DSI จับมือ ปปง. ประสานความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน “เน้นยึดทรัพย์อาชญากรข้ามชาติ

published: 1/11/2565 8:17:01 updated: 1/11/2565 9:32:54 1737 views   TH
 

DSI จับมือ ปปง. ประสานความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน “เน้นยึดทรัพย์อาชญากรข้ามชาติ”


        ตามที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม  ได้มอบหมายให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินการตัดวงจรการกระทำผิด  โดยมุ่งเน้นให้ดำเนินการยึดและอายัดทรัพย์สินของกลุ่มเครือข่ายผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และอาชญากรรมที่เป็นภัยร้ายแรง  มิให้มีศักยภาพในการกระทำผิดอีก ตามความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันการแพร่กระจายยาเสพติด อันเป็นหลักประกันให้กับประชาคมโลก และสร้างความเชื่อมั่นต่อการบังคับใช้กฎหมาย  ให้ครอบคลุมทุกด้านอย่างยั่งยืน นั้น
        วานนี้ (วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม 2565) ที่สำนักงาน ปปง.  นายไตรยฤทธิ์  เตมหิวงศ์  อธิบดี กรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วย ร้อยตำรวจเอก ปิยะ  รักสกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และคณะ  เข้าพบ นายเทพสุ  บวรโชติดารา รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน       รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และคณะ เพื่อหารือในความร่วมมือการปฏิบัติการเชิงบูรณาในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน 3 ด้าน คือ ด้านการป้องกัน ด้านปราบปราม และด้านการพัฒนา ภายใต้ภารกิจหลัก ดังนี้ 
        1. ภารกิจด้านการตรวจสอบ วิเคราะห์เส้นทางการเงิน  สำนักงาน ปปง. จะสนับสนุนข้อมูล  เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ในการสืบสวน สอบสวน หรือสืบสวนขยายผลเครือข่ายการกระทำผิดตาม พรบ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 โดยจะร่วมกันพัฒนาหลักสูตรเฉพาะสำหรับการพัฒนาบุคลากรของหน่วยงานทั้งสองด้วย
        2. ภารกิจด้านการสอบสวน  ด้านสำนักงาน ปปง. จะดำเนินการนำข้อมูลสำนวนคดีที่มีหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดที่มีมูลค่าตั้งแต่ 300 ล้านบาทขึ้นไป และ ที่ส่งเรื่องให้อัยการพิจารณาเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน หรือชดใช้คืนแก่ผู้เสียหายแทนการสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน และที่ปรากฎพยานหลักฐานที่เชื่อได้ว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน ที่มีลักษณะตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) (ก)-(จ) แห่ง พรบ.การสอบสวนคดีพิเศษ  พ.ศ.2547  โดยทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ  จะส่งมอบสำนวนคดีพิเศษ ทรัพย์สิน (หากมี) ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ให้สำนักงาน ปปง. ดำเนินการตาม พรบ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 
        3. ภารกิจด้านการสืบสวนหาข้อมูล และทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ จะให้การสนับสนุนด้านการสืบสวนหาข้อมูล ข่าวสาร และของบุคคลหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน หรือความผิดฐานฟอกเงิน ตามที่ได้รับแจ้งจากสำนักงาน ปปง.
        ทั้งนี้ หน่วยงานทั้งสอง ได้หารือกันถึงแนวทางความร่วมมือในการวิเคราะห์ แลกเปลี่ยน และเชื่อมโยงข้อมูลการดำเนินคดีทรัพย์สินที่อาจเป็นคดีพิเศษ  และข้อมูลการดำเนินคดีที่มีทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด  โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ จะแลกเปลี่ยนข้อมูลการดำเนินคดีอาญามูลฐาน หรือคดีอาญาฐานฟอกเงินที่ได้ทำการสอบสวนเป็นคดีพิเศษ และข้อมูลทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดให้ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ดำเนินมาตรการทางแพ่งกับทรัพย์สิน และสำนักงาน ปปง. จะดำเนินการส่งข้อมูลการดำเนินมาตรการทางแพ่งกับทรัพย์สิน ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดให้   กรมสอบสวนคดีพิเศษ  เพื่อดำเนินคดีอาญาฐานฟอกเงินกับบุคคลผู้กระทำความผิด อันเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานตามภารกิจ และความเชี่ยวชาญของแต่ละหน่วยงาน  เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
        นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือถึงความร่วมมือทางด้านการข่าวที่เกี่ยวกับมาตรการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน รวมถึงความร่วมมือในด้านการพัฒนาหลักสูตร และการอบรม หรือการประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างหน่วยงาน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ  เพื่อสนองต่อนโยบายในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินของรัฐบาลเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมาย เกิดประสิทธิภาพและได้ผลอย่างสูงสุด       ทั้งยังเป็นการอำนวยความยุติธรรม เข้าถึงง่าย ได้รับการบังคับได้จริงอย่างยั่งยืน ต่อไป