ข้อคิดบางประการของผู้ทำหน้าที่สืบสวนสอบสวน โดยนิธิต ภูริคุปต์

เผยแพร่: 28 มี.ค. 2559 14:56 น. ปรับรุง: 28 มี.ค. 2559 14:56 น. เปิดอ่าน 6705 ครั้ง  
 

ข้อคิดบางประการของผู้ทำหน้าที่สืบสวนสอบสวน 

โดยนายนิธิต ภูริคุปต์

ผู้บัญชาการสำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ

         จากการที่เคยได้เคยร่วมการทำงานในฐานะคณะทำงานสืบสวน คณะพนักงานสืบสวนสอบสวน       คดีพิเศษ ในการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ รวมทั้งได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ในการปฏิบัติหน้าที่กับข้าราชการในกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่ได้เคยมีโอกาสร่วมเป็นคณะทำงานสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ พบว่า ยังมีปัญหาบางประการที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะคณะทำงานควรต้องคำนึงถึง จริงอยู่แม้ว่าสิ่งที่จะยกมาให้เห็นในเอกสารนี้ เป็นเรื่องที่รู้กันอยู่โดยทั่วไป แต่บางครั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่ในคณะทำงานไม่ว่าคณะทำงานสืบสวนหรือคณะทำงานสอบสวนคดีพิเศษก็อาจพลั้งเผลอ โดยไม่ตั้งใจซึ่งบางครั้งความพลั้งเผลอโดยไม่ได้ตั้งใจเหล่านี้ อาจเป็นผลเสียต่อรูปคดีและอาจทำให้บุคคลที่อยู่ในคณะทำงานต้องถูกกล่าวหาในฐานะปฏิบัติหน้าที่โดยบกพร่องได้ 

          ด้วยเหตุผลดังกล่าวผู้เขียนจึงขอยกปัญหาที่อาจเกิดขึ้นเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน จะได้มีความระมัดระวังป้องกันมิให้เกิดปัญหาต่อการปฏิบัติหน้าที่ ดังนี้

          ๑. ผู้เสียหายในคดีอาญา โดยหลักแล้วการเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒ (๔) ซึ่งจะเป็นบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง     รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ดังที่ระบุไว้ในมาตรา ๔, ๕ และ ๖ ซึ่งมาตรา ๓ ได้บัญญัติไว้ว่า บุคคลที่ระบุไว้ในมาตรา ๔, ๕ และ๖ สามารถจะจัดการในกิจการต่าง ๆ ตามมาตรา ๓ ได้แก่ การร้องทุกข์ เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาหรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ เป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ถอนฟ้องคดีอาญาหรือถอนฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ยอมความในความผิดต่อส่วนตัว ได้นั้นให้ไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรานั้น ๆ 

              ในการดำเนินคดีอาญาต้องมีการตรวจสอบเบื้องต้นว่า ผู้ที่มาร้องทุกข์นั้นเป็นผู้เสียหายที่ได้รับ    ความเสียหายจากการกระทำผิดอาญาในฐานความผิดที่มาร้องทุกข์หรือไม่ หรือแม้จะไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรงแต่หากเป็นผู้จัดการแทนผู้เสียหายได้ ก็สามารถร้องทุกข์ได้ หากไม่ใช่ผู้เสียหายก็ทำได้โดยทำเป็นคำกล่าวโทษ     ในบางกรณีมักมีปัญหาความผิดที่เป็นกฎหมายเฉพาะเรื่อง ในกฎหมายเหล่านั้นจะระบุตัวผู้รับผิดชอบโดยตรงในการควบคุมบังคับใช้กฎหมายนั้น ๆ ดังนั้น ในกรณีนี้ผู้ที่เป็นผู้รับผิดชอบเหล่านี้ก็มีอำนาจเข้ามาร้องทุกข์หรือกล่าวโทษได้ด้วย

          ๒. อายุความที่จะดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดนั้น ต้องพิจารณาด้วยว่า คดีนั้นขาดอายุความไปแล้วหรือไม่ ซึ่งอายุความนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๕ พนักงานสอบสวนต้องตรวจสอบให้แน่ชัด หากเป็นคดีอาญาที่ขาดอายุความก็ไม่อาจดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาได้  

          . อายุความความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เช่น ความผิดตามประมวลกฎหมาย มาตรา ๑๕๗   เจ้าพนักงานกับราษฎรทั่วไปทำผิดร่วมกัน แต่จะลงโทษราษฎรทั่วไปที่ไม่ใช่เจ้าพนักงานในฐานะตัวการร่วมตาม

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ ไม่ได้ เพราะราษฎรทั่วไปที่ร่วมทำผิดไม่ใช่เจ้าพนักงานจึงไม่ครบ            

องค์ประกอบความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ แต่เมื่อเจ้าพนักงานกับราษฎรทั่วไปทำผิดร่วมกัน  ถึงแม้ตามพฤติการณ์จะร่วมกันทำ ก็ดำเนินคดีกับราษฎรทั่วไปในฐานะผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๘๖  ได้เท่านั้น โดยการระวางโทษของราษฎรในฐานะผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของเจ้าพนักงาน ต้องระวางโทษสองในสาม ซึ่งการนับอายุความในความผิดฐานสนับสนุนของราษฎรนี้จะมีระยะเวลาน้อยกว่า ความผิดของเจ้าพนักงาน เช่น หากเป็นความผิดตามาตรา ๑๕๗ อายุความที่จะดำเนินคดีกับเจ้าพนักงานมีกำหนด ๑๕ ปี แต่อายุความที่จะดำเนินคดีกับราษฎรในฐานะผู้สนับสนุนมีระยะเวลา ๑๐ ปี

           ๔. ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการนั้น หากมีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐให้มีการดำเนินคดีพิเศษกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องส่งเรื่องไปให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายใน ๓๐ วัน ทั้งนี้เป็นไปตาม มาตรา ๒๑/๑ วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ หลังจากส่งเรื่องไปแล้วระหว่างรอมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. 

พนักงานสอบสวนคดีพิเศษมีอำนาจทำการสอบสวนไปพลางก่อนได้ แต่เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติรับคดีไว้ดำเนินการ ก็ให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษส่งสำนวนการสอบสวนและพยานหลักฐานที่ได้ไปยัง คณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งแตกต่างกับพนักงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่จะต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายใน ๓๐ วัน ซึ่งระยะเวลา ๓๐ วันตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษนี้ สอดคล้องกับระยะเวลาที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต    พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๘๙ ที่กำหนดให้พนักงานสอบสวนต้องส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ผู้เสียหายร้องทุกข์หรือมีผู้กล่าวโทษเจ้าหน้าที่รัฐ ต่อพนักงานสอบสวน

               ระยะเวลา ๓๐ วันนี้ แม้ไม่มีการระบุผลของการละเว้นไม่ปฏิบัติตามว่า หากไม่ส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายใน ๓๐ วันนับแต่มีการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษจะมีผลอย่างไร แต่ถ้าหากพนักงานสอบสวนไม่ปฏิบัติตามภายในกำหนดเวลา ก็อาจถูกกล่าวหาร้องเรียนได้ 

           ๕. ในคดีที่มีการกล่าวหานิติบุคคลว่ากระทำความผิด ต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่า ขณะกระทำผิดในข้อหาที่กล่าวหานั้น ผู้รับผิดชอบเป็นผู้ใด ในกรณีสมาคมผู้รับผิดชอบของสมาคมคือกรรมการสมาคม มูลนิธิผู้รับผิดชอบคือกรรมการมูลนิธิ  กรณีนิติบุคคลเป็นห้างหุ้นส่วนผู้รับผิดชอบคือหุ้นส่วนผู้จัดการ กรณีบริษัทคือกรรมการบริษัทที่ระบุไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิ 

                พนักงานสอบสวนต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่าผู้รับผิดชอบขณะที่มีการกระทำผิดนั้นเป็นผู้ใด    เพราะผู้รับผิดชอบของนิติบุคคลมีการเปลี่ยนแปลงผู้รับผิดชอบอยู่ตลอดเวลา บางครั้งอาจเผลอเลอไปดำเนินคดีกับผู้รับผิดชอบคนใหม่ที่เข้ามามีหน้าที่รับผิดชอบภายหลังจากที่ได้มีการกระทำผิดเสร็จสิ้นไปแล้ว หรือดำเนินคดีกับผู้รับผิดชอบในนิติบุคคลนั้นก่อนมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ดังนั้น พนักงานสอบสวนต้องตรวจสอบให้ชัดเจน ทางที่ดีที่สุดคือการตรวจสอบกับหน่วยงานของกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ และควรต้องมีการสอบปากคำพนักงานเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบทะเบียนพาณิชย์ไว้เป็นพยานประกอบสำนวนการสอบสวนด้วย 

           ๖. ระยะเวลาการควบคุมและการฝากขังผู้ต้องหาในคดีอาญาทั่วไป ต้องดูอัตราโทษของความผิดว่าพนักงานสอบสวนจะมีอำนาจการควบคุมของพนักงานสอบสวนว่ามีเพียงใด ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมาย

วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๗ ซึ่งกำหนดห้ามมิให้ควบคุมผู้ถูกจับไว้เกินกว่าจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดี ในกรณีที่ไม่ได้มีการปล่อยตัวชั่วคราว และมีเหตุจำเป็นเพื่อทำการสอบสวนหรือฟ้องคดี    ต้องนำตัวผู้ถูกจับไปศาลภายใน ๔๘ ชั่วโมง นับแต่ที่ผู้ถูกจับถูกนำตัวมาถึงที่ทำงานของพนักงานสอบสวน เพื่อให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหานั้นไว้ ซึ่งศาลจะอนุญาตให้ขังได้หรือไม่นั้นเป็นไปตามอัตราโทษอย่างสูงที่กฎหมายกำหนดไว้ หากอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน ๖ เดือน ปรับไม่เกิน ๕๐๐ บาท ศาลสั่งขังได้ครั้งเดียวและไม่เกิน ๗ วัน ถ้าอัตราโทษอย่างสูงเกิน ๖ เดือน แต่ไม่ถึง ๑๐ ปี ศาลสั่งขังได้หลายครั้ง ๆ ละไม่เกิน ๑๒ วัน แต่รวมแล้วไม่เกิน ๔๘ วัน หากอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ ๑๐ ปีขึ้นไป ศาลสั่งขังได้หลายครั้ง ๆ ละไม่เกิน ๑๒ วัน แต่รวมแล้วไม่เกิน ๘๔ วัน 

               พนักงานสอบสวนจึงต้องตรวจสอบให้แน่ชัดถึงฐานความผิด อัตราโทษของความผิดที่มีการกล่าวหา ว่ามีอัตราโทษเพียงใด เพราะหากเกินกำหนดที่ศาลจะอนุญาตให้ขังได้ แม้การสอบสวนจะไม่เสร็จสิ้น ศาลก็ไม่อาจสั่งขังผู้ต้องหาระหว่างสอบสวนต่อไปได้ จะเกิดความยุ่งยากในการนำตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานอัยการเพื่อฟ้องผู้ต้องหา           

          . การสอบสวนคดีความผิดที่มีอัตราโทษที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาคดีในศาลแขวง ฯ ในมาตรา ๗ กำหนดให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบต้องส่งตัวผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมตัวได้พร้อมสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการเพื่อฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลให้ทันภายใน ๔๘ ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกจับ หรือกรณีไม่มีการจับกุมตัวก็ต้องสั่งให้ผู้ต้องหาไปพบพนักงานอัยการเพื่อฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลให้ทันภายใน ๔๘ ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ได้แจ้งข้อหา กรณีจำเป็นหากไม่สามารถฟ้องผู้ต้องหาได้ทันภายในกำหนด ๔๘ ชั่วโมง ต้องยื่นคำร้องต่อศาลผัดฟ้องได้อีกคราวละไม่เกิน ๖ วัน แต่ต้องไม่เกิน ๓ คราว หากมีความจำเป็นก็อาจยื่นคำร้องต่อศาลขอผัดฟ้องได้อีกโดยอ้างความจำเป็นกรณีนี้ศาลจะอนุญาตให้ผัดฟ้องได้คราวละไม่เกิน ๖ วัน แต่ไม่เกิน ๒ คราว 

                ในกรณีที่ผู้ต้องหาตกอยู่ในความควบคุมของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ พนักงานสอบสวนต้องนำผู้ต้องหามาส่งศาลพร้อมกับการยื่นคำร้องขอผัดฟ้องและขอให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหาพร้อมกันด้วย 

                พนักงานสอบสวนในคดีความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงต้องพึงระวัง       ที่หากดำเนินการส่งตัวผู้ต้องหาให้พนักงานอัยการฟ้องไม่ทันภายในเวลา ต้องยื่นคำร้องขอผัดฟ้องและหากมีการจับกุมผู้ต้องหาต้องขอให้ศาลออกหมายขังไปพร้อมกันด้วย  

            ๘. ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๓๐ บัญญัติไว้ให้เริ่มการสอบสวนโดย     มิชักช้า จะทำการในที่ใด เวลาใด แล้วแต่จะเห็นสมควร โดยผู้ต้องหาไม่จำต้องอยู่ด้วย การที่จะอ้างว่า พนักงานสอบสวนอาจใช้วิธีการสอบสวนพยานทางโทรศัพท์ โดยไม่มีการบันทึกและให้พยานลงลายมือชื่อ โดยอ้างมาตรา ๑๓๐ นี้ไม่อาจทำได้ ซึ่งแนวทางที่ถูกต้องนั้น ต้องมีการบันทึกปากคำพยานและให้ลงลายมือชื่อไว้เป็นเอกสาร เพื่อประกอบสำนวน 

            ๙. การปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา (การให้ประกันผู้ต้องหา) ประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความอาญามาตรา ๑๑๓ ได้ระบุให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวได้ไม่เกิน ๓ เดือนนับแต่วันแรกที่มีการปล่อยตัวชั่วคราว ในกรณีมีเหตุจำเป็นไม่อาจสอบสวนได้เสร็จในเวลา ๓ เดือน จะยืดเวลาได้แต่ต้องไม่เกิน ๖ เดือน 

/เมื่อการปล่อยตัว

  เมื่อการปล่อยตัวชั่วคราวสิ้นสุดลงตามวรรคหนึ่งแล้ว ถ้ายังมีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมผู้ต้องหาไว้

ต่อไป ให้ส่งผู้ต้องหามาศาล และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๘๗ วรรคสี่ถึงวรรคเก้ามาใช้

          ๑๐. การจับกุมและตรวจค้น เมื่อมีการปฏิบัติตามหมายแล้ว ข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๔๘ ข้อ ๒๓ กำหนดให้ต้องมีการรายงานไปยังศาลที่ออกหมายถ้าเป็นหมายจับต้องรายงานไม่ช้ากว่า ๗ วัน หมายค้นต้องไม่ช้ากว่า ๕ วัน

           นอกจากข้อที่ควรคำนึงดังกล่าวข้างต้นแล้วนั้น บุคคลที่เป็นคณะทำงานสืบสวนสอบสวนต้องมีความอดทน มีความซื่อสัตย์สุจริต ต้องคิดคำนึงตลอดเวลาว่า ตนเป็นเพียงแค่คนกลางในการแสวงหาข้อเท็จจริง    ควรปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบกฎหมายที่ระบุไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องคำนึงบทบัญญัติในมาตรา ๑๓๑ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่ระบุไว้ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิด เท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา เพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา 

            จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว จะเห็นได้ว่าการสอบสวนมิใช่เพียงแค่แสวงหาพยานหลักฐานเพื่อมาสนับสนุนข้อกล่าวหา เพื่อให้มีการฟ้องร้องลงโทษผู้ถูกกล่าวหาแต่เพียงอย่างเดียว การให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาด้วย การพิสูจน์ความบริสุทธิ์ให้กับผู้ถูกกล่าวหาก็เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนด้วยส่วนหนึ่ง ดังนั้น การกำหนดสติและจิตใจให้เป็นกลางในการทำหน้าที่จะเป็นการดีที่สุด 

 

            นอกจากนั้น พนักงานสอบสวนที่ดี ควรมีคุณสมบัติที่รู้จักควบคุมอารมณ์ตนเอง ต้องมีสำนึกในการที่ตนเองมีหน้าที่รับใช้ประชาชน เป็นหน้าที่ที่จะทำให้สังคมสงบสุข พนักงานสอบสวนต้องมีปฏิภาณไวพริบ พยายามเรียนรู้พฤติกรรมของคนไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด ต้องมีความสุภาพต่อประชาชนทุกฝ่าย มีเมตตาธรรมกับประชาชนทุกคนโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ มีความละเอียดรอบคอบในการเก็บข้อมูลพยานหลักฐาน ต้องฝึกตนให้เป็นคนช่างสังเกต รู้จักจดจำในข้อมูลเป็นอย่างดี ต้องรู้จักคาดเดาและตั้งข้อสมมุติฐาน ต้องไม่เกรงกลัวและไม่ยอมให้มีการใช้อำนาจโดยมิชอบในการมาทำให้ความเป็นธรรมผิดเพี้ยนไปจากหลักการแห่งความเป็นธรรม และต้องคำนึงถึงด้วยว่า ความเป็นธรรมนั้นเป็นจิตวิญญาณของกฎหมายด้วย

เอกสารที่เกี่ยวข้อง