่อซื้อจากผู้ประกอบการดังกล่าวส่งตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ทางเคมีด้านวัตถุอันตรายกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผลการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ทางเคมีด้านวัตถุอันตราย พบ “สารเมโทฟลูทริน" (Metofluthrin) ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นส่วนผสม

      สำหรับ “สารไพรีทรินส์” (Pyrethrins) ที่ผู้ประกอบการกล่าวอ้างว่าเป็นส่วนผสมในน้ำยา
กันยุงนั้นเป็นสารที่สลายตัวได้ดีในสิ่งแวดล้อมเมื่อถูกความร้อนหรือแสงแดด และองค์การอนามัยโลกจัดให้อยู่ในกลุ่มสารกำจัดแมลงที่มีอันตรายน้อยต่อมนุษย์และสัตว์เลือดอุ่น

      ส่วน “สารเมโทฟลูทริน” (Metofluthrin) ที่ตรวจวิเคราะห์พบ เป็นสารสังเคราะห์
เพื่อเลียนแบบสารไพรีทรินส์ (Pyrethrins) ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ ถือเป็นสารเคมี
ในกลุ่มไพรีทรอยด์ (Pyrethoids) ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุขที่นำมาใช้เพื่อประโยชน์แก่การระงับ ป้องกัน ควบคุม ไล่ กำจัดแมลงและสัตว์อื่น จึงจัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ.2556 บัญชี 4.2 รายชื่อกลุ่มสารควบคุม ลำดับที่ 11 ที่กำหนดให้ผู้ผลิต ผู้นําเข้า ผู้ส่งออกหรือผู้มีไว้ในครอบครองต้องได้รับใบอนุญาต โดยผู้ผลิตหรือมีสารเมโทฟลูทริน (Metofluthrin) หรือวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ชนิดอื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต อาจเข้าข่ายมีความผิดฐานผลิต หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ซึ่งมีโทษตามมาตรา 73 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        นอกจากนี้ อาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานผลิตหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนตามมาตรา 45 (4) ซึ่งมีโทษตามมาตรา 78 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        หากผู้ประกอบการรายใดมีการโฆษณาในสื่อโซเชียลมีเดีย ที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์ใดใส่สารไพรีทรินส์ (Pyrethrins) ซึ่งเป็นสารเคมีคนละตัวกันกับสารเมโทฟลูทริน (Metofluthrin) อาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จฯ ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 อีกฐานหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จะร่วมกันบูรณาการตามมาตรการเชิงรุกในการคุ้มครองผู้บริโภคด้วยการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายกับผู้ประกอบการที่มีพฤติการณ์ฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวอย่างต่อเนื่องและเข้มงวด 

        และขอแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของวัตถุอันตรายดังกล่าว เนื่องจากตามข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สารออกฤทธิ์กลุ่มไพรีทรอยด์ (Pyrethroids) ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 นี้ หากสัมผัส จะก่อให้เกิดการระคายเคือง โดยเฉพาะคนที่ผิวแพ้ง่าย จะมีอาการคัน มีผื่นแดง หากเข้าตาอาจก่อให้เกิดการระคายเคือง เช่น ตาแดง เจ็บตา หรือน้ำตาไหล 
และหากได้รับในปริมาณสูง จะมีอาการ มึนงง ปวดศีรษะ อาเจียน กล้ามเนื้อกระตุก อ่อนเพลีย ชัก 
หรือหมดสติ เสียชีวิตได้