“DSI สรุปผลการดำเนินคดีนายวิรพล สุขผล หรือ พระวิรพล ฉัตติโก หรือ หลวงปู่เณรคำ”

published: 18/10/2561 10:01:48 updated: 18/10/2561 10:01:48 2954 views   TH
 

“DSI สรุปผลการดำเนินคดีนายวิรพล สุขผล หรือ พระวิรพล ฉัตติโก หรือ หลวงปู่เณรคำ”

          ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินคดีอาญา กรณีนายวรัญชัย โชคชนะ ประธานกลุ่มพุทธศาสนิกชน มีหนังสือลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2556 ถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอให้สืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง กรณี พระวิรพล ฉัตติโก หรือ สุขผล หรือหลวงปู่เณรคำ มีพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมและอาจมีการกระทำที่ผิดกฎหมายหลายประการ ซึ่งต่อมากรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับเรื่องไว้ทำการสอบสวนเป็นคดีพิเศษ 2 คดี ประกอบด้วย คดีพิเศษที่ 151/2556 และคดีพิเศษที่ 186/2556 และศาลอาญามีการออกหมายจับไว้ ซึ่งต่อมานายวิรพลฯ ได้หลบหนีคดีออกนอกราชอาณาจักร ไปพำนักอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2556 กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงได้ดำเนินการขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนผ่านสำนักงานอัยการสูงสุดซึ่งเป็นผู้ประสานงานกลาง ตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551 จนสามารถนำตัวกลับเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อดำเนินคดีได้ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 นั้น

                   ขณะนี้ ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาลงโทษพระวิรพล ฉัตติโก หรือ สุขผล หรือหลวงปู่เณรคำ ทั้ง 2 คดีแล้ว ดังนี้

     (1) คดีพิเศษที่ 151/2556 ในความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ความผิดฐานฉ้อโกงและฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา รวมทั้งความผิดฐานฟอกเงิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และพนักงานอัยการคดีพิเศษได้ฟ้องนายวิรพลฯ เป็นจำเลยต่อศาลอาญา

     คดีดังกล่าวศาลอาญา ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2561 มีสาระสำคัญว่า จำเลยระหว่างวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 ถึง 27 มิถุนายน 2556 ต่อเนื่องกัน จำเลยได้อาศัยความเป็นพระภิกษุ ในฐานะประธานสงฆ์วัดป่าขันติธรรม จังหวัดศรีสะเกษ และความศรัทธาของประชาชน ได้บังอาจหลอกลวงว่าตนเองนิมิต (ฝัน) พบองค์อินทร์ ขอให้สร้างพระแก้วมรกตองค์ใหญ่ที่สุดในโลก และสร้างมหาวิหารครอบองค์พระ โดยใช้หยกเขียวแท้จากประเทศอิตาลี และสร้างเครื่องทรงพระแก้ว 3 ฤดู ด้วยทองคำแท้ และก่อสร้างเสาวิหารแก้ว 199 ต้น ต้นละ 3 แสนบาท รูปหล่อพระทองคำ (รูปเหมือนจำเลย) ก่อสร้างวิหารสำหรับประชาชนที่วัดป่าฯ สาขา 1 จังหวัดอุบลราชธานี สร้างวัดที่จังหวัดสุพรรณบุรี รวมทั้งการจัดซื้อเรือจากสหรัฐฯ เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยนายวิรพลฯ ประกาศชักชวนให้ประชาชนนำเงิน ทองคำ และทรัพย์สินมาบริจาคกับตนที่วัดป่าฯ โดยจัดตู้บริจาค 8 ตู้ นอกจากนี้จำเลยยังได้ใช้เว็บไซต์ www.luangpunenkham.com เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับการจัดสร้างสิ่งต่าง ๆ จนมีผู้เสียหายหลงเชื่อว่าจำเลยเป็นพระปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เข้าร่วมบริจาคเงินและทรัพย์สินต่าง ๆ จำนวนมาก แล้วนำไปซื้อรถปอร์เช่ รถตู้ รถกระบะ หลายสิบคัน รวมทั้งใช้เงินเกินความจำเป็นความเป็นสงฆ์ กระทั่งตนก็ถูกศาลแพ่งริบทรัพย์ 43,478,992 บาท นั้น ฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยนั้นผิดตามฟ้อง ซึ่งการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรม เป็นกระทงความผิดไป จึงพิพากษาให้จำคุกฐานฉ้อโกงประชาชน มาตรา 343 รวม 29 กระทง กระทงละ 3 ปี  รวม 87 ปี, พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (1) เป็นเวลา 3 ปี และความผิดฐานฟอกเงิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 รวม 12 กระทง กระทงละ 2 ปี เป็นจำคุก 24 ปี โดยรวมจำคุกจำเลยทั้งสิ้น 114 ปี แต่ตามกฎหมายเมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว จำคุกสูงสุดตามกฎหมาย มาตรา 91 (2) แล้วได้ 20 ปี และให้ชดใช้เงินกับผู้เสียหาย 29 ราย ตามจำนวนที่ได้ฉ้อโกงไป

     (2) คดีพิเศษที่ 186/2556 ในความผิดฐานโดยปราศจากเหตุอันสมควรพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร และกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ซึ่งมิใช่ภรรยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ตามประมวลกฎหมายอาญา

     คดีดังกล่าวศาลอาญา ได้มีคำพิพากษาในวันนี้ (วันที่ 17 ตุลาคม 2561) มีสาระสำคัญว่า กรณีเมื่อเดือนมกราคม ปี 2543 ถึงปี 2544 นายวิรพล สุขผล หรือ พระวิรพล ฉัตติโก หรือ หลวงปู่เณรคำ จำเลย ได้พรากผู้เยาว์เด็กหญิงผู้เสียหายซึ่งขณะเกิดเหตุมีอายุระหว่าง 13 ถึง 14 ปีเศษ ไปจากยายซึ่งเป็นผู้ปกครอง ไปเพื่อการอนาจาร และกระทำชำเราหลายครั้ง เป็นเวลาประมาณ 2 ปี จนกระทั่งมีบุตรด้วยกัน 1 คน ซึ่งในชั้นสอบสวน จำเลยปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาว่าไม่ได้พรากผู้เยาว์

     ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พฤติกรรมของจำเลย มีการเกี้ยวพาราสีผู้เสียหาย ขับรถมารับผู้เสียหายที่หน้าโรงเรียน แล้วพาไปส่งที่บ้านหลายครั้ง พากันไปมีเพศสัมพันธ์ในที่ต่าง ๆ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากยายซึ่งเป็นผู้ปกครอง แม้ผู้เสียหายซึ่งขณะนั้นเป็นผู้เยาว์จะยินยอมก็ตาม ประกอบกับผลตรวจ DNA ที่เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้นำบุหรี่ เศษจีวร และพระเครื่องของจำเลย ไปตรวจ DNA เปรียบเทียบกับบุตรชายของผู้เสียหาย และพบว่ามีความสัมพันธ์เป็นบิดากับบุตรจริง โดยจำเลยสามารถยืนยันความบริสุทธิ์ได้ด้วยการตรวจ DNA โดยตรง แต่จำเลยกลับไม่ยินยอม จึงให้สันนิษฐานว่า DNA เป็นไปตามผลตรวจบนเศษบุหรี่และจีวร

     พยานหลักฐานทั้งโจทก์จำเลยรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่ากระทำชำเราผู้เสียหายซึ่งขณะนั้นอายุไม่ถึง 15 ปี อยู่ภายใต้การปกครองของผู้เสียหายที่ 1 ที่มีศักดิ์เป็นยายจริง การกระทำจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 วรรคแรก, มาตรา 317 วรรค 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษจำเลยฐานผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม จำคุก 8 ปี และฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร ให้ลงโทษจำคุก 8 ปี รวมลงโทษทั้งสิ้น 16 ปี และให้นับโทษต่อจากคดีฉ้อโกงที่หลอกลวงให้ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินและทองคำเพื่อนำไปสร้างพระแก้วมรกต และมหาวิหารครอบองค์พระ ที่ศาลลงโทษจำคุก 114 ปี แต่ตามกฎหมายให้ลงโทษสูงสุด 20 ปี รวมโทษจำคุก 2 คดี 36 ปี

      กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงขอประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับนายวิรพล สุขผล หรือ   พระวิรพล ฉัตติโก หรือ หลวงปู่เณรคำ ทั้งหมดให้สาธารณชนทราบ และเรื่องนี้เป็นความสำเร็จในการปฏิบัติงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างกรมสอบสวนคดีพิเศษกับสำนักงานอัยการสูงสุดในฐานะผู้ประสานงานกลางตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งผู้ร้ายข้ามแดน และเจ้าหน้าที่ของทางการประเทศสหรัฐอเมริกาจนสามารถทำให้การบังคับใช้กฎหมายในเรื่องนี้ประสบความสำเร็จ และเป็นมาตรฐานในการปฏิบัติงานในเรื่องลักษณะเดียวกันต่อไป

 

คณะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ

17 ตุลาคม 2561

 

Documents related

Lasted Post

Related Post