การดำเนินคดีข้อหาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีบริษัท โรงบรรจุแก๊ส กาญจนบุรี จำกัด
เผยแพร่: 5 ส.ค. 2559 9:48 น. ปรับรุง: 5 ส.ค. 2559 9:48 น. เปิดอ่าน 2899 ครั้งการดำเนินคดีข้อหาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณี บริษัท โรงบรรจุแก๊ส กาญจนบุรี จำกัด
โดย นายพิสิฐชัย สว่างวัฒนากร พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ชำนาญการพิเศษ
หัวหน้าศูนย์สืบสวนสอบสวน สำนักคดีภาษีอากร
หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ ๖๑/๒๕๕๗
คดีนี้ กรมสรรพากรได้ร้องทุกข์ขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินคดี โดยกล่าวหาว่า เมื่อระหว่างวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๔๗ ถึงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๔๘ เวลากลางวันต่าง กรรมต่างวาระ บริษัท โรงบรรจุแก๊ส กาญจนบุรี จำกัดโดย นาย อ.(นามสมมุติ) ผู้ต้องหาที่ ๑ ประกอบกิจการจำหน่ายแก๊สหุงต้ม และรับอัดบรรจุแก๊ส (ขายและบรรจุ) ในรอบระยะเวลาบัญชี ๒๕๔๗ บริษัทฯ มี นาย ป. (นามสมมุติ) ผู้ต้องหาที่ ๒ เป็นกรรมการผู้จัดการในฐานะส่วนตัว โดยบริษัทฯ มีเจตนากระทำโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นในทำนองเดียวกัน หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ตามมาตรา ๓๗ แห่งประมวลรัษฎากร การกระทำของบริษัทฯ เป็นไปเพื่อให้ได้รับประโยชน์ทางภาษีอากรในลักษณะเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีอากร โดยเป็นการกระทำความผิดอันมีลักษณะที่มีความซับซ้อนเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทางการบริหารของ บมจ.ปิคนิคฯ บริษัทฯ และกลุ่มนิติบุคคลโรงบรรจุแก๊ส ในการสืบสวนเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอาญาฐานหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีอากร
อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้เห็นชอบเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๖ ให้ทำการสืบสวนสอบสวนตามมาตรา ๒๑ วรรคหนึ่ง(๑) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.๒๕๔๗ และรับเป็น คดีพิเศษ ที่ ๖๑/๒๕๕๖ เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๖ ซึ่งสำนักคดีภาษีอากรได้มีคำสั่ง แต่งตั้งคณะทำงานสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อดำเนินการสืบสวนสอบสวน มีนายพิสิฐชัย สว่างวัฒนากร พนักงานสอบสวนคดีพิเศษชำนาญการพิเศษ เป็นหัวหน้าคณะทำงานสอบสวนคดีพิเศษ
จากการสอบสวน พบว่า ผู้ต้องหาที่ ๑ มีกำไรสุทธิจากการประกอบกิจการขายส่ง ขายปลีกแก๊สหุงต้มและรับอัดบรรจุแก๊ส ในรอบระยะเวลาบัญชีปี ๒๕๔๗ ตามผลการตรวจสอบ จำนวน ๒,๑๐๗,๗๙๙.๔๖ บาท จึงต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิดังกล่าว ผู้ต้องหาที่ ๑ จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ประเภท ห้างหุ้นส่วนจำกัด เพื่อประกอบกิจการในทางการค้า โดยมุ่งหวังผลกำไรจากการประกอบกิจการ การกระทำของผู้ต้องหาที่ ๑ ซื้อน้ำแก๊สจาก บมจ. ป.(นามสมมุติ) ในราคาสูงผิดปกติกว่าลูกค้าทั่วไป ทั้งที่ได้รับเงื่อนไขเหมือนกัน ย่อมผิดวิสัยของผู้ประกอบการที่ประสงค์ต่อผลกำไรของกิจการ ที่ซื้อน้ำแก๊สในต้นทุนที่สูง เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่นที่ซื้อน้ำแก๊สในราคาที่แตกต่างกัน
จากการตรวจสอบรายการในหนังสือรับรองการจดทะเบียน ของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ของผู้ต้องหาที่ ๑ พบว่าผู้ต้องหาที่ ๑ มีนาย ป. (นามสมมุติ) ผู้ต้องหาที่ ๒ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ลงหุ้นด้วยเงิน จำนวน ๑๐๐.- บาท จำนวน ๑ หุ้น อีกทั้ง ผู้ต้องหาที่ ๑ บริษัท โรงบรรจุแก๊ส กาญจนบุรี จำกัด โดย นาย อ (นามสมมุติ) กรรมการผู้จัดการในฐานะนิติบุคคล ให้การว่า ได้เข้าไปเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัท โรงบรรจุแก๊ส กาญจนบุรี จำกัด เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๕๑ เนื่องจากขณะนั้น เป็นพนักงานขับรถบรรทุกส่งถังแก๊สให้กับ บมจ. ป.(นามสมมุติ) ได้รับการติดต่อจากพนักงานของบมจ. ป.(นามสมมุติ) ซึ่ง ไม่รู้จักชื่อและจำไม่ได้ว่าเป็นผู้ใด ติดต่อให้ เข้าเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามของบริษัทต่างๆ หลายบริษัท เช่น บริษัท โรงบรรจุแก๊ส ขลุง จำกัด , บริษัท โรงบรรจุแก๊ส โพรงมะเดื่อ จำกัด , บริษัท โรงบรรจุแก๊ส ยูนิเวอร์แซล จำกัด , บริษัท ปทุมเกตน์ เทรดดิ้ง จำกัดรวมถึงบริษัท โรงบรรจุแก๊ส นครปฐม จำกัด ในคดีนี้ เป็นต้น โดยพนักงานของ บริษัท ปิคนิคฯ ที่มาติดต่อได้จัดเตรียมและนำเอกสาร
ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทของบริษัทต่างๆ มาให้ ลงลายมือชื่อเพื่อเข้าเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท เมื่อมีชื่อเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม ได้รับค่าตอบแทนเพิ่มเติมประมาณ ๒,๐๐๐ บาท ต่อเนื่องอยู่ประมาณ ๔ – ๕ เดือน โดยไม่ได้เข้าไปบริหารจัดการหรือรู้เรื่องในการดำเนินกิจการใดๆ ของบริษัท โรงบรรจุแก๊ส กาญจนบุรี จำกัด แต่อย่างใด สำหรับเอกสารอื่นๆ เช่น การขอต่อใบอนุญาตของโรงบรรจุแก๊ส เอกสารเกี่ยวกับทางบัญชี หรือเอกสารอื่นๆ ก็จะมีพนักงานส่งเอกสารนำเอกสารที่ได้จัดเตรียมมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว มาให้ ลงลายมื่อชื่อในเอกสารนั้นๆ ภายหลัง ได้ออกจากบมจ. ป.(นามสมมุติ) เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๕๒ เนื่องจากได้งานใหม่ และก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับบริษัทในกลุ่ม บมจ. ป.(นามสมมุติ) อีกแต่อย่างใด
จากข้อเท็จจริงข้างต้น ย่อมแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของผู้ต้องหาที่ ๑ และ บมจ. ป. (นามสมมุติ) และการกระทำของผู้ต้องหาที่ ๑ ย่อมอยู่ภายใต้การครอบงำของ บมจ. ป.(นามสมมุติ) การกระทำของผู้ต้องหาที่ ๑ โดยซื้อน้ำแก๊สจาก บมจ. ป.(นามสมมุติ) ในราคาที่สูงกว่าลูกค้าทั่วไป ทั้งที่ได้รับเงื่อนไขเหมือนกัน เพื่อให้ผู้ต้องหาที่ ๑ มีต้นทุนขายสูงเกินจริง โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม ตามมาตรา ๖๕ ตรี (๑๕) แห่งประมวลรัษฎากร รวมทั้งมีค่าซื้อน้ำแก๊สจากบริษัทในเครือที่ไม่มีเอกสารพิสูจน์การจ่ายชำระเงิน และมีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่ไม่มีเอกสารหลักฐานนำมาพิสูจน์จึงเป็นรายจ่ายซึ่งผู้จ่ายพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ ตามมาตรา ๖๕ ตรี (๑๘) แห่งประมวลรัษฎากร มีผลให้ผู้ต้องหาที่ ๑ มีผลประกอบการเป็นขาดทุนสุทธิ
จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ผู้ต้องหาที่ ๑ ย่อมรู้ว่าการกระทำข้างต้นมีผลให้ผู้ต้องหาที่ ๑ มีการเสียภาษีที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงหรือเสียภาษีลดลง เมื่อเจ้าพนักงานประเมินเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมจากการเสียภาษีไว้ไม่ถูกต้อง ผู้ต้องหาที่ ๑ ยอมรับผลการตรวจสอบของเจ้าพนักงานประเมินฯ เพื่อหวังผลในการขอลดเบี้ยปรับตามกฎหมาย โดยไม่มีเจตนาชำระภาษีแต่อย่างใด การกระทำดังกล่าว ล้วนเป็นแผนการที่ได้วางขึ้นเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากร กรณีถือได้ว่าผู้ต้องหาทั้งสองมีเจตนากระทำความผิดแล้ว
การที่ผู้ต้องหาที่ ๑ โดยผู้ต้องหาที่ ๒ ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลประจำปี สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี ๒๕๔๗ (ภ.ง.ด.๕๐) เป็นขาดทุนสุทธิ จึงเป็นการกระทำโดยรู้อยู่แล้วหรือโดยจงใจแจ้งข้อความเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จหรือตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดง โดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน เพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร อันเป็นการกระทำภายใต้ขอบวัตถุประสงค์ของผู้ต้องหาที่ ๑ ทำให้ผู้ต้องหาที่ ๑ ได้รับประโยชน์ในรูปของเงินค่าภาษีอากรที่ไม่ต้องชำระในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่กรมสรรพากรและผู้อื่นแล้ว การกระทำของผู้ต้องหาทั้งสองจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ตามมาตรา ๓๗ (๒)แห่งประมวลรัษฎากร
ทางคดีมีพยานหลักฐานยืนยันได้ว่า การกระทำของผู้ต้องหาที่ ๑ และที่ ๒ เป็นความผิดฐานร่วมกันกระทำความผิดฐาน โดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ตามมาตรา ๓๗ (๒) แห่งประมวลรัษฎากร และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ คดีมีหลักฐานพอฟ้องผู้ต้องหา คณะทำงานสอบสวนคดีพิเศษมีมติเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสอง
คดีนี้ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ ๔ มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหา ที่ ๒ ความผิดฐานหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร และ ศาลอาญามีคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ อ.๑๓๓๒/๒๕๕๘ คดีหมายเลขแดงที่ อ.๑๖๐๖/๒๕๕๘ พิพากษาว่านาย ป. (นามสมมุติ) ผู้ต้องหาที่ ๒ มีความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๓๗ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ พิพากษา ให้ลงโทษจำคุก ๓ ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๑ ปี ๖ เดือน ไม่รอการลงโทษ คดีถึงที่สุดเนื่องจากไม่มีการอุทธรณ์