DSI เผยคำพิพากษาศาลจังหวัดนนทบุรี กรณี ผช.โปรดิวเซอร์ซีรีย์วายชื่อดัง ละเมิดทางเพศเด็กอายุ 14 ปี

published: 11/21/2024 3:51:38 PM updated: 11/22/2024 8:38:20 AM 53 views   TH
 

DSI เผยคำพิพากษาศาลจังหวัดนนทบุรี กรณี ผช.โปรดิวเซอร์ซีรีย์วายชื่อดัง ละเมิดทางเพศเด็กอายุ 14 ปี




          ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางบัวทอง โดยความร่วมมือขององค์การโอ.ยู.อาร์.ประเทศไทย (O.U.R. Thailand Charitable Corporation) จับกุมนายพล (นามสมมติ) อายุ 39 ปี ผู้ช่วยโปรดิวเซอร์ของบริษัทผู้ผลิตรายการและซีรีย์ยักษ์ใหญ่ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 ได้ที่สตูดิโอถ่ายทำภาพยนตร์แห่งหนึ่งย่านถนนเกษตร - นวมินทร์ กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีพฤติการณ์กระทำอนาจารเด็ก อายุ 14 ปี โดยใช้ตำแหน่งผู้ช่วยผู้กำกับล่อลวงมากระทำอนาจารในบ้านพักและรถยนต์ส่วนตัว และยังได้เผยแพร่คลิปสู่สาธารณะ ซึ่งต้องความผิดฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปี โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ ใช้กำลังประทุษร้าย โดยบุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้หรือโดยทำให้บุคคลนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่นและพาบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ไม่เกินสิบแปดปีเพื่อการอนาจาร แม้ผู้นั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ จึงมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหารายดังกล่าว ต่อมาพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องตามสำนวนการสอบสวนของคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เป็นคดีหมายเลขดำ

ที่ อ 109/2566

          คดีดังกล่าว ศาลจังหวัดนนทบุรี ได้พิพากษาตามคดีหมายเลขแดงที่ อ 1626/2567 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 ในความผิดฐานกระทำอนาจารเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปี พาเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปี ไปเพื่อการอนาจาร บันทึกสื่อลามกขณะกระทำอนาจาร พรากเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีพรากเด็กอายุเกินสิบห้าแต่ไม่เกินสิบแปดปี และผิดฐานให้สุราแก่เด็กพิพากษาตัดสินจำคุก 19 ปี 7 เดือน และชดใช้ค่าสินไหม จำนวน 450,000 บาท

​          กรมสอบสวนคดีพิเศษขอแจ้งให้ทราบว่ากรณีดังกล่าวเป็นการกระทำเฉพาะบุคคลและไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับบริษัทต้นสังกัด ทั้งนี้ การคัดเลือกนักแสดงควรดำเนินการตามมาตรฐานที่เชื่อถือได้ และขอแจ้งเตือนประชาชนโดยเฉพาะผู้ปกครองที่ต้องการนำบุตรหลานเข้าวงการบันเทิง ควรพิจารณาความน่าเชื่อถือของระบบการคัดเลือก ป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นด้วยการให้ความรู้และทักษะการป้องกันตัวของเด็ก เช่น การรู้สิทธิส่วนตัวและสิทธิที่จะปฏิเสธการการกระทำที่ไม่เหมาะสม ส่งเสริมการสื่อสารและสร้างความไว้ใจในครอบครัว เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และตรวจสอบบุคคลและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเด็ก โดยเฉพาะในวงการบันเทิง เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

Documents related