DSI เผยความคืบหน้า กรณี บริษัท อีเกิ้ลเกตส์ กรุ๊ป จำกัด กับพวก มีพฤติการณ์เป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ หลอกลวงผู้เสียหายให้ร่วมลงทุน ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 200 ล้านบาท

published: 13/11/2563 10:22:45 updated: 13/11/2563 10:24:17 3013 views   TH
 

DSI เผยความคืบหน้า กรณี บริษัท อีเกิ้ลเกตส์ กรุ๊ป จำกัด กับพวก มีพฤติการณ์เป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ หลอกลวงผู้เสียหายให้ร่วมลงทุน ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 200 ล้านบาท

           

           ตามที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการสอบสวนคดีพิเศษที่ 103/2560 กรณี บริษัท อีเกิ้ลเกตส์ กรุ๊ป จำกัด กับพวก มีพฤติการณ์เป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ หลอกลวงผู้เสียหายให้ร่วมลงทุนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยอ้างว่าเป็นบริษัทซื้อขายดัชนีหุ้นมาจากสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งบริษัทมาแล้วกว่า 10 ปี ซึ่งพฤติการณ์ของขบวนการนี้มีการกระทำความผิดในลักษณะองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ มีการแบ่งหน้าที่กันทำ โดยให้กลุ่มหนึ่งจัดบรรยายชักชวนผู้เสียหายในประเทศไทยให้หลงเชื่อร่วมลงทุนกับบริษัท และอีกกลุ่มหนึ่งทำหน้าที่ในการยักย้ายถ่ายโอนเงินหรือทรัพย์สินที่ได้จากผู้เสียหาย ซึ่งคดีนี้มีผู้เสียหายประมาณ 250 ราย มูลค่าความเสียหายประมาณ 235 ล้านบาท ต่อมา กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการติดตามจับกุมตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีทั้งสิ้น 21 ราย เป็นผู้ต้องหาชาวไทย 19 ราย และชาวต่างชาติ 2 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินคดีในชั้นศาล ส่วนผู้ต้องหาชาวต่างชาติรายอื่น อยู่ระหว่างประสานงานกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต่างชาติเพื่อติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดี นั้น

            คดีนี้ พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 ได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหากลุ่มแรก รวม 13 ราย โดยเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2563 ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 10 ที่ 12 และที่ 13 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติฯ พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นรายกระทง รวมโทษจำคุกคนละ 10 ปี ทางนำสืบจำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 6 ปี 8 เดือน และปรับจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 คนละ 1,000,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และให้จำเลยร่วมกันคืนต้นเงินให้แก่ผู้เสียหายทั้งหมดพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 11 ให้ยกฟ้อง

            ต่อมา พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้ต้องหาอีกกลุ่มหนึ่ง รวม 6 ราย เป็นจำเลยที่ 1 - 6 ซึ่งรวมถึงตัวการใหญ่ชาวไต้หวันที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินและแชร์ลูกโซ่หลายกลุ่ม ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563 ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาในคดีนี้ว่า จำเลยที่ 1 - 6 มีความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา และจำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติฯ เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำคุก จำเลยที่ 1 กำหนด 50 ปี จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 คนละ 20 ปี รวมทั้งให้จำเลยทั้งหกร่วมกันคืนหรือใช้เงินให้แก่ผู้เสียหาย 12 ราย ตามจำนวนที่ผู้เสียหายแต่ละรายนำมาร่วมลงทุน และยังไม่ได้รับคืน พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 8 ต่อปี นับแต่วันที่ได้กู้ยืมไป

            นอกจากนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ยังได้ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ต้องหาและบุคคลที่เกี่ยวข้องในความผิดฐานฟอกเงินอีกด้วย

            กรมสอบสวนคดีพิเศษมีความมุ่งมั่นในการสืบสวน สอบสวน ป้องกัน และปราบปราม อาชญากรรมพิเศษ โดยเฉพาะกลุ่มองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ อย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอฝากเตือนไปยังประชาชน ให้ระมัดระวังการชักชวนให้ลงทุนที่อ้างว่าจะให้ผลตอบแทนสูงกว่าอัตราที่สถาบันการเงินพึงจ่ายได้ แม้ว่าจะมีการสร้างความน่าเชื่อถือด้วยวิธีต่างๆ หรือการโฆษณาชวนเชื่อว่า มีชาวต่างชาติเป็นเจ้าของ ขออย่าได้ไว้วางใจโดยเฉพาะหากมีพฤติการณ์ในการชักชวนลงทุนดังกล่าว ขอให้ตรวจสอบความเป็นมาของบริษัทหรือประวัติของผู้ชักชวนให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน และหากประชาชนมีข้อมูลหรือเบาะแส สามารถแจ้งมายังกรมสอบสวนคดีพิศษได้ที่ เลขที่ 128 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร หรือทางสายด่วน DSI Call Center 1202 (โทร.ฟรีทั่วประเทศ) โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษจะเก็บรักษาข้อมูลผู้แจ้งเบาะแสไว้เป็นความลับ

 

Documents related

Lasted Post

Related Post