การปฏิบัติตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540

เผยแพร่: 21 ส.ค. 2558 10:15 น. ปรับรุง: 21 ส.ค. 2558 10:15 น. เปิดอ่าน 4170 ครั้ง  
 

การปฏิบัติตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ  พ.ศ. 2540

 

1.  เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของประชาชน  พ.ศ. 2540 

         พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ  พ.ศ.2540 มีเจตนารมณ์พื้นฐานสำคัญอยู่ 5 ประการ คือ

         1.1  เพื่อเป็นการประกันสิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน  ในการดำเนินการต่างๆ  ของหน่วยงานของรัฐอย่างกว้างขวาง  และส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารของหน่วยงานของรัฐอันจะนำไปสู่กระบวนการบริหารของรัฐที่เป็นธรรม   

         1.2  เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิทางการเมืองได้โดยถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาระบบการเมืองในระบอบประชาธิปไตย

         1.3  เพื่อความจำเป็นในการคุ้มครองข้อมูลข่าวสารบางประเภทซึ่งกฎหมายได้กำหนดไว้เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงของรัฐประโยชน์ที่สำคัญของเอกชนและคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล

         1.4  เพื่อส่งเสริมการปฏิรูประบบราชการ การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของเจ้าหน้าที่ หน่วยงานของรัฐ
เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐและต่อประชาชน

         1.5  เพื่อการพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารของภาครัฐ โดยการจำแนกและจัดระบบเพื่อให้การนำไปใช้ประโยชน์ และการคุ้มครองข้อมูลข่าวสารเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

         จากเจตนารมณ์ข้างต้นทำให้เนื้อหาสาระของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ  พ.ศ.2540 
ในหมวดที่ 1 นับตั้งแต่มาตรา  7 13  ได้บัญญัติถึงการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารที่หน่วยงานของรัฐต้องลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา ข้อมูลข่าวสารที่หน่วยงานของรัฐต้องจัดให้มีไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดู
และข้อมูลข่าวสารของราชการที่หน่วยงานของรัฐต้องจัดหาให้แก่ประชาชนผู้ขอ

2.  บทบัญญัติที่เป็นกุญแจในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการ

         2.1  มาตรา  7  หน่วยงานของรัฐต้องส่งข้อมูลข่าวสารของราชการอย่างน้อยดังต่อไปนี้ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา

               (1)  โครงสร้างและการจัดองค์กรในการดำเนินงาน

               (2)  สรุปอำนาจหน้าที่ที่สำคัญและวิธีการดำเนินงาน

               (3)  สถานที่ติดต่อเพื่อขอรับข้อมูลข่าวสาร

               (4)  กฎ  มติคณะรัฐมนตรี  ข้อบังคับ  คำสั่ง  หนังสือเวียน  ระเบียบ  แบบแผน  นโยบายหรือ
การตีความ ทั้งนี้  เฉพาะที่จัดให้มีขึ้นโดยมีสภาพอย่างกฎ  เพื่อให้มีผลเป็นการทั่วไปต่อเอกชนที่เกี่ยวข้อง

               (5)  ข้อมูลข่าวสารอื่นตามที่คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการกำหนด       

 *  หมายเหตุ    ประกาศกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 130 หน้า 26-33

                   ตอนพิเศษ 2ง 7 เมษายน 2556

         2.2  มาตรา  9  ภายใต้บังคับมาตรา  14  และมาตรา  15  หน่วยงานของรัฐต้องจัดให้มีข้อมูลข่าวสารของราชการอย่างน้อยดังต่อไปนี้ไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ ประกอบด้วย

               (1)  ผลการพิจารณาหรือคำวินิจฉัยที่มีผลโดยตรงต่อเอกชน

               (2)  นโยบายหรือการตีความที่ไม่เข้าข่ายต้องลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา7(4) 

               (3)  แผนงาน  โครงการ  และงบประมาณรายจ่ายประจำปีของปีที่กำลังดำเนินการ

               (4)  คู่มือหรือคำสั่งเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีผลกระทบถึงสิทธิหน้าที่ของเอกชน

               (5)  สิ่งพิมพ์ที่ได้มีการอ้างอิงถึงตามมาตรา 7 วรรคสอง

 

              

               (6)  สัญญาสัมปทาน  สัญญาที่มีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอนหรือสัญญาร่วมทุนกับเอกชนในการจัดทำบริการสาธารณะ

               (7)  มติคณะรัฐมนตรี  หรือมติคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยกฎหมาย  หรือโดยมติคณะรัฐมนตรี  ทั้งนี้ให้ระบุรายชื่อรายงานทางวิชาการ  รายงานข้อเท็จจริง  หรือข้อมูลข่าวสารที่นำมาใช้ในการพิจารณาไว้ด้วย

               (8)  ข้อมูลข่าวสารอื่นตามที่คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการกำหนด

         2.3  มาตรา  11  นอกจากข้อมูลข่าวสารของราชการที่ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา หรือจัดไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้แล้วถ้าบุคคลใดขอข้อมูลข่าวสารอื่นใดของราชการและคำขอของผู้นั้นระบุข้อมูลข่าวสาร
ที่ต้องการในลักษณะที่อาจเข้าใจได้ตามควรให้หน่วยงานของรัฐผู้รับผิดชอบจัดหาข้อมูลข่าวสารนั้นให้แก่ผู้ขอภายในเวลาอันสมควร เว้นแต่ผู้นั้นขอจำนวนมากหรือบ่อยครั้งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

              *  ข้อมูลข่าวสารที่มีสภาพที่อาจบุบสลายง่าย หน่วยงานของรัฐจะขอขยายเวลาในการจัดหาให้หรือจะจัดทำสำเนาให้ในสภาพอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ข้อมูลนั้น

         *  ข้อมูลข่าวสารที่หน่วยงานของรัฐจัดหาให้ต้องเป็นข้อมูลที่มีอยู่แล้วในสภาพที่พร้อมจะให้ได้  มิใช่เป็นการต้องไปจัดทำ วิเคราะห์ จำแนก รวบรวม หรือจัดให้มีขึ้นใหม่  แต่ถ้าหน่วยงานของรัฐเห็นว่ากรณีที่ขอนั้นมิใช่
การแสวงหาผลประโยชน์ทางการค้า และเป็นเรื่องที่จำเป็นเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพสำหรับผู้นั้นหรือเป็นเรื่องที่จะเป็นประโยชน์แก่สาธารณะหน่วยงานของรัฐจะจัดหาข้อมูลนั้นให้ก็ได้

         2.4  มาตรา  12  ในกรณีที่มีผู้ยื่นคำขอข้อมูลตามมาตรา  11  แม้ว่าข้อมูลจะอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานส่วนกลาง  หรือส่วนสาขาของหน่วยงานนั้น  หรือจะอยู่ในความควบคุมดูแลของหน่วยงานของรัฐแห่งอื่น  ให้หน่วยงานของรัฐที่รับคำขอให้คำแนะนำเพื่อให้ผู้ขอไปยื่นคำขอต่อหน่วยงานของรัฐที่ควบคุมดูแลข้อมูลนั้นโดยไม่ชักช้า

3.  ศูนย์ข้อมูลข่าวสารของราชการ

         ตามมาตรา  9  แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ  พ.ศ.2540 บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐต้องจัดให้มีข้อมูลข่าวสารของราชการอย่างน้อยตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดู ประกอบกับคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ  ได้มีประกาศเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการจัดให้มีข้อมูลข่าวสารของราชการไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดู  ณ  ที่ทำการของหน่วยงานของรัฐ โดยเรียกสถานที่ที่จัดเก็บรวบรวมข้อมูลข่าวสารและให้บริการว่า  ศูนย์ข้อมูลข่าวสาร

หลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการจัดให้มีศูนย์ข้อมูลข่าวสาร

         1.  ขั้นตอนการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสารและการให้บริการ  7  ขั้นตอน  ประกอบด้วย

              1.1  การมอบหมายหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ

              1.2  สถานที่ตั้งของศูนย์ข้อมูลข่าวสารให้จัดตั้งภายในสำนักงานที่ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา  ยกเว้นจำเป็นจริงๆ  ซึ่งไปจัดตั้งที่อื่นได้  โดยจัดให้ห้องหนึ่งห้องใดเป็นสัดส่วนหรือห้องสมุดของหน่วยงาน  จัดทำป้ายชื่อ  ศูนย์ข้อมูลข่าวสารของหน่วยงาน  ติดไว้ให้เห็นชัดเจน  หรือทำแผนผังที่ตั้งศูนย์ไว้หน้าสำนักงาน

              1.3  วัสดุ  อุปกรณ์  และครุภัณฑ์  ประกอบด้วย โต๊ะ เก้าอี้ ตู้เอกสาร แฟ้มข้อมูล โทรศัพท์ กระดาษ/เครื่องเขียนเท่าที่จำเป็นแบบฟอร์มต่างๆ และสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น  พัดลม ตู้น้ำเย็น ฯ

              1.4  การคัดเลือกเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์หน่วยงานต้องแต่งตั้งบุคลากรทำหน้าที่ประจำศูนย์อย่างน้อยควรมีคุณสมบัติ  ดังนี้(1)  ผ่านการอบรมหรือมีความรู้กฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ(2) มีมนุษย์สัมพันธ์ดี

 

 

(3)  สามารถประสานงานกับทุกหน่วยงานได้เป็นอย่างดี  (4)  มีความสามารถในการจัดระบบแฟ้มระบบการสืบค้นข้อมูลหรือดัชนี (5) ปฏิบัติหน้าที่ประจำศูนย์อย่างต่อเนื่อง

              1.5  ระเบียบและหลักเกณฑ์การให้บริการให้หน่วยงานเป็นผู้กำหนดเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย

              1.6  ข้อมูลข่าวสารและการจัดระบบข้อมูลข่าวสาร

              1.7  ขั้นตอนการให้บริการข้อมูลข่าวสารเมื่อประชาชนเข้ามาตรวจดูข้อมูลข่าวสาร เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์จะต้องแนะนำให้ลงชื่อในสมุดทะเบียนเพื่อเป็นหลักฐานของทางราชการ แนะนำให้ตรวจดูข้อมูลจากบัตรดัชนีรายการ  หรือระบบคอมพิวเตอร์  รวมทั้งให้ความช่วยเหลือในการค้นหา หากไม่มีข้อมูลในหน่วยงานนั้น แต่มีอยู่ที่หน่วยงานอื่นให้แนะนำเพื่อไปยื่นคำขอต่อหน่วยงานอื่นโดยไม่ชักช้า กรณีที่ประชาชนขอข้อมูลข่าวสารและข้อมูลนั้นหน่วยงานมีพร้อมที่จัดให้จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว กรณีที่ข้อมูลข่าวสารที่ขอมีจำนวนมาก หรือไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน  15  วัน  ต้องแจ้งให้ผู้ขอข้อมูลทราบ ภายใน  15  วัน  รวมทั้งแจ้งกำหนดวันที่จะดำเนินการแล้วเสร็จให้ทราบด้วย 

         2.  ข้อควรจำ

              ข้อมูลข่าวสารตามมาตรา  7  และมาตรา  9  ที่ต้องจัดไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้นั้นจะต้อง

              2.1  เป็นสำเนาข้อมูลข่าวสารต้นฉบับหรือตัวจริงยังคงเก็บอยู่ที่หน่วยงานเจ้าของเรื่อง

              2.2  ไม่อนุญาตให้ยืมออกไปนอกศูนย์ข้อมูลข่าวสารเพราะขัดต่อเจตนาการจัดเอาไว้ให้ประชาชน
เข้าตรวจดู ต้องศึกษาค้นคว้าในศูนย์ข้อมูลข่าวสารหากต้องการขอข้อมูลใดให้ยื่นคำร้องต่อเจ้าหน้าที่

              2.3  ผู้เข้าตรวจดูข้อมูลข่าวสารต้องเป็นคนไทย

              2.4  ผู้เข้าตรวจดูข้อมูลข่าวสารไม่จำเป็นต้องมีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวข้องและไม่จำเป็นต้องบอกเหตุผล

              2.5  สิทธิของคนต่างด้าว ในการขอตรวจดูข้อมูลข่าวสารตามมาตรา  9  วรรคสี่บัญญัติว่า ให้เป็นไปตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวงซึ่งปัจจุบันยังไม่มีดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ต้องใช้ดุลพินิจโดยมีหลัก ดังนี้

                  (1)  ข้อมูลข่าวสารตามมาตรา  7  ซึ่งลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาถือว่าเป็นการเปิดเผย
ต่อสาธารณะแล้วและเป็นสากล  ดังนั้น  คนต่างด้าวย่อมขอดูได้

                  (2)  หากเป็นข้อมูลตามมาตราอื่น  เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ควรแนะนำให้ทำหนังสือขอตรวจดูหรือขอสำเนาเฉพาะเรื่องที่ตนเกี่ยวข้อง  หรือเพื่อปกป้องสิทธิของตนเอง คำขอเช่นนี้เจ้าหน้าที่สามารถใช้ดุลพินิจว่าสมควรให้ตรวจดูหรือให้สำเนาได้หรือไม่

ความเป็นมาของศูนย์ข้อมูลข่าวสารกรมสอบสวนคดีพิเศษ

         ศูนย์บริการข้อมูลข่าวสารกรมสอบสวนคดีพิเศษ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๔๐ ที่กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐต้องมีศูนย์ข้อมูลข่าวสารประจำหน่วยงาน เพื่อให้บริการแก่ประชาชนผู้สนใจเข้าตรวจดูข้อมูลข่าวสารและใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสาร กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงได้จัดตั้ง ศูนย์บริการข้อมูลข่าวสารขึ้น เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
ณ อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ ชั้น G ภายใต้การกำกับดูแลของส่วนช่วยอำนวยการและประชาสัมพันธ์
สำนักบริหารกลาง และได้จัดทำ ระเบียบกรมสอบสวนคดีพิเศษว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๘เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ และเพื่อให้การบริหารข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ

 

เอกสารที่เกี่ยวข้อง