ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษา กรณี การทุจริตโครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยข้าราชการตำรวจ (แฟลต) จำนวน 163 แห่ง ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
published: 3/31/2023 1:48:45 PM updated: 3/31/2023 1:48:45 PM 1359 views THศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษา กรณี การทุจริตโครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยข้าราชการตำรวจ (แฟลต) จำนวน 163 แห่ง ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ตามที่ปรากฏเป็นข่าว กรณีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาคดีทุจริตโครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยข้าราชการตำรวจ (แฟลต) จำนวน 163 แห่ง ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยสั่งจำคุกอดีตข้าราชการตำรวจ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ ตามมาตรา 151 ประมวลกฎหมายอาญา และ มาตรา 13 ประกอบมาตรา 10 และมาตรา 12 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 นั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอประชาสัมพันธ์ให้ทราบว่ากรณีดังกล่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น โดยขอให้ตรวจสอบการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยข้าราชการตำรวจ (แฟลต) ขนาด 30 ครอบครัว สูง 5 ชั้น จำนวน 163 แห่ง ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 : ไทยเข้มแข้ง 2555 (SP2) ในวงเงิน 3,709,800,000 บาท ว่าการประมูลน่าจะส่อไปในทางทุจริต และน่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนรายหนึ่งรายใด โดยดำเนินการจัดจ้างด้วยวิธีการประกวดราคาโดยแยกการเสนอราคาเป็นรายภาคและอนุมัติให้จัดจ้างก่อสร้างอาคารรวมกันในครั้งเดียว เป็นเหตุให้การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเกิดความเสียหายต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เสียหายต่องบประมาณแผ่นดิน น่าจะมีการส่อไปในทางทุจริต ผู้รับเหมาทิ้งงาน โดยมีเหตุผลประกอบว่า 1. รัฐบาลเร่งรีบดำเนินการโดยไม่สอบถามความเห็นจากตำรวจในพื้นที่ 2. การแก้ไขกติกาเอื้อประโยชน์ให้เอกชนบางราย ซึ่งผลการประมูลสร้างสถานีตำรวจ 396 แห่ง และก่อสร้างแฟลตตำรวจ 163 หลัง มีผู้ชนะการประมูลเป็นรายเดียวกัน
กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยศูนย์ป้องกันปราบปรามการทุจริต ในขณะนั้น (ปัจจุบัน คือ กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ) เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ โดยอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เห็นว่าการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่และเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 (ในขณะนั้น) จึงได้ส่งสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2556 จนกระทั่งต่อมาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางมีคำพิพากษาจำคุกอดีตข้าราชการตำรวจดังกล่าว