การดำเนินคดีพิเศษเกี่ยวกับการลักลอบขนเงินตรา
เผยแพร่: 7 มิ.ย. 2559 10:43 น. ปรับรุง: 7 มิ.ย. 2559 10:43 น. เปิดอ่าน 3660 ครั้งนายมเหสักข์ พันธ์สง่า
พนักงานสอบสวนคดีพิเศษชำนาญการพิเศษ
การดำเนินคดีพิเศษเกี่ยวกับการลักลอบขนเงินตรา
ตามสถานการณ์ในการนำยาเสพติดเข้ามาจำหน่ายในประเทศ ปัจจุบันสถานการณ์ก็มีความรุนแรงมากขึ้น มีการจับกุมผู้ลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาไม่หยุด ยิ่งปราบปรามยิ่งทวีความรุนแรง มีการจับกุมยาเสพติด
ได้เป็นจำนวนมาก จากหลักพันเม็ด หมื่นเม็ด แสนเม็ด และเป็นหลักล้านเม็ด จากการสืบสวนสอบสวนของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ สำนักคดีภาษีอากร ในการไปดำเนินคดีลักลอบขนเงินตราและเงินตราต่างประเทศ
ที่ผ่านเข้าออกตามแนวชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านหลายคดี พบว่าเกี่ยวข้องกับขบวนการค้าขายยาเสพติดเข้ามาขายในประเทศ เมื่อมีการส่งยาเสพติดเข้ามาขายในประเทศย่อมต้องการเงินหรือสิ่งตอบแทนที่เป็นค่ายาเสพติด ที่นำออกไปให้กลุ่มผู้ผลิตยาเสพติด เช่น กลุ่มว้าแดง ฐานตั้งอยู่ที่เมืองยอง รัฐฉาน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จึงทำให้สถานการณ์นำยาเสพติดเข้ามาในประเทศยังไม่ทุเลาเบาบางลง
ตามข้อสันนิษฐานข้างต้นจะต้องมีการนำเงินหรือสิ่งของที่ต้องการเป็นค่ายาเสพติดให้กับผู้ผลิตยาเสพติด โดยประมวลจากคดีที่ลักลอบเงินตราหรือเงินตราต่างประเทศเข้าและออกได้ ดังนี้ คดีพิเศษที่ ๕๔/๒๕๕๗ กรณีมีผู้ต้องหา ๒ คน สัญชาติลาว กระทำความผิดอาญาฐานพยายามนำหรือพาเงินตราที่เป็นของต้องจำกัดออกไปนอกราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านศุลกากรโดยถูกต้อง และฐานละเลยและฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่กฎหมายกำหนด
โดยของกลางมีมูลค่า ๔๗,๗๒๐,๐๐๐ บาท และรถยนต์ที่ใช้ในการกระทำความผิด ๑ คัน เหตุเกิดที่ด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ๔ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย โดยพฤติการณ์มีการโอนเงินเข้าบัญชีของผู้ต้องหาและผู้ร่วมกระทำความผิดโดยโอนเป็นรายย่อยจากกรุงเทพมหานครและปริมลฑล และในวันศุกร์กลุ่มผู้ต้องหา
ก็จะมาเบิกถอนเงินทั้งหมดออกไป อ้างว่าจะนำไปจ่ายค่าวัสดุก่อสร้าง จากการสืบสวนพบว่าเป็นการรับจ้างนำเงินออกนอกประเทศโดยได้ค่าจ้างร้อยละ ๓ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษมีความเห็นฟ้องผู้ต้องหาที่ ๑ และมีความเห็นไม่ฟ้องผู้ต้องหาที่ ๒ เนื่องจากไม่ได้ร่วมกระทำความผิด โดยพนักงานอัยการสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ ๑ อยู่ระหว่างพิจารณาของศาลจังหวัดเทิง คดีหมายเลขดำที่ ๒๐๙/๒๕๕๘ และพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ขอแยกสำนวน
คดีพิเศษที่ ๖๕/๒๕๕๙ เพื่อสอบสวนกรณีของผู้ต้องหาร่วมอีก ๒ คน สัญชาติลาว เป็นอีกคดีหนึ่ง โดยมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสองไปแล้ว ต่อมามีคดีพิเศษที่ ๙๕/๒๕๕๗ กรณีผู้ต้องหา ๒ คน สัญชาติลาว ร่วมกระทำความผิดอาญาฐานพยายามนำหรือพาเงินตราที่เป็นของต้องกำกัดออกไปนอกราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านศุลกากรโดยถูกต้อง และฐานละเลยและฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่กฎหมายกำหนด โดยของกลางมีมูลค่า ๑๐,๙๐๐,๐๐๐ บาท เหตุเกิดที่ด่านพรมแดนเชียงของ (ท่าเรือบั๊ค) อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย จากการสืบสวนทราบว่าเป็นเงินของตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ที่ สปป.ลาว อ้างว่าจะนำไปจ่ายค่าน้ำมัน แต่ผู้ต้องหาได้ขอระงับคดี เมื่อคณะกรรมการเปรียบเทียบและงดการฟ้องร้องอนุมัติให้ระงับคดีแล้ว ถือว่าคุ้มกันผู้กระทำผิดในการที่จะถูกฟ้องร้องต่อไปในกรณีแห่งความผิดนั้น ประกอบกับคดีซึ่งเปรียบเทียบได้ตามกฎหมายอื่นเมื่อผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามคำเปรียบเทียบของพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วคดีอาญาเลิกกันตามมาตรา ๓๗ (๔) ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม
มาตรา ๓๙ (๓) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงเห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา และพนักงานอัยการสั่งยุติแล้ว ต่อมามีคดีพิเศษที่ ๙๗/๒๕๕๘ กรณีผู้ต้องหาสัญชาติลาวกระทำความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากร
และความผิดฐานเป็นคนต่างด้าวเข้าและออกราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมืองตามเวลา
ที่กำหนดไว้และไม่ผ่านการตรวจของพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำช่องทาง โดยของกลางเป็นธนบัตรเงินตราสกุลดอลลาร์สหรัฐมูลค่า ๔๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์ โดยนำเข้ามาทางด่านพรมแดนเชียงของ (ท่าเรือบั๊ค) อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เวลาประมาณ ๑๙.๐๐ น. อันเป็นเวลาด่านปิดทำการแล้ว โดยอ้างว่าเป็นเงินของคนลาวเปิดร้านรับแลกเปลี่ยนเงินตราอยู่ที่ สปป.ลาว เป็นค่าเครื่องสำอาง ในชั้นพิจารณาคดีศาลจังหวัดเทิง จำเลยขอรับสารภาพ ศาลนัดอ่านคำพิพากษาวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๙ ต่อมามีคดีพิเศษที่ ๑๒๔/๒๕๕๘ กรณีจับกุมผู้ต้องหาสัญชาติไทย พร้อมของกลางธนบัตรสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐจำนวน ๑,๒๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ บริเวณจุดผ่อนปรนทางการค้าบ้านแจมป๋อง อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย อันเป็นความผิดฐานพยายามลักลอบนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาภายในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านพิธีการทางศุลกากรตามมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร
พ.ศ. ๒๔๖๙ ผู้ต้องหาประกอบอาชีพส่งออกโคกระบือมีชีวิตไปสาธารณรัฐประชาชนจีนผ่านทาง สปป.ลาว
เป็นการชำระหนี้ค่าโคกระบือ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหา ปัจจุบันอยู่ระหว่าง
การพิจารณาของศาลอาญา และแยกสำนวนคดีพิเศษที่ ๓๙/๒๕๕๙ กรณีชายไม่ทราบชื่อที่เป็นผู้นำเงินมาส่งให้เพื่อสืบหาตัวมาลงโทษต่อไป
จากการสืบสวนสอบสวนประมวลได้ว่า เงินทั้งหมดเป็นของกลุ่มผู้ผลิตยาเสพติดในพม่าที่ส่งมาขาย
ในประเทศไทย และได้ประสานร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการการฟอกเงิน สำนักงานป้องกัน
และปราบปรามยาเสพติด กรมสรรพากร กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักคดีอาญาพิเศษ ๓ กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงได้ข้อสรุปว่าเป็นเงินที่เกิดจากการขายยาเสพติดในประเทศ
โดยจะนำเงินค่ายาเสพติดออกไปในรูปแบบ
๑. ลักลอบขนเงินบาทออกไปตามแนวชายแดน
๒. ส่งออกไปเป็นสินค้าประเภทวัสดุก่อสร้าง
๓. ส่งออกไปเป็นสินค้าประเภทรถยนต์และอุปกรณ์
๔. ส่งออกไปเป็นสินค้าประเภทน้ำมัน
๕. ส่งออกไปเป็นสินค้าประเภทสัตว์ (วัว ควาย)
๖. ส่งออกไปเป็นสินค้าประเภทผลไม้
จากข้อมูลสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาการฟอกเงินแจ้งว่าจากการที่ประเทศไทยปราบปรามยาเสพติดอย่างหนักในช่วงนี้ทำให้กลุ่มว้าแดงขาดน้ำมันในการปั่นไฟฟ้าจนเกิดไฟฟ้าดับ และทำให้ขาดเงินรายได้จากการขายยาเสพติด ไม่มีเงินไปซื้อน้ำมันและสินค้าอื่นจึงต้องลักลอบขนเงินตราต่างประเทศสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐมาจ่ายค่าน้ำมันและค่าสินค้าอื่น
ดังนั้น จึงน่าเชื่อได้ว่าการลักลอบนำเงินออกนอกและนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการกระทำของกระบวนการเดียวกันที่แบ่งหน้าที่กันทำในส่วนของความรับผิดชอบแต่ละกลุ่มข้างต้น ซึ่งถ้า
กรมสอบสวนคดีพิเศษจะรับผิดชอบในการบูรณาการหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ สำนักงานป้องกันและปราบปราม
ยาเสพติด สำนักงานป้องกันและปราบปรามกันฟอกเงิน กองบัญชาการปราบปรามยาเสพติด หน่วยเรือรักษา
ความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขงเขตเชียงราย ทหาร และตำรวจในพื้นที่ ซึ่งพระราชบัญญัติการสอบสวน
คดีพิเศษได้ให้อำนาจไว้ หากสามารถสกัดกั้นขบวนการนี้ได้ การผลิตยาเสพติดและส่งมาจำหน่ายในประเทศไทยหยุดลงได้ เนื่องจากผู้ผลิตยาเสพติดขาดเงินทุนและของใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่ส่งออกไปจากประเทศไทยโดยใช้ขบวนการที่กล่าวมาแล้ว และประเทศไทยจะปราศจากยาเสพติดในที่สุด
พระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พุทธศักราช 2485
มาตรา ๘ ทวิ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบส่งหรือนำเงินออกไปนอกหรือเข้ามาในประเทศไทย ให้ถือว่าเงินตรา เงินตราต่างประเทศ ธนาคารบัตรต่างประเทศ หรือหลักทรัพย์ไม่ว่าของไทยหรือต่างประเทศ เป็นของตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
การส่งหรือนำ หรือพยายามส่งหรือนำ หรือช่วยเหลือหรือเกี่ยวข้องด้วยประการใด ๆ ในการ ส่งหรือนำเงินตรา เงินตราต่างประเทศ ธนาคารบัตรต่างประเทศ หรือหลักทรัพย์ไม่ว่าของไทยหรือ ต่างประเทศออกไปนอกหรือเข้ามาในประเทศไทย โดยฝ่าฝืนหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวง ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ ไม่ว่าจะกระทำด้วยวิธีใด ๆ ให้ถือว่าเป็น การส่งหรือนำของต้องจำกัดออกไปนอกหรือเข้ามาในประเทศไทยอันเป็นความผิดตามกฎหมาย
พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469
มาตรา 27 ผู้ใดหรือพาของที่ยังมิได้เสียค่าภาษี หรือของต้องจำกัด หรือของต้องห้าม หรือที่ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในพระราชอาณาจักรสยามก็ดี หรือส่ง หรือพาของเช่นว่านี้ออกไปนอก
พระราชอาณาจักรก็ดี หรือช่วยเหลือด้วยประการใด ๆ ในการนำของเช่นว่านี้เข้ามา หรือส่งออกไปก็ดีหรือย้ายถอนไป หรือช่วยเหลือให้ย้ายถอนไปซึ่งของดังกล่าวนั้นจากเรือกำปั่นท่าเทียบเรือ โรงเก็บสินค้า คลังสินค้า ที่มั่นคง หรือโรงเก็บของ โดยไม่ได้รับอนุญาตก็ดี หรือให้ที่อาศัยเก็บ หรือเก็บ หรือซ่อนของเช่นว่านี้ หรือยอม หรือจัดให้ผู้อื่นทำการเช่นว่านั้นก็ดี หรือเกี่ยวข้องด้วยประการใด ๆ ในการขนหรือย้ายถอน หรือกระทำอย่างใดแก่ของเช่นว่านั้นก็ดี หรือเกี่ยวข้องด้วยประการใด ๆ ในการหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากร หรือในการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงบทกฎหมายและข้อจำกัดใด ๆ อันเกี่ยวแก่การนำของเข้า ส่งของออก ขนของขึ้น เก็บของในคลังสินค้า และการส่งมอบของโดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัว ที่จะต้องเสียสำหรับของนั้น ๆ ก็ดี หรือหลีกเลี่ยงข้อห้าม หรือข้อจำกัดอันเกี่ยวแก่ของนั้นก็ดีสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกินสิบปี หรือทั้งปรับทั้งจำ