DSI บุกค้น ๕ จุด บริษัทที่นำสารพาราควอตและไกลโพเซตผสมในผลิตภัณฑ์ชีวภาพอินทรีย์ หลอกขายให้ประชาชน
published: 11/14/2019 3:55:29 PM updated: 11/18/2019 4:34:29 PM 3207 views THDSI บุกค้น ๕ จุด บริษัทที่นำสารพาราควอตและไกลโพเซตผสมในผลิตภัณฑ์ชีวภาพอินทรีย์ หลอกขายให้ประชาชน
วันนี้ (๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๒) พันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และเจ้าหน้าที่จากกองคดีคุ้มครองผู้บริโภคและศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษเขตพื้นที่ ๓ (นครราชสีมา) กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้บูรณาการร่วมกับ กรมวิชาการเกษตร โดยนายสุรเดช ปัจฉิมกุล รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร. เข้าตรวจค้นบริษัทและแหล่งผลิต และจำหน่ายวัตถุอันตราย ประกอบกับ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) จึงได้มอบหมายให้ ว่าที่ร้อยตรีธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเข้าร่วมอำนวยการในการตรวจค้นด้วย โดยเข้าค้น จำนวน ๕ จุดพร้อมกัน ได้แก่
๑.บริษัท สมาร์ท ไบโอเทค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายสารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืช ยี่ห้อ “สมาร์ทไบโอ” รวมทั้ง มีผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นๆ อีกหลายชนิด เช่น สารเสริมประสิทธิภาพกำจัดโรคพืช ยี่ห้อ“ท็อปเคลียร์” สารปรับสภาพน้ำชนิดพิเศษ ยี่ห้อ “สมาร์ท ไบโอ อะควอ” และ ปุ๋ย เป็นต้น ตั้งอยู่ที่ จ.นนทบุรี จำนวน ๒ จุด (คดีพิเศษที่ ๗๓/๒๕๖๒)
๒.บริษัท วีไอพี คิงดอม ๙๙๙ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายสารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืช ยี่ห้อ “ซุปเปอร์ไลค์” รวมทั้งมีผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นๆ อีกหลายชนิด เช่น จำหน่ายยาฆ่าแมลง ยี่ห้อ “ออแกนิค คิล” จำหน่ายปุ๋ยสินแร่นาโน บูม ชนิดเม็ด เป็นต้น ตั้งอยู่ที่ จ.ปทุมธานี จำนวน ๑ จุด และ จ.นครราชสีมา จำนวน ๒ จุด (คดีพิเศษที่ ๗๔/๒๕๖๒) คดีนี้ จากการสืบสวนสอบสวนของกองคดีคุ้มครองผู้บริโภค กรมสอบสวนคดีพิเศษ พบว่า บริษัททั้ง ๒ ดังกล่าวได้มีการนำสารพาราควอตไดคลอไรด์ และไกลโพเซต – ไอโซโพรพิลแอมโมเนียม ซึ่งเป็นสารควบคุมตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ.๒๕๕๖ บัญชี ๑.๑ ลำดับที่ ๓๕๓ และลำดับที่ ๔๓ ที่เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ ๓ มาผสมกับผลิตภัณฑ์ชีวภาพอินทรีย์โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามกฏหมานและขายผ่านทางสื่อโซเซียลมีเดีย ทำให้ผู้ซื้อไปใช้เข้าใจผิดคิดว่าผลิตภัณฑ์ชีวภาพดังกล่าวไม่มีผลต่อสุขภาพ เป็นเหตุทำให้ผู้ซื้อได้รับอันตรายต่อสุขภาพจากการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ซึ่งการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิด ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ ฐาน ผลิต หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ ๓ โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๒ ปี หรือปรับไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ตามมาตรา ๒๓ ประกอบ มาตรา ๗๓ และฐานผลิตหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ ๓ โดยไม่ได้ขึ้นทะเบียน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี หรือปรับไม่เกิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ตามมาตรา ๔๕ (๔) ประกอบ มาตรา ๗๘ ซึ่งเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการคดีพิเศษ (ฉบับที่ ) พ.ศ.๒๕๖๒ เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ ตามมาตรา ๒๑ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. ๒๕๔๗ ซึ่งกำหนดให้คดีความผิดที่มีบทกำหนดโทษตามมาตรา ๗๔ มาตรา ๗๕ มาตรา ๗๖ และมาตรา ๗๘ แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่มีหรือมีมูลน่าเชื่อว่ามีมูลค่าวัตถุอันตรายตั้งแต่สิบล้านบาทขึ้นไป หรือมีจำนวนผู้เสียหายตั้งแต่หนึ่งร้อยคนขึ้นไป โดยคดีนี้จากการสืบสวนเบื้องต้นน่าเชื่อว่ามีความเสียหายมากกว่า ๑๐ ล้านบาทขึ้นไป และมีผู้ได้รับผลกระทบจากวัตถุอันตรายดังกล่าวมากว่า ๑,๐๐๐ ราย นอกจากนี้ อาจเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื่องจากมีการผลิตปุ๋ยเพื่อการค้า โดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนหรือไม่ได้รับอนุญาต อันเข้าข่ายความผิดตามมาตรา๑๒ ประกอบมาตรา ๕๗ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๕ ปี หรือปรับไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจเข้าข่ายความผิด ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ เนื่องจากมีการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่จะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๕ ปี หรือปรับไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๑๔ (๑) อีกด้วย
จากการเข้าตรวจตรวจค้นทั้ง ๕ จุด สามารถยึดผลิตภัณฑ์ต่างๆ และเอกสารที่เกี่ยวข้องได้เป็นจำนวนมาก รวมทั้ง ได้มีการอายัดอุปกรณ์การผลิตไว้เพื่อทำการตรวจสอบ ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ จะได้เร่งดำเนินคดีและสรุปสำนวนเพื่อส่งพนักงานอัยการฟ้องคดีต่อไป