DSI สอบกรณีมีการกล่าวหาว่า สหกรณ์เคหะสถานเมืองโคราช จำกัด ทุจริต
published: 8/9/2560 16:43:40 updated: 8/9/2560 16:43:40 3330 views THDSI สอบกรณีมีการกล่าวหาว่า สหกรณ์เคหะสถานเมืองโคราช จำกัด ทุจริต
ในระหว่างวันที่ 7 กันยายน 2560 ถึงวันที่ 13 กันยายน 2560 นายภาสกร เจนประวิทย์ รองผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค และหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ นายประมุข วิจารณ์ปรีชา ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ พันตำรวจโท บรรยวัสถ์ ไตรสุทธิวงษ์ เลขานุการคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เดินทางลงพื้นที่เกิดเหตุที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อสอบสวนกรณีร้องเรียนขอให้ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องการทุจริตภายในสหกรณ์เคหะสถานเมืองโคราช จำกัด จังหวัดนครราชสีมา ที่คณะกรรมการคดีพิเศษมีมติเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2559 ให้สอบสวนเป็นคดีพิเศษ ตามคดีพิเศษที่ 181/2559 โดยสอบสวนผู้เสียหาย สมาชิกสหกรณ์ฯและพยาน รวมทั้งหมดประมาณ 250 คน ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา และที่ทำการสำนักงานสหกรณ์ฯ
เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2553 สหกรณ์ฯ ได้ขอจดทะเบียนเป็นประเภทสหกรณ์บริการ เพื่อทำโครงการสร้างบ้านพักอาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยขายให้กับสมาชิก โดยให้สมาชิกออมเงินวันละ 40 บาท จึงนำเงินส่วนนี้และเงินกู้ยืมจากบุคคล สถาบันการเงิน และสหกรณ์อื่นๆ รวมประมาณ 600 ล้านบาท เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการสร้างบ้านพักอาศัย โดยดำเนินการ 6 โครงการ แต่แล้วเสร็จ 4 โครงการ สร้างบ้านพักอาศัยได้ประมาณ 800 หลัง และให้สมาชิกเข้าอยู่ด้วยการทำสัญญาเช่าซื้อ 15 ปี ปัจจุบันสหกรณ์ฯมีสมาชิกประมาณ 4,000คน และมีคณะกรรมการสับเปลี่ยนหมุนเวียนบริหารงานสหกรณ์ฯ มาแล้วทั้งหมด 9 ชุด แต่ข้อมูลจากการร้องเรียนและการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ พบว่ามีการโฆษณาชักชวนประชาชนทั่วไปให้มาเป็นสมาชิกเพื่อระดมเงินทุนใช้ในการการก่อสร้างบ้านพักอาศัยที่มีการก่อสร้างไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2553 ที่บังคับให้การก่อสร้างกรณีนี้ต้องขออนุญาตก่อนทำการก่อสร้าง จึงส่งผลทำให้สมาชิกที่เช่าซื้อบ้านพักอาศัยในโครงการไม่ได้รับการโอนกรรมสิทธิ์เมื่อมีการผ่อนชำระครบตามสัญญาเช่าซื้อ แม้ว่าจะได้สิทธิพักอาศัยในระหว่างผ่อนชำระก็ตาม และมีสมาชิกบางส่วนเข้าร่วมโครงการแต่ไม่ได้รับสิทธิในโครงการนี้ ตลอดทั้งมีการนำบริษัทที่เป็นพรรคพวกของกรรมการเข้ามาดำเนินการก่อสร้างเกือบทั้งหมด ดังนั้นการที่ให้เช่าซื้อบ้านแต่ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ จึงเป็นการหลอกลวงสมาชิกอันเป็นกระทำที่มีพฤติการณ์เข้าข่ายเป็นความผิดอาญาฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และนอกจากนี้จากการตรวจสอบพบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมด้วยว่า ตั้งแต่เริ่มโครงการถึงปี พ.ศ. 2557 ซึ่งเป็นห้วงความรับผิดชอบของคณะผู้จัดตั้งสหกรณ์ และคณะกรรมการดำเนินงานชุดที่ 1 ถึงชุดที่ 6 มีการทุจริตในการบริหารงานด้วยการยักยอกเงินสหกรณ์ โดยอ้างว่านำไปใช้ก่อสร้าง จ่ายค่าแรงงานและค่าใช้จ่ายอื่นๆ หลายครั้ง จนทำให้สหกรณ์ได้รับความเสียหายรวมเป็นเงินประมาณ 100 ล้านบาท และเป็นเหตุทำให้สหกรณ์มีภาระที่จะต้องชดใช้หนี้เงินกู้ยืมมาลงทุนในโครงการประมาณ 600 ล้านบาท การทุจริตดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่เข้าข่ายความผิดอาญาฐานยักยอก ซึ่งการกระทำทั้งสองส่วนส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ อันมีลักษณะเข้าข่ายที่ต้องสอบสวนเป็นคดีพิเศษ ตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสอบสวนเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าวทุกราย
****************************************************************