อธิบดี DSI มีความเห็นควรสั่งฟ้อง 5 นายหน้าหลอกลวงหญิงไทย ไปทำงานในแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์
published: 12/1/2567 16:46:20 updated: 12/1/2567 16:46:20 783 views THอธิบดี DSI มีความเห็นควรสั่งฟ้อง 5 นายหน้าหลอกลวงหญิงไทย ไปทำงานในแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ที่แขวงบ่อแก้ว
ประเทศลาวในข้อหาสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์
ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการสอบสวนเป็นคดีพิเศษที่
225/2565 กรณี มูลนิธิพิทักษ์สตรี (Alliance Anti Trafic (AAT)) ได้รับแจ้งขอความช่วยเหลือจากเครือข่ายอาสาสมัคร
กรณีมีหญิงไทยจำนวน 3 คน ร้องขอความช่วยเหลือ เนื่องจากมีนายหน้าเป็นหญิงไทยและสามีชาวมาเลเซีย
หลอกลวงนำไปแสวงหาประโยชน์ในลักษณะบังคับใช้แรงงานให้ทำงานเป็นแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ โรมานซ์สแกรม ชักชวนเหยื่อให้ลงทุน
อันเป็นการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ณ
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นั้น
คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กองคดีการค้ามนุษย์ ได้รวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเสร็จสิ้น
และอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้มีความเห็นควรสั่งฟ้อง นางสาวพิมพา (ขอสงวนนามสกุล)
ผู้ต้องหากับพวก รวม 5 ราย ในความผิดฐาน
“สมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ด้วยการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการบังคับใช้แรงงาน
การเอาคนลงเป็นทาสหรือมีลักษณะคล้ายทาส และการอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคลไม่ว่าบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม
และผู้สมคบคนหนึ่งคนใด ได้ลงมือกระทำความผิดตามที่ได้สมคบกัน, ร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปหรือโดยสมาชิกองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ
การเอาคนลงเป็นทาสหรือมีลักษณะคล้ายทาส
และการอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคลไม่ว่าบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม
อันเป็นการกระทำเพื่อให้ผู้เสียหายที่ถูกพามาหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรตกอยู่ในอำนาจของผู้อื่นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
ร่วมกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด
ไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย
เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น
หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้นไม่กระทำการนั้นหรือจำยอมต่อสิ่งนั้นร่วมกันใช้อุบายหลอกลวง
ขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้ายใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม
หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด พาหรือส่งคนออกไปนอกราชอาณาจักร
ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551
และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 6 มาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 11 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309 มาตรา 320 ประกอบมาตรา 83
คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้นำส่งสำนวนคดีพิเศษให้กับพนักงานอัยการสำนักงานคดีค้ามนุษย์เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567 พร้อมตัวผู้ต้องหา จำนวน 2 ราย ที่ได้จับกุมตัว เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ขณะนี้ฝากขัง ณ ศาลอาญา ส่วนผู้ต้องหาอีก จำนวน 3 ราย หลบหนี พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ขออนุมัติ ศาลอาญาออกหมายจับไว้แล้วและจะดำเนินการติดตามจับกุมมาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป