DSI ร่วมกับ อย. และ สบส. บุกค้น 12 จุด เครือข่ายบริษัทผู้นำเข้า และจำหน่ายสินค้าเสริมความงาม จากต่างประเทศมูลค่ากว่า 80 ล้านบาท

published: 6/13/2019 3:55:00 PM updated: 6/13/2019 3:55:00 PM 2168 views   TH
 

DSI ร่วมกับ อย. และ สบส. บุกค้น 12 จุด เครือข่ายบริษัทผู้นำเข้า และจำหน่ายสินค้าเสริมความงาม จากต่างประเทศมูลค่ากว่า 80 ล้านบาท

   

   

       ในวันนี้ (วันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน 2562) เวลา 13.00 น. นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา พร้อมด้วย นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์  เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) นำโดย ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ นำโดย พันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายมณฑล แก้วเก่า รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พันตำรวจตรี จตุพล บงกชมาศ ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการพิเศษ พันตำรวจโท พเยาว์ ทองเสน ผู้อำนวยการกองคดีทรัพย์สินทางปัญญา และพันตำรวจโท นิรุติ พัฒนรัฐ รองผู้อำนวยการกองคดีทรัพย์สินทางปัญญา ร่วมกันแถลงข่าวผลการบุกทลายเครือข่ายบริษัทผู้นำเข้าและจำหน่ายสินค้าเสริมความงามจากต่างประเทศที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา จำนวน 12 จุดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

       กรณีดังกล่าว สืบเนื่องจาก กองคดีทรัพย์สินทางปัญญา กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้สืบสวนทราบว่ามีขบวนการนำเข้ามาในราชอาณาจักร และจำหน่ายสินค้าเสริมความงาม เช่น โบท็อกซ์ ฟิลเลอร์ เป็นผลิตภัณฑ์ยาที่ละเมิดเครื่องหมายการค้าทั้งปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักร และผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาจาก อย.จำหน่ายให้กับลูกค้าหลายกลุ่มด้วยกัน ได้แก่ กลุ่มลูกค้าที่เป็นคลินิกเสริมความงามของขบวนการและคลินิกเสริมความงามอื่นๆ
   
 
       ในกรุงเทพมหานคร ตลอดจนกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่ซื้อยาไปใช้เอง และกลุ่มลูกค้าที่นำยาไปรับจ้างฉีดให้กับบุคคลอื่นทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด โดยขบวนการดังกล่าวได้กระจายสินค้าทางไปรษณีย์เอกชน หรือฝากส่งให้กับรถจักรยานยนต์รับจ้างส่งของเพื่อนำส่งสินค้าไปส่งให้กับลูกค้าอีกต่อหนึ่ง ส่วนลูกค้าที่อยู่ต่างจังหวัดจะฝากส่งต่อให้กับรถตู้โดยสารประจำทาง หรือรถทัวร์ประจำทางตามสถานีขนส่งแล้วแต่กรณี และยังมีเครือข่ายที่เป็นลูกค้ารับสินค้ามาจำหน่ายให้กับลูกค้าผ่านอินสตาแกรม (IG) แอพพลิเคชั่นไลน์ โดยเช่าห้องพักในอาคารเป็นสถานที่เก็บสินค้าและส่งสินค้าประเภทยาฉีดโบท็อกซ์ ยาฉีดกลูตาไธโอน ยาฉีด สเต็มเซลล์ ยาฉีดรกแกะ และยาฉีดลดไขมัน และยาเสริมความงามประเภทอื่น เป็นต้น โดยนำสินค้าไปกระจายเก็บซุกซ่อนในสถานที่ต่างๆ หลายจุดทั่วกรุงเทพมหานคร เมื่อการสืบสวนรวมรวมพยานหลักฐานได้แน่ชัด ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าว เป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่มีลักษณะการกระทำความผิดเป็นแหล่งจำหน่าย และเป็นสถานที่เก็บสินค้าที่ได้นำเข้ามาในราชอาณาจักรอันมีมูลค่าสูงตามท้องตลาด อันเป็นอำนาจของกรมสอบสวนคดีพิเศษที่จะดำเนินคดี อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษจึงได้อนุมัติให้สอบสวนกรณีนี้เป็นคดีพิเศษที่ 30/2562 
 ต่อมาในวันที่  12 มิถุนายน 2562 จึงได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง พร้อมสนธิกำลังจัดชุดปฏิบัติการร่วมกัน 12 ชุด (รายละเอียดปรากฏตามเอกสารแนบ) เข้าปฏิบัติการตรวจค้น ตามหมายค้นของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ทั้งนี้ได้มีตัวแทนจากผู้เสียหายเข้าร่วมปฏิบัติการตรวจค้นเพื่อชี้ยืนยันเครื่องหมายสินค้าด้วย
 
  
       ผลการตรวจค้นทั้ง 12 จุด พบของกลางเป็นยาละเมิดเครื่องหมายการค้า ยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา และผลิตภัณฑ์เสริมความงามจำนวนประมาณ? 400,000 ชิ้น มีมูลค่าของกลางประมาณ 80 ล้านบาท (ซึ่งจนถึงปัจจุบันยังตรวจนับและแยกประเภทของกลางไม่แล้วเสร็จเนื่องจากมีปริมาณจำนวนมาก) และการกระทำความผิดในคดีนี้ เป็นความผิดที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ ประกอบด้วย พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510, พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558, พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 “การปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา นับเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล และ
ของกรมสอบสวนคดีพิเศษซึ่งได้ให้ความสำคัญมาโดยตลอดโดยเฉพาะในการบูรณาการและสนธิกำลังร่วมกันตรวจค้นในครั้งนี้ได้ตรวจยึดสินค้าที่เป็นยาและผลิตภัณฑ์เสริมความงามจำนวนมาก ซึ่งสินค้าดังกล่าวมีผลกระทบต่อสุขภาพและอนามัยของผู้บริโภคโดยตรง  นอกจากนี้ยังส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการตัดสิทธิพิเศษทางการค้าทำให้สินค้าไทยบางรายการไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ เนื่องจากประเทศไทยได้รับการจัดอันดับตามมาตรา 301 พิเศษ ของประเทศสหรัฐอเมริกาให้อยู่ในระดับ Watch List (WL) ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษมุ่งหวังจะให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากทุกบัญชีที่ถูกจับตามองของต่างประเทศ และในการดำเนินการของกรมสอบสวนคดีพิเศษก็พร้อมที่จะดำเนินการกับผู้กระทำความผิด โดยใช้กฎหมายทุกประเภทกับผู้กระทำความผิด รวมถึงกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินด้วย นอกจากนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษยังพร้อมที่จะประสานและให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการ หรือภาคเอกชน ในอันที่จะร่วมมือกันปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาให้หมดไปจากประเทศไทย” พันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าว
  
   

Lasted Post

Related Post