ความไม่เป็นธรรมในคดีและแนวทางแก้ไข

เผยแพร่: 25 ส.ค. 2558 10:13 น. ปรับรุง: 25 ส.ค. 2558 10:13 น. เปิดอ่าน 113044 ครั้ง  
 

ความไม่เป็นธรรมในคดีและแนวทางแก้ไข

                                                                                นายนิธิต ภูริคุปต์ 

                                                                                พ.ต.ท.ปุญธนัช เกตุเทศ

               เอกสารนี้จัดทำขึ้นเพื่อต้องการเสนอแนวคิดให้มีการแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมในการที่ประชาชนที่ต้องตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่เป็นผู้กระทำผิด นำมาซึ่งการถูกดำเนินคดีและลงโทษโดยไม่ได้รับความเป็นธรรม มิใช่เพื่อเป็นการตำหนิหรือกล่าวโทษผู้ใด เพียงแต่มุ่งหวังให้เกิดการแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับประชาชนเท่านั้น แม้ว่าลักษณะปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวนี้ จะมีการทำการศึกษาของผู้รู้มาแล้วในช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่ปัญหานี้ก็ยังดำรงอยู่เสมือนหนึ่งว่า ปัญหาที่ถูกนำเสนอโดยผู้รู้ดังกล่าว ไม่ได้รับการใส่ใจเท่าที่ควรจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ปล่อยให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากความไม่เป็นธรรมต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว ทั้ง ๆ ควรจะเป็นหน้าที่ของฝ่ายรัฐ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้มีอำนาจทุกฝ่าย ในการที่จะต้องปรับปรุงแก้ไข เพื่อหยิบยื่นความเป็นธรรมให้กับประชาชนอย่างเท่าเทียม

               ๑. ความเป็นมาของปัญหา

 ในกระบวนการยุติธรรมนั้น บทบาทภาระหน้าที่ของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมมีทั้งอำนาจและหน้าที่ในการขับเคลื่อนกระบวนการให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั่นคือประชาชนทุกฝ่ายที่เข้ามาสู่กระบวนการได้รับความเป็นธรรม ไม่ว่าประชาชนที่เข้ามาสู่กระบวนการนั้นจะเข้ามาในฐานะเป็น ผู้กล่าวหาผู้ต้องหา โจทก์ หรือจำเลยก็ตาม การขับเคลื่อนกระบวนการของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมนั้น นอกจากต้องอาศัยความรู้ความสามารถของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมแล้ว บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมต้องมีจิตสำนึกความรับผิดชอบในการที่ตนเองต้องมีหน้าที่ และรวมทั้งต้องมีจิตสำนึกในการใช้อำนาจด้วย เพราะหากบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมขาดจิตสำนึกเหล่านี้แล้ว ก็จะส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่เข้ามาสู่กระบวนการได้ ซึ่งในที่สุดแล้วก็อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมในที่สุด

 จากการดำเนินการของศูนย์ช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนและไม่ได้รับความเป็นธรรม (ศนธ.ยธ.) เท่าที่ผ่านมา พบว่า ปัญหาที่ประชาชนเข้ามาร้องเรียนที่ศูนย์ช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนและไม่ได้รับความเป็นธรรมนั้น เป็นความเดือดร้อนที่ประชาชนได้รับจากการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมของเจ้าหน้าที่อันเป็นบุคลากรภาครัฐที่มีอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบในการขับเคลื่อนกระบวนการยุติธรรม ซึ่งในความไม่เป็นธรรมที่ประชาชนได้รับนั้น อาจเกิดจากความไม่รอบคอบในการปฏิบัติและการใช้ดุลยพินิจ ซึ่งหากใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบในการใช้ดุลยพินิจในการปฏิบัติแล้ว น่าเชื่อได้ว่า ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการร้องเรียน อาจได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม นอกจากประชาชนจะไม่ได้รับความเป็นธรรมจากบุคลาของรัฐดังกล่าวแล้ว เหตุที่ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมอาจเกิดจากการกระทำของทนายความ ซึ่งบางกรณีอาจเกิดจากการขาดความชำนาญ ความไม่รอบคอบของทนายความ หรืออาจเกิดจากความไม่รับผิดชอบต่อลูกความของตนในการรักษาสิทธิของลูกความ อีกทั้งบางครั้งตัวประชาชนเองก็ขาดความรู้ความเข้าใจในการรักษาสิทธิของตนเอง ซึ่งข้อบกพร่องเหล่านี้ควรอย่างยิ่งที่จะต้องทำการแก้ไขปรับปรุง เพื่อมิให้เกิดปัญหาความเดือดร้อนที่จะเกิดกับประชาชนต่อไป

                     ในการดำเนินคดีอาญา มีบุคลากรในองค์กรของรัฐหลายฝ่ายที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการพิสูจน์ทราบความผิดของผู้ที่ต้องตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา และที่เป็นหลักในกระบวนการของการดำเนินการ ได้แก่ พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ ศาล และที่ขาดไมได้สำหรับผู้ที่ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาคือทนายความ

                 ๒. บทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐและทนายความ

                     ๒.๑ พนักงานสอบสวน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ได้ให้ความหมายของการสอบสวนไว้ใน มาตรา ๒ (๑๑)

       มาตรา ๒  ในประมวลกฎหมายนี้

           (๑๑) “การสอบสวน” หมายความถึง การรวบรวมพยานหลักฐานและการดำเนินการทั้งหลายอื่นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้  ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำไปเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหา  เพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิดและเพื่อจะเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษ

          นอกจากนี้ในมาตรา ๑๓๑ แห่งประมวลกฎหมายนี้ ได้บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะต้องรวบรวมพยานหลักฐานไว้ว่า

        มาตรา ๑๓๑  ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิด เท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา เพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา

       เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติของกฎหมายข้างต้น จะเห็นได้ว่า บทบัญญัติที่บัญญัติไว้ดังกล่าวเป็นบทบัญญัติบังคับให้พนักงานสอบสวนมีภาระหน้าที่ที่ต้องรวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิด เพื่อทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์เกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหา เพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิด และพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา การดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนนั้น มิใช่รวบรวมพยานหลักฐานในส่วนของการจะเพิ่มน้ำหนักให้สมเหตุสมผลในการจะกล่าวหาผู้ต้องหาแต่เพียงอย่างเดียว การรวบรวมพยานหลักฐานในส่วนที่จะเป็นการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ที่ถูกกล่าวหา พนักงานสอบสวนก็ต้องดำเนินการด้วย  ทั้งนี้เพื่อให้ได้ตัวผู้กระทำความผิดที่แท้จริงมาลงโทษ แต่หลายครั้งจากการตรวจสอบของคณะทำงานของ ศนธ.ยธ พบว่า หลายกรณีพนักงานสอบสวนซึ่งเป็นเจ้าพนักงานในส่วนของกระบวนการยุติธรรมในชั้นต้น ยังบกพร่องหรือยังใช้ความพยายามไม่เพียงพอ ทั้ง ๆ ที่บางกรณีหากมีใช้ความละเอียดรอบคอบหรือความพยายามในการดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน ก็จะสามารถป้องกันมิให้เกิดความผิดพลาดในการทำให้ผู้ที่ไม่ได้ทำความผิดหรือผู้บริสุทธิ์ถูกกล่าวหาทั้ง ๆ ที่ไม่ได้กระทำความผิดได้

                     ๒.๒ พนักงานอัยการ ในคดีอาญาทั่วไป พนักงานอัยการจะเข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เมื่อพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตั้งแต่มาตรา ๑๔๐ – ๑๔๕ จะพบว่าพนักงานอัยการจะเข้ามามีบทบาทในกระบวนการยุติธรรมก็ต่อเมื่อสำนวนการสอบสวนผ่านกระบวนการของพนักงานสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว เมื่อมีการส่งสำนวนการสอบสวนมายังพนักงานอัยการ พนักงานอัยการจึงจะมีบทบาทเข้ามามีส่วนในกระบวนการ หลังจากรับสำนวนการสอบสวนจากพนักงานสอบสวนแล้ว พนักงานอัยการอาจมีการสั่งงดการสอบสวน สั่งฟ้อง สั่งไม่ฟ้อง สั่งให้มีการเปรียบเทียบ หรือพนักงานอัยการอาจสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมหรือเรียกพยานมาซักถามด้วยตนเองก่อนสั่ง  ก่อนหน้านั้นพนักงานอัยการไม่อาจเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการสอบสวนของพนักงานสอบสวนได้ มีเพียงแต่ในคดีความผิดที่มีโทษตามกฎหมายไทยที่เกิดขึ้นในต่างประเทศเท่านั้นที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๐ ได้บัญญัติให้อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ นอกจากนั้นหากคดีนั้นเป็นคดีพิเศษตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.๒๕๔๗ พนักงานอัยการอาจเข้ามาร่วมสอบสวนหรือปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ โดยการเข้ามาในคดีในชั้นเริ่มคดีเพื่อให้คำแนะนำและตรวจสอบพยานหลักฐาน ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา ๓๒ แต่ในการเข้ามาของพนักงานอัยการในคดีพิเศษนั้น มิใช่พนักงานอัยการจะเข้าร่วมสอบสวนหรือปฏิบัติหน้าที่ร่วมในทุกคดีที่เป็นคดีพิเศษ พนักงานอัยการจะเข้าร่วมสอบสวนคดีพิเศษหรือปฏิบัติหน้าที่ร่วมในคดดีพิเศษได้เป็นไปตามเงื่อนไขว่า หากเป็นคดีพิเศษที่เป็นคดีพิเศษตามมาตรา ๒๑ วรรคหนึ่ง (๒) การที่พนักงานอัยการจะเข้ามาร่วมสอบสวนหรือปฏิบัติหน้าที่ร่วมในการสอบสวนคดีพิเศษได้ ก็ต่อเมื่อคณะกรรมการคดีพิเศษให้ความเห็นชอบในการเข้ามาร่วมสอบสวนหรือปฏิบัติหน้าที่ร่วมเท่านั้น หากคณะกรรมการคดีพิเศษไม่ให้ความเห็นชอบให้พนักงานอัยการเข้ามาร่วมสอบสวนหรือปฏิบัติหน้าที่ร่วม พนักงานอัยการก็ไม่อาจเข้ามาร่วมสอบสวนหรือปฏิบัติหน้าที่ร่วมได้ เว้นแต่ กรณีความผิดตามมาตรา ๒๑ วรรคหนึ่ง (๑) (ค) หรือ (ง) คือความผิดอาชญากรรมข้ามชาติ หรือองค์กรอาชญากรรม หรือคดีผู้มีอิทธิพล เท่านั้น พนักงานอัยการต้องเข้ามาร่วมสอบสวนได้ทันทีโดยผลของกฎหมาย ซึ่งในทางปฏิบัติที่ผ่านมาในการดำเนินคดีพิเศษการเข้ามาร่วมสอบสวนหรือปฏิบัติหน้าที่ร่วมของพนักงานอัยการในการดำเนินคดีพิเศษ พนักงานอัยการที่เข้ามาร่วมแทบจะไม่มีบทบาทอันใด พนักงานอัยการที่เข้ามาร่วมในการดำเนินคดีพิเศษมีบทบาทน้อยมากในการดำเนินคดี นอกจากนั้นพนักงานอัยการที่เข้ามาร่วมในชั้นสอบสวนคดีพิเศษก็ไม่มีส่วนร่วมในการสั่งคดีว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง และไม่มีบทบาทในการลงชื่อในรายงานการสอบสวนที่จะมีความเห็นในการสั่งคดีในชั้นพนักงานสอบสวนคดีพิเศษด้วย ทำให้น่าสงสัยว่าการเข้าร่วมทำการสอบสวนหรือปฏิบัติหน้าที่ร่วมในคดีพิเศษของพนักงานอัยการ เพื่อประสิทธิภาพในการปราบปรามการกระทำผิดคดีพิเศษนั้น เป็นไปตามเจตนารมณ์ของมาตรา ๓๒ แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. ๒๕๔๗ หรือไม่

                           เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาคดีอาญาทั่วไปที่พนักงานอัยการไม่ได้มีส่วนร่วมในการรวบรวมพยานหลักฐานตั้งแต่ต้นดังที่ได้กล่าวมาแล้ว จะเห็นว่า หลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มิได้เปิดช่องให้พนักงานอัยการเข้ามาเกี่ยวข้องในการรวบรวมพยานหลักฐานตั้งแต่ชั้นแรกที่คดีความเข้ามาสู่การดำเนินการของพนักงานสอบสวน การสอบสวนคงดำเนินไปภายใต้การควบคุมของพนักงานสอบสวนเท่านั้น ซึ่งหากมีความบกพร่องหรือความผิดพลาดละเลยของพนักงานสอบสวนที่ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ ประชาชนที่ต้องตกเป็นผู้ต้องหาและต้องถูกดำเนินการตามขั้นตอนของพนักงานสอบสวน ก็จะตกเป็นเหยื่อของการดำเนินการที่บกพร่องนั้น แม้ว่าหลายขั้นตอนในชั้นการสอบสวน เช่น การออกหมายค้น หมายจับ ที่ต้องดำเนินการผ่านศาลยุติธรรม แต่ก็คงไม่ลืมว่า การที่จะออกหมายได้แม้ต้องผ่านการยื่นคำร้องขอต่อศาล แต่การรวมรวมพยานหลักฐานเพื่อนำเสนอต่อศาลในขั้นตอนก่อนออกหมายนั้น เป็นการดำเนินการของพนักงานสอบสวน หากพนักงานสอบสวนกระทำโดยบกพร่องหรือละเลยไม่ดำเนินการด้วยความเป็นธรรม พยานหลักฐานที่ปรากฎต่อศาลก็อาจไม่สมบูรณ์จนเป็นเหตุให้มีการออกหมายไปสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ได้ เช่นเดียวกับเรื่องร้องเรียนที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนไม่ได้รับความเป็นธรรมร้องเรียนผ่านเข้ามายัง ศนธ.ยธ. นั้น พนักงานอัยการไม่มีส่วนในการดำเนินการของพนักงานสอบสวนในชั้นสอบสวนของพนักงานสอบสวนเลย พนักงานอัยการเพียงแต่รับสำนวนการสอบสวนจากพนักงานสอบสวนหลังจากที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๔๐ เท่านั้น 

                     ๒.๓ ศาล ในการที่ศาลจะพิพากษาลงโทษนั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้บัญญัติให้ศาลใช้ดุลยพินิจภายใต้บทบัญญัติมาตรา ๒๒๗                           

          มาตรา ๒๒๗  ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น

       เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย

      ในคดีอาญาแตกต่างกับคดีแพ่ง ในคดีแพ่งนั้นศาลจะต้องวินิจฉัยโดยการชั่งน้ำหนักพยานทั้งสองฝ่ายเทียบกันดูว่า ฝ่ายใดมีเหตุผลและน้ำหนักดีกว่ากัน ฝ่ายใดมีน้ำหนักมากกว่าก็ตัดสินให้ผ่ายนั้นชนะคดีไป ส่วนในคดีอาญานั้นจะพิจารณาหลักฐานของโจทก์จนแน่ใจว่า มีความผิดเกิดขึ้นจริงและจำเลยกระทำความผิดนั้นจึงจะลงโทษจำเลยได้ จะใช้วิธีการชั่งน้ำหนักพยานอย่างเช่นคดีแพ่งไม่ได้ ดังที่คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๙๙/๒๔๘๗ ได้เคยวางหลักไว้ว่า คดีอาญาโจทก์จะต้องนำสืบให้ปราศจากสงสัยว่า จำเลยทำผิดจริง แต่คดีแพ่งศาลต้องดูพยานหลักฐานของทุกฝ่าย แล้วพิจารณาว่าพยานหลักฐานทั้งหมดเจือสมหนักไปข้างฝ่ายใด แม้จะไม่ถึงปราศจากข้อสงสัยศาลก็ชี้ขาดให้ชนะคดีได้   

      ในคดีอาญาการจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้หรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์เป็นสำคัญ เพราะถือว่าโจทก์มีหน้าที่นำสืบพิสูจน์ความผิดของจำเลย หากพยานโจทก์ไม่พอฟังแล้ว แม้จำเลยจะเบิกความในฐานะเป็นพยานของตนว่าได้ทำผิดจริงก็ลงโทษจำเลยไม่ได้ เพราะจำเลยมิได้ให้การในฐานเป็นพยานโจทก์ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๕๔๐/๒๕๐๔

                     ๒.๔ ทนายความ  ทนายความแม้ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ แต่ทนายความก็มีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบต่อลูกความของตนในฐานะที่ต้องใช้ความพยายามต่อสู้ให้ลูกความได้รับความเป็นธรรม ทนายความที่ได้รับการแต่งตั้งให้ต่อสู้คดีให้กับผู้ถูกกล่าวหา มีทั้งที่รัฐแต่งตั้งให้และที่ผู้ถูกกล่าวหาแต่งตั้งเอง ซึ่งทนายความเหล่านี้เมื่อได้รับการแต่งตั้ง ลูกความที่ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหามักจะเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า ทนายความจะรักษาสิทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหาอย่างเต็มที่และให้คำแนะนำแก่ผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นการรักษาสิทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหา มีหลายกรณีที่คณะทำงานของ ศนธ.ยธ ตรวจสอบกลับพบว่า  เหตุที่ผู้ที่ถูกกล่าวหาถูกดำเนินคดีจนกระทั่งถูกลงโทษ ทนายความมักละเลยต่อความรับผิดชอบ เช่น บางกรณีเมื่อรับค่าจ้างว่าความแล้วกลับไม่ใส่ใจ ไม่นำพยานหลักฐานที่ผู้ถูกกล่าวหาเข้ามากล่าวอ้างในคดีเข้ามาต่อสู้ในคดี ทำให้การนำพยานหลักฐานเข้าต่อสู้ในคดีของผู้ถูกกล่าวหาบกพร่อง บางกรณีทนายความเมื่อรับค่าจ้างว่าความมาแล้ว กลับใช้วิธีการแนะนำง่าย ๆ ให้ผู้ถูกกล่าวหารับสารภาพเพื่อหวังให้มีการรอการลงโทษ ซึ่งบางกรณีผู้ถูกกล่าวหาหลงเชื่อตามคำแนะนำ แต่ก็ถูกลงโทษทั้ง ๆ ที่ตนเองไม่ได้กระทำผิด บางกรณีพบว่า เมื่อต่อสู้คดีจนศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษแล้ว แต่ไม่ติดตามและไม่แนะนำลูกความของตน ชาวบ้านที่เป็นผู้ถูกกล่าวหาไม่เข้าใจในข้อกฎหมายว่า แม้ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาให้ยกฟ้องแล้ว ยังมีศาลสูงที่แก้คำพิพากษาให้ลงโทษได้ เมื่อทนายความไม่ใส่ใจหรือไม่ให้ความกระจ่างเรื่องนี้กับลูกความ ปล่อยให้ลูกความเข้าใจเอาเอง ไม่มีการติดตามแนะนำแก่ลูกความที่เป็นผู้ถูกกล่าวหา จนบางกรณีผู้ถูกกล่าวหาต้องถูกลงโทษ เพราะเหตุไม่แก้คดีในศาลสูง เหล่านี้เป็นเรื่องที่ตัวทนายความต้องหันมาตระหนักในความรับผิดชอบของตน

                 ๓. กรณีตัวอย่างและข้อสังเกต

                     ในชั้นนี้ขอยกตัวอย่างบางกรณีที่พบจากการตรวจสอบของคณะทำงานของ ศนธ.ยธ มีดังนี้

                     ตัวอย่างคดีที่ ๑

                     คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ ๒๐.๐๐ น. เป็นคดีขับรถยนต์โดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้หญิง โดยพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาระบุว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้ขับรถยนต์          แซงรถจักรยานยนต์ที่อยู่ข้างหน้าล้ำไปในช่องทางที่สวนมา ทำให้ชนกับรถจักรยานที่ผู้ตายขี่สวนมาเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ขณะเกิดเหตุมีพยานที่พบเห็นเหตุการณ์เป็นกลุ่มผู้ขับขี่จักรยานยนต์ที่ถูกรถยนต์คันก่อเหตุแซงขึ้นไปชนรถจักรยานของผู้ตาย ได้ให้ข้อเท็จจริงว่า เห็นคนขับรถยนต์คันที่มาก่อเหตุเป็นผู้ชายลงจากรถมาดูผู้ตายแล้วขึ้นรถขับหนีไป และพยานได้ให้การกับพนักงานสอบสวนว่า จำได้หมายเลขทะเบียนรถยนต์ที่ก่อ

เหตุได้ แต่หมวดอักษรไม่แน่ใจว่าเป็นอักษรใด ส่วนจังหวัดจำไม่ได้ว่าจังหวัดใด

         พนักงานสอบสวนใช้หมายเลขทะเบียนรถมาเป็นฐานในการสืบสวนสอบสวน โดยนำหมายเลขที่ปรากฎบนแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ที่พยานให้การว่าจำได้มาตรวจสอบ เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าหมายเลขรถคันที่ก่อเหตุตรงกับหมายเลขของรถยนต์ที่ผู้ถูกกล่าวหาใช้อยู่ พนักงานสอบสวนก็มุ่งประเด็นไปว่า รถยนต์ที่ก่อเหตุเป็นรถยนต์ที่ผู้ถูกกล่าวหาใช้อยู่ จึงมีการตั้งข้อกล่าวหากับผู้ถูกกล่าวหาจนมีการฟ้องผู้ถูกกล่าวหาต่อศาล คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโดยอาศัยเหตุสงสัยหลายประเด็นว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด ส่วนศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยศาลฎีกาพิพากษาให้ลงโทษจำเลย

                     จากการตรวจสอบของคณะทำงานพบข้อที่น่าสังเกตหลายประการดังนี้

                     (๑) การตรวจสอบหมายเลขทะเบียนรถยนต์ ไม่รอบคอบ พยานเห็นและจดจำเฉพาะหมายเลขที่ปรากฎที่แผ่นป้ายทะเบียนของรถยนต์คันที่ก่อเหตุเท่านั้น พยานจำไม่ได้ว่าชื่อจังหวัดที่ปรากฏที่แผ่นป้ายทะเบียนเป็นชื่อจังหวัดใด  พนักงานสอบสวนใช้หมายเลขที่พยานจำได้นี้เป็นฐานในการตรวจสอบ โดยไม่ฉุกคิดว่าหมายเลขบนแผ่นป้ายทะเบียนและหมวดอักษรของรถที่จดทะเบียนในจังหวัดหนึ่งอาจซ้ำกันกับเลขทะเบียนและหมวดอักษรที่จดทะเบียนในอีกจังหวัดหนึ่ง ทำให้เมื่อทำการตรวจสอบจึงมุ่งไปที่รถยนต์ที่ผู้ถูกกล่าวหาใช้อยู่เพียงรายเดียว ไม่มีการตรวจสอบครอบคลุมไปยังรถยนต์คันอื่นของผู้ใช้รายอื่นที่อาจจดทะเบียนในจังหวัดอื่น หรือจดทะเบียนในจังหวัดเดียวกันแต่คนละหมวดอักษร ทั้ง  ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว  รถยนต์ที่มีหมายเลขบนแผ่นป้ายทะเบียนเลขเดียวกัน อาจจดทะเบียนในหมวดอักษรอื่น และหรืออาจจดทะเบียนที่จังหวัดอื่นด้วย

                     (๒) รถจักรยานที่ผู้ตายขี่มาในทิศทางตรงกันข้ามกับรถยนต์ที่ก่อเหตุล้มอยู่บริเวณขอบทางด้านขวาของรถยนต์ที่ก่อเหตุและเป็นขอบทางฝั่งด้านซ้ายที่ผู้ตายขี่มา แต่พนักงานสอบสวนนำรอยครูดที่ปรากฏที่ฝากระโปรงรถซึ่งอยู่ทางด้านซ้ายของฝากระโปรงรถมาเป็นข้อพิจารณา ซึ่งหากเฉี่ยวชนกันจริงรอยครูดน่าจะอยู่ทางด้านขวาของรถยนต์ที่จำเลยขับขี่มากกว่า เพราะด้านขวาเป็นด้านเดียวกับด้านที่ผู้ตายขี่จักรยานสวนมา ในประเด็นรอยครูดทางด้านซ้ายของฝากระโปรงรถนี้ ผู้ถูกกล่าวหาได้มีพยานมายืนยันว่า     เป็นรอยครูดที่เกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์ในคดีนี้ เป็นรอยครูดจากรถยนต์ของผู้ถูกกล่าวหาถูกขับไปชนและครูดกับรั้วลวดหนามก่อนเกิดเหตุคดีนี้

                     (๓) รถยนต์ของผู้ถูกกล่าวหาเป็นสีบรอนซ์ทองมีแผ่นป้ายทะเบียนเป็นแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล แผ่นป้ายมีลักษณะพื้นสีขาว ตัวอักษร ขอบแผ่นป้าย หมายเลขรวมทั้งชื่อจังหวัดเป็นสีเขียว รถจักรยานที่ผู้ตายขี่มาจนถูกชนเป็นสีม่วง สีที่ติดอยู่ที่ตะเกียบของรถจักรยานของผู้ตายเป็นสีเขียว มีการนำสีเขียวที่ติดกับตะเกียบรถจักรยานของผู้ตายไปตรวจพิสูจน์ แล้วมีการให้ความเห็นว่า สีจากแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์เป็นสีชนิดเดียวกันกับสีที่ติดอยู่ที่จักรยานของผู้ตายที่ถูกชน แต่ก็ปรากฎว่า แผ่นป้ายทะเบียนไม่มีร่องรอยเสียหาย

                     (๔) พยานบุคคลในที่เกิดเหตุ และพบเห็นเหตุการณ์ใกล้ชิดกับที่เกิดเหตุมีหลายคน           แต่พนักงานสอบสวนสอบมาปากเดียว และพยานปากที่พนักงานสอบสวนสอบมานี้ก็เบิกความในศาลว่า      เห็นคนขับรถที่ชนผู้ตายเป็นผู้ชาย (ผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้เป็นผู้หญิง) ซึ่งได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนในประเด็นนี้ไว้ แต่พนักงานสอบสวนไม่ได้บันทึก ในชั้นตรวจสอบของคณะทำงานพยานปากนี้ก็ยืนยันเช่นเดียวกันว่า เห็นคนขับรถยนต์ที่ชนผู้ตายเป็นผู้ชาย และให้การกับพนักงานสอบสวนไว้ แต่พนักงานสอบสวนไม่บันทึก ในชั้นตรวจสอบของคณะทำงานได้สอบปากคำพยานที่อยู่ในที่เกิดเหตุปากอื่นที่เห็นเหตุการณ์และพนักงานสอบสวนไม่ได้สอบสวนไว้ ก็ให้การว่าเห็นคนขับรถยนต์ที่ชนผู้ตายเป็นผู้ชาย แต่พนักงานสอบสวนไม่ได้สอบสวนพยานปากนี้ไว้ ในชั้นพิจารณาของศาลพยานบุคคลที่พนักงานสอบสวนสอบสวนไว้ก็เบิกความว่า     เห็นคนขับรถยนต์คันที่เกิดเหตุเป็นผู้ชาย

                     (๕) ผู้ถูกกล่าวหาได้อ้างถึงถิ่นที่อยู่ว่าตนเองไปทำกิจกรรมอะไรบ้างก่อนหน้าจนถึงช่วงเวลาเกิดเหตุในคดีนี้ เพื่อจะแสดงให้เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้เดินทางไปก่อเหตุยังที่เกิดเหตุ แต่พนักงานสอบสวนไม่ได้สอบสวนพยานแวดล้อมบางส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหาได้อ้างฐานที่อยู่ในช่วงเวลาก่อนเกิดเหตุและเป็นเวลาที่ใกล้ชิดกับเวลาเกิดเหตุไว้ ได้แก่ เจ้าหน้าที่ขนส่ง ร้านเสริมสวย ร้านขายเสื้อผ้า ตลาดขายอาหาร                ซึ่งเพราะถ้าสอบสวนพยานกลุ่มนี้ไว้ หรือมีการอ้างเข้ามาในคดี อาจจะเป็นการเพิ่มความสงสัยถึงความเป็นไปได้ในการกล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาว่า ได้เดินทางไปก่อเหตุยังสถานที่เกิดเหตุหรือไม่                           

                     (๖) ผู้ต้องหาอ้างฐานที่อยู่โดยมีญาติที่อยู่ด้วยเข้ามาในคดี แต่ในกระบวนการรับฟัง เห็นว่า พยานซึ่งเป็นญาติมีน้ำหนักน้อย ทำให้ข้ออ้างของผู้ถูกกล่าวหาในส่วนของการอ้างฐานที่อยู่ไม่ได้รับฟังเท่าที่ควร                     

                    ตัวอย่างคดีที่ ๒

                    คดีนี้เป็นกรณีกล่าวหาในข้อหาลักทรัพย์ ขณะเกิดเหตุผู้เสียหาย พยานจดจำตำหนิรูปพรรณคนร้ายตลอดทั้งหมายเลขทะเบียนรถคันที่คนร้ายนำมาใช้ก่อเหตุได้ ได้มีการเข้าร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนได้สืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน มีการจับกุมดำเนินคดีผู้ต้องหา ๒ คนซึ่งเป็นพี่น้องกัน จนศาลพิพากษาลงโทษ

                    จากการตรวจสอบของคณะทำงานมีข้อสังเกตุดังนี้                

                    (๑) เหตุเกิดเวลาประมาณ ๒๒.๐๐ น. ที่เกิดเหตุห่างจากบ้านของผู้ถูกกล่าวหาไปประมาณ ๔๕๐ กิโลเมตร หลังเกิดเหตุได้มีการประสานส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ในท้องที่อันเป็นที่ตั้งบ้านของผู้ถูกกล่าวหาไปตรวจสอบที่บ้านของผู้ถูกกล่าวหา ตำรวจได้ไปตรวจสอบที่บ้านผู้ถูกกล่าวหาในเวลาประมาณ ๒๔.๐๐ น.  ของวันเดียวกับวันเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไปตรวจสอบพบว่าผู้ถูกกล่าวหาอยู่ที่บ้าน และไม่พบรถยนต์      ที่คนร้ายนำไปก่อเหตุ ซึ่งหากใช้ความระมัดระวังและละเอียดรอบคอบแล้ว ก็จะเห็นข้อพิรุธโดยชัดแจ้งว่า ผู้ถูกกล่าวหามาก่อเหตุในที่เกิดเหตุและเดินทางกลับไปยังบ้านตนเองโดยซึ่งห่างโดยระยะทางถึง ๔๕๐ กิโลเมตร ในระยะเวลาเพียง ๒ ชั่วโมงได้อย่างไร และการจะกล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาสมเหตุสมผลหรือไม่

                     (๒) พนักงานสอบสวนนำภาพของผู้ถูกกล่าวหาที่ได้จากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ มาให้ผู้เสียหายและพยานชี้ โดยอาศัยเหตุเพียงว่าผู้ถูกกล่าวหามีชื่อในทะเบียนบ้านหลังเดียวกับชื่อเจ้าของรถที่คนร้ายนำไปก่อเหตุ โดยสงสัยว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นคนร้าย หากพนักงานสอบสวนจะใช้ความรอบคอบฉุกคิดเรื่องระยะห่างจากจุดที่เกิดเหตุไปยังบ้านผู้ถูกกล่าวหาประกอบระยะห่างระหว่างเวลาเกิดเหตุไปจนถึงเวลาที่ตำรวจผู้ไปตรวจพบผู้ถูกกล่าวหาอยู่ที่บ้าน ก็จะพบข้อสงสัยว่า ในระยะทาง ๔๕๐ กิโลเมตร จากจุดที่เกิดเหตุมายังบ้านผู้ถูกกล่าวหา หากผู้ถูกกล่าวหาไปก่อเหตุจริงผู้ถูกกล่าวหาใช้เวลา ๒ ชั่วโมงเดินทางกลับมายังบ้านตนเองได้อย่างไร             

                     (๓) เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับการประสานให้ไปตรวจสอบที่บ้านผู้ถูกกล่าวหานั้น ได้รับการประสานให้ไปตรวจสอบทางวิทยุ มีการจดในเอกสารการรับวิทยุว่า ให้ไปตรวจสอบที่บ้านเลขที่ ๗๑ หมู่ที่ ๒ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ไปตรวจสอบที่บ้านเลขที่ ๑๑ หมู่ที่ ๒ ซึ่งเป็นบ้านของผู้ถูกกล่าวหาและพบผู้ถูกกล่าวหาอยู่ที่บ้าน ก็ถูกตั้งเป็นข้อพิรุธว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไปตรวจสอบจริงหรือไม่ ทำให้น้ำหนักข้ออ้างเรื่องฐานที่อยู่ของผู้ถูกกล่าวหามีน้ำหนักน้อยลงไปอีก  ซึ่งในชั้นตรวจสอบของคณะทำงานพบว่า บ้านเลขที่ ๗๑ ในหมู่ที่ ๒ นั้นไม่มีตัวบ้าน ซึ่งข้อเท็จจริงในส่วนที่ในหมู่ที่ ๒ ไม่มีตัวบ้านที่เป็นบ้านเลขที่ ๗๑ ไม่ปรากฎในคดี

                     (๔) ผู้ถูกกล่าวหาหนึ่งในสองคนนั้น บวชหน้าไฟในงานศพให้บิดาที่เสียชีวิต แต่ผู้เสียหายและพยานยืนยันว่า คนร้ายไว้ผมยาว

                     (๕) การที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างภาพถ่ายงานศพ บัตรเชิญงานศพของบิดาผู้ถูกกล่าวหา เป็นพยาน แต่พยานหลักฐานส่วนนี้กลับไม่มีน้ำหนักในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหาเอง โดยถูกอ้างว่าบัตรเชิญงานศพบิดาจะทำขึ้นอย่างไรก็ได้

                     (๖) มูลค่าของทรัพย์ที่เสียหายในคดีนี้เพียง ๑๓,๐๕๐.- บาท ก็น่าสงสัยว่า ผู้ถูกกล่าวหาจะลงทุนจัดงานศพบิดา และมีการเชิญแขกเหลื่อมามากมายเพียงเพื่อปกปิดความผิดตัวเอง ทั้ง ๆ ที่เงินลงทุนจัดงานศพน่าจะสูงกว่าของทรัพย์ที่เสียหายในคดีนี้มากมายไปทำไม

                     (๗) ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองคนมีครอบครัวหน้าที่การงานเป็นหลักแหล่ง โดยเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาคนหนึ่งในคดีนี้เป็นข้าราชการตำแหน่งรองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล การที่จะลงทุนจัดงานศพบิดาตนเองเพื่อปกปิดการกระทำผิดของตนเองในการลักทรัพย์มูลค่า ๑๓,๐๕๐ บาท น่าจะเป็นไปได้หรือไม่                      

                    ตัวอย่างคดีที่ ๓

                    คดีนี้เกิดเมื่อเวลาประมาณ ๑๙.๕๐ น. ที่เกิดเหตุเป็นบริเวณบ้านของผู้เสียหาย โดยมีคนร้าย ๒ คนได้ขี่จักรยานยนต์มาที่บ้านผู้เสียหายแล้วใช้อาวุธปืนยิง ผู้กล่าวหาได้กล่าวหาว่าพยายามฆ่าผู้เสียหาย กระสุนถูกบ้านของผู้เสียหาย และมีเศษกระสุนปืนตกอยู่ ๆ ต่อมาได้มีการสืบสวนสอบสวนจับกุมผู้ถุกล่าวหามาดำเนินคดี จนศาลพิพากษาลงโทษ ผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่าในช่วงเวลานั้น ผู้ถูกกล่าวหาอยู่บนสถานีตำรวจกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาทราบว่าหลานสาวของผู้ถูกกล่าวหาถูกทำร้ายและไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ ผู้ถูกกล่าวหาจึงตามไป โดยผู้ถูกกล่าวหาไปถึงสถานีตำรวจเวลา ๑๙.๓๐ น.

                    จากการตรวจสอบของคณะทำงานมีข้อสังเกตุดังนี้

                    (๑) ผู้ถูกกล่าวหาเดินทางไปที่สถานีตำรวจตั้งแต่เวลา ๑๙.๓๐ น. และอยู่จนกระทั่งเวลา ๒๑.๓๐ น. ได้เดินทางกลับบ้าน ระหว่างอยู่ที่บ้านกับญาติและพวก จนเวลาประมาณ ๒๒.๐๐ น. ผู้ถูกกล่าวหาทราบจากฝ่ายผู้เสียหายว่า ผู้ถูกกล่าวหากับพวกได้ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่บ้านผู้เสียหาย ให้ผู้ถูกกล่าวหาไปสถานีตำรวจ ผู้ถูกกล่าวหาจึงได้ไปแสดงความบริสุทธิ์ที่สถานีตำรวจในทันทีโดยขอให้พนักงานสอบสวนตรวจคราบเขม่าดินปืน แต่พนักงานสอบสวนแจ้งผู้ถูกกล่าวหาว่า ไม่มีใครมาแจ้งความ และบอกผู้ถูกกล่าวหาว่า น้ำยาหมด วันรุ่งขึ้นผู้ถูกกล่าวหาได้ไปที่สถานีตำรวจอีกครั้งเพื่อให้ตรวจเขม่าดินปืน แต่ก็ไม่ได้รับการตรวจจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ

                    (๒) เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นเสมียนประจำวันที่ทำหน้าที่อยู่ขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาไปอยู่ที่สถานีตำรวจในวันเวลาเกิดเหตุก็ให้การต่อพนักงานสอบสวนและเบิกความเป็นพยานว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้อยู่ที่สถานีตำรวจจริงในช่วงวันเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้าง

                    (๓) ผู้เสียหายให้การว่า พวกของผู้ถูกกล่าวหาที่ขับขี่จักรยานยนต์ให้ผู้ถูกกล่าวหาซ้อนท้ายไปยิงผู้เสียหายสวมหมวกนิรภัย ส่วนผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นคนยิงนั่งซ้อนท้ายไม่สวมหมวก น่าสงสัยว่า เมื่อจะไปก่อเหตุตามวิสัยของคนร้ายน่าที่จะอำพรางใบหน้าตนเองเพื่อไม่ให้ผู้อื่นจดจำใบหน้าได้ แต่น่าสงสัยว่าในคดีนี้คนร้ายที่ขับขี่จักรยานยนต์พาคนร้ายอีกคนไปก่อเหตุสวมหมวกนิรภัย และคนร้ายที่นั่งซ้อนท้ายและใช้ปืนยิงกลับไม่พรางใบหน้าตนเอง

                    (๔) จากการตรวจสอบของคณะทำงานพบว่า มีพยานบางส่วนที่ไม่ได้ถูกนำเข้ามาในคดี ไม่มีการสอบสวนพยานกลุ่มนี้ไว้ ซึ่งพยานกลุ่มนี้ได้ให้ข้อเท็จจริงว่า หลังก่อเหตุคนร้ายที่ก่อเหตุในคดีนี้ที่ไม่ใช่ผู้ถูกกล่าวหาได้ไปบอกพยานกลุ่มนี้เองหลังจากก่อเหตุในทันทีว่า เป็นผู้ไปยิงปืนที่บ้านของผู้เสียหาย และพยานกลุ่มนี้ก็ไม่ได้ถูกกล่าวอ้างและนำเข้ามาในคดี

                   ตัวอย่างคดีที่ ๔

                    เหตุเกิดในเวลากลางวันเวลา ๑๐.๓๐ น. มีคนร้ายใช้รถระบะบรรทุกตอนเดียวขับขี่ไปแล้วใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย โดยพยานให้ข้อเท็จจริงว่าคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงมาจากห้องโดยสารด้านหน้า มีการจับกุมผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ จำนวน ๑ คน จนศาลงลงโทษประหารชีวิต โดยพยานได้ให้ข้อเท็จจริงว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้นั่งโดยสารมากับรถคนร้ายและนั่งโดยสารมาในส่วนกระบะท้าย

                    จากการตรวจสอบของคณะทำงาน มีข้อสังเกตุดังนี้

                    (๑) เหตุเกิดเวลา ๑๐.๓๐ น. ในช่วงเวลาเกิดเหตุผู้ถูกกล่าวหาอ้างฐานที่อยู่ว่า อยู่ห่างจากที่เกิดเหตุไปถึงกว่า ๓๐๐ กิโลเมตร โดยผู้ถูกกล่าวหามีอาชีพเป็นคนงานกรีดยาง ผู้ถูกกล่าวหาต่อสู้โดยอ้างฐานที่อยู่มีพยานบุคคลรับรองยืนยันว่า ผู้ถูกกล่าวหาทำงานและพักอาศัยอยู่ตามฐานที่อยู่ที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างจริง

                    (๒) เส้นทางจากฐานที่อยู่ที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างถ้าจะเดินทางไปยังที่เกิดเหตุ เป็นถนนสี่เลนประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร อีก ๒๐๐ กิโลเมตรเศษเป็นถนน ๒ เลน ซึ่งเมื่อพิจารณาจากลักษณะเส้นทางแล้วต้องใช้เวลาเดินทางจากที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างเป็นฐานที่อยู่ในเวลาเกิดเหตุมาถึงที่เกิดเหตุไม่ต่ำกว่า ๕ ชั่วโมง  

                    (๓) คนร้ายใช้รถกระบะขับมายิงผู้ตาย ประจักษ์พยานที่อยู่ในที่เกิดเหตุให้ข้อเท็จจริงว่า ผู้ถูกกล่าวหาแต่ผู้เดียวนั่งอยู่ที่กระบะท้าย ไม่อำพรางใบหน้า ส่วนคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายใช้อาวุธปืนยิงมาจากห้องโดยสารด้านหน้า น่าสงสัยว่า ผู้ถูกกล่าวหาจะมายิงผู้ตายทำไมต้องนั่งกระบะท้ายอย่างเปิดเผยแล้วไม่พรางหน้าเลย ผิดวิสัยของคนร้ายที่จะวางแผนมาก่อเหตุในคดีลักษณะนี้

                    (๔) ผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบจากภรรยาในคืนเดียวกับวันเกิดเหตุว่า ผู้ถูกกล่าวหาถูกกล่าวหาว่าไปยิงผู้ตาย วันรุ่งขึ้นผู้ถูกกล่าวหาได้เดินทางไปร่วมงานศพและเคารพศพผู้ตายพบภรรยาผู้ตาย โดยไปถึงงานในช่วงค่ำ วันต่อมาเวลา ๐๘.๐๐ น. ผู้ถูกกล่าวหาได้ไปพบพนักงานสอบสวนเจ้าของคดี ผู้ถูกกล่าวหาได้ถูกแจ้งให้รออยู่จน ๑๖.๐๐ น.จึงถูกแจ้งว่าถูกจับกุมในวันนั้น วันต่อมาได้รับการประกันตัว ผู้ถูกกล่าวหาได้กลับไปยังที่ถิ่นที่อยู่ที่ผู้ถูกกล่าวหาอยู่ขณะเกิดเหตุ พยายามหาหลักฐานจากกล้องวงจรปิดและพยานบุคคลเพื่อต่อสู้คดี

                    (๕) ในช่วงเวลาประมาณ ๑๑.๐๐ น. ของวันเกิดเหตุ ผู้ถูกกล่าวหาได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ออกจากที่พักซึ่งห่างออกไปจากที่เกิดเหตุกว่า ๓๐๐ กิโลเมตร ออกไปซื้อของที่ร้านขายของและร้านสะดวกซื้อ มีพยานเจ้าของร้านรู้เห็นแต่ไม่ถูกอ้างเข้ามาในคดี  เส้นทางที่ผู้ถูกกล่าวหาใช้เป็นเส้นทางผ่านนั้นมีกล้องวงจรปิดติดตั้งอยู่หลายจุด ผู้ถูกกล่าวหาได้พยายามนำภาพจากกล้องวงจรปิดที่หาได้มาอ้างในคดี โดยไปขอความร่วมมือจากร้านสะดวกซื้อที่ผู้ถูกกล่าวหาเข้าไปซื้อของ แต่ไม่ได้รับความร่วมมือจึงไม่สามารถนำภาพมาใช้ประกอบได้ ผู้ถูกกล่าวหาได้ภาพจากกล้องวงจรปิดของเทศบาลที่ตนเองขับขี่รถจักรยานยนต์ผ่าน แต่ไม่สามารถยืนยันได้เนื่องจากเป็นภาพที่เคลื่อนไหวเร็วและเป็นระยะไกล

                ๔. ข้อพิจาณา

                    กรณีตัวอย่างข้างต้นนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ ศนธ.ยธ. ได้ทำการตรวจสอบ ซึ่งภาพรวมจากการตรวจสอบไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ยกมากล่าวไว้ข้างต้น และเรื่องอื่น ๆ ที่ ศนธ.ยธ. ตรวจพบและไม่ได้ยกมาให้เห็น    มีปัญหาที่น่าจะพิจารณากล่าวคือ

                    (๑) มีประเด็นที่น่าสงสัยในการดำเนินการและใช้ดุลยพินิจของผู้ที่รับผิดชอบในกระบวนการดำเนินคดีหลายประการ หลายกรณีเท่าที่ตรวจพบดังตัวอย่างบางส่วนข้างต้น มีข้อน่าสงสัยว่า บุคลากรฝ่ายรัฐที่รับผิดชอบในกระบวนการแสวงหาพยานหลักฐาน เพื่อพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหา     ได้ใช้ความละเอียดรอบคอบตลอดจนใช้ความสามารถอย่างเต็มกำลังในการทำให้เกิดความเป็นธรรมโดยการรวบรวมพยานหลักฐานทั้งที่จะทำให้เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิด หรือพิสูจน์ความบริสุทธิ์แก่ผู้ถูกกล่าวหาอย่างเป็นธรรมหรือไม่ ตลอดทั้งการวิเคราะห์ในการจะชี้ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดหรือมีความบริสุทธิ์ตามที่ถูกกล่าวหานั้น มีการใช้ดุลยพินิจโดยรอบคอบเพียงใด การใช้ดุลยพินิจเป็นไปตามกรอบของเจตนารมย์ของข้อความตามตัวบทกฎหมายที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒ (๑๑) มาตรา ๑๓๑ และมาตรา ๒๒๗ หรือไม่

                    (๒) การอ้างฐานที่อยู่ของผู้ถูกกล่าวหาโดยอาศัยญาติ เพื่อน หรือคนใกล้ชิดเป็นพยาน มักจะถูกมองว่า เป็นคนใกล้ชิดมีน้ำหนักน้อย แต่หากมองอีกมุมหนึ่งว่า หากผู้กล่าวหาอ้างพยานหลักฐานซึ่งอาจเป็นการเข้าใจไปเองของผู้กล่าวหาหรือโดยความตั้งใจของผู้กล่าวหาที่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น โดยพยานหลักฐานนั้นจะชี้ให้เห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาอยู่ในที่เกิดเหตุและก่อเหตุขึ้น แล้วผู้ถูกกล่าวหาไม่มีพยานหลักฐานอื่น แต่ต่อสู้ว่าตนเองไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุแต่ได้อยู่ที่อื่น และไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด โดยอ้างสามี ภรรยา ญาติ หรือเพื่อนเป็นพยาน แต่การอ้างพยานในลักษณะนี้กลับถูกมองว่ามีน้ำหนักน้อย หากผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำผิดจริง แต่ไม่มีพยานอื่นมายืนยันแล้วผู้ถูกกล่าวหาจะเอาพยานหลักฐานใดมาอ้างว่าเป็นผู้ไม่ได้กระทำผิด

                    (๓) มีข้ออ้างเสมอว่า ภายใต้ตัวบทกฎหมายเปิดโอกาสให้คู่ความในคดีมีโอกาสต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าประชาชนที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีนั้นมีศักยภาพในการเข้าต่อสู้คดีไม่เท่าเทียมกัน บางคนเป็นคนยากจนหาเช้ากินค่ำ บางคนมีฐานะทางเศรษฐกิจมีความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งความแตกต่างเหล่านี้เราต้องยอมรับว่า ทำให้การเข้ามารับความเป็นธรรมจากที่ฝ่ายรัฐจัดให้นั้น ประชาชนไม่อาจเข้ามารับได้อย่างเท่าเทียม ประชาชนบางคนที่ต้องหาเช้ากินค่ำ แทนที่จะเอาเวลามาทำมาหากินเลี้ยงชีวิตตนเองและครอบครัวที่จำต้องทำทุกวัน กลับต้องเสียเวลาไปในการดิ้นรนหาหลักฐานมาต่อสู้พิสูจน์ข้อกล่าวหา ดังนี้ เป็นเรื่องที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องมาพิจารณา           

                    (๔) ที่ผ่านมาได้เคยมีผู้ทำการศึกษาเกี่ยวกับกรณีการที่ประชาชนต้องถูกดำเนินคดีและถูกลงโทษโดยไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือที่เรียกกันว่า คดีแพะ มาหลายเรื่อง แต่ละครั้งที่เกิดเหตุขึ้นก็จะมีผู้นำมากล่าวอ้างวิพากษ์วิจารณ์กันในสังคมในชั่วขณะหนึ่ง แล้วปัญหานี้ก็จะถูกลืมเลือนไป โดยแต่ละครั้งการแก้ไขมักจะมุ่งไปที่ตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องในกระบวนการดำเนินคดีว่า มีความบกพร่อง ไม่รอบคอบ ไม่รับผิดชอบในหน้าที่ และก็มีการกล่าวอ้างถึงเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยการแก้ไขมักมุ่งไปที่พฤติกรรมของตัวบุคคลที่มีหน้าที่ในการพิสูจน์ความผิด แต่ทุกวันนี้ปัญหาลักษณะเช่นนี้ยังมีขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จึงน่าคิดว่าการมุ่งไปที่การแก้ไขพฤติกรรมของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมเพียงอย่างเดียวทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องที่ทำได้ยากในสภาวะสังคมและจิตใจของคนเช่นปัจจุบันเพื่อไม่ให้มีปัญหานี้เกิดขึ้นนั้นถูกต้องหรือไม่ เราควรหันกลับไปพิจารณากลไกการแก้ไขการบริหารจัดการและรูปแบบของกระบวนรับฟังพยานหลักฐานเสียใหม่เป็นการควบคู่กันไปด้วยจะเป็นการดีกว่าหรือไม่  

                    (๕) ปัญหาที่เกิดขึ้นแก่ประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการดำเนินการโดยบกพร่องของฝ่ายที่เกี่ยวข้องนั้น เป็นปัญหาที่แก้ไขได้หากเราจะเอาประชาชนผู้รับบริการมาเป็นที่ตั้ง ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งผู้ที่อยู่ในระบบไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐหรือฝ่ายอื่นที่เกี่ยวข้อง ต้องเปิดใจยอมรับความจริง ยอมรับความเปลี่ยนแปลง มิใช่ใช้ความรู้สึกผูกพันกับอำนาจ องค์กร ที่ตนเองสังกัดอยู่ แล้วปกปิด ปกป้อง โดยอาศัยเหตุเพียงว่าเกรงจะกระทบต่อชื่อเสียงองค์กร โดยปล่อยให้ประชาชนต้องทนเจ็บปวดต่อความบกพร่องของคนในองค์กรต่อไป

                    (๖) จากการตรวจสอบพบว่า มีผู้ทำการศึกษาไมว่าจะเป็นเอกสารวิจัย วิทยานิพนธ์ หลายฉบับ ซึ่งเอกสารศึกษาเหล่านั้น มีการศึกษากระบวนการดำเนินคดีของต่างประเทศ แต่ละฉบับได้กล่าวไว้ทำนองเดียวกันว่า กระบวนการสอบสวนและการฟ้องร้องเป็นกระบวนการที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน ไม่ได้แยกอำนาจการสอบสวนออกจากอำนาจการสั่งฟ้องเช่นของประเทศไทย การที่กระบวนการรวบรวมพยานหลักและพิสูจน์ความผิดมีปัญหาตามที่ได้ถูกนำเสนอจากการตรวจสอบข้างต้น เป็นเรื่องน่าคิดว่า ระบบของไทยนั้นยังขาดกรบวนการกลั่นกรองที่รอบคอบตั้งแต่ชั้นต้นในการเริ่มคดี โดยเราแยกอำนาจการสอบสวนกับการฟ้องร้องออกจากกัน แล้วสร้างมโนคติให้กับคนในสังคมเข้าใจไปว่า การแยกออกจากกันเช่นนี้เป็นการถ่วงดุลย์ระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวนกับอำนาจการสั่งฟ้องของพนักงานอัยการ จริงอยู่แม้ว่าพนักงานอัยการเมื่อรับสำนวนการสอบสวนจากพนักงานสอบสวนแล้ว อาจสั่งให้พนักงานสอบสวนสอบสวนเพิ่มเติม หรือเรียกพยานมาสอบเพิ่มเติมได้ แต่หากพนักงานสอบสวนไม่ดำเนินการโดยโปร่งใส ดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานมาโดยตกแต่งพยานมาเป็นที่เรียบร้อย สมเหตุสมผล แล้วพนักงานอัยการจะเอาอะไรไปเป็นเหตุในการสั่งพนักงานสอบสวนได้ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องและคนในสังคมนี้สมควรหันกลับมาทบทวนเป็นอย่างยิ่ง

                . แนวทางการแก้ไข                      

                    (๑) ควรเพิ่มบทบาทของพนักงานอัยการให้เข้ามามีส่วนในคดีตั้งแต่ชั้นเริ่มต้นคดี โดยการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แนวทางนี้น่าจะเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้ได้ และเพื่อเป็นการตรวจสอบการทำงานของพนักงานสอบสวนในชั้นแรกตั้งแต่เริ่มสอบสวนได้ส่วนหนึ่ง                        

                    (๒) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๓๑ เป็นบทบัญญัติที่ใช้กับพนักงานสอบสวน ส่วนมาตรา ๒๒๗ เป็นบทบัญญัติที่ใช้กับศาล จะเห็นได้ว่าบทบัญญัติลักษณะนี้ไม่มีในส่วนที่ใช้บังคับพนักงานอัยการ ดังนั้น เมื่อเพิ่มบทบาทของพนักงานอัยการดังกล่าวแล้ว ก็ควรมีบทบัญญัติลักษณะเช่นนี้ไว้ให้พนักงานอัยการต้องปฏิบัติด้วย

                    (๓) ปฏิรูปการทำงานของพนักงานสอบสวนโดยเร็ว ให้มีอิสระในการทำงาน มีหลักประกันการทำงานและความก้าวหน้าในสายงานที่รับผิดชอบอย่างแท้จริง ต้องไม่ให้ผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวนและเติบโตมาในสายงานสอบสวนโดยตรง มาแย่งตำแหน่งของพนักงานสอบสวน โดยอ้างว่าเพื่อความเหมาะสมอย่างที่ผ่าน ๆ มา อีกทั้งไม่ให้ฝ่ายบริหารไม่ว่าผู้บริหารในองค์กร หรือผู้บริหารที่มาจากทางการเมืองเข้ามาแทรกแซงการใช้ดุลยพินิจในการวินิฉัยสั่งการในคดี

                    (๔) ให้มีองค์กรคานอำนาจและตรวจสอบการทำงานของพนักงานสอบสวนและให้เข้ามาช่วยเหลือในชั้นแรกที่ประชาชนมีคดีความในทันที ไม่ปล่อยให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องต่อสู้คดีโดยลำพังตนเองโดยรัฐต้องคำนึงอยู่เสมอว่า ความยุติธรรมที่ประชาชนจะได้รับนั้น รัฐมีหน้าที่ในการให้ความเป็นธรรม ไม่ใช่ปล่อยให้ประชาชนดิ้นรนแสวงหาเอาเอง ทั้ง ๆ ที่ประชาชนบางส่วนซึ่งตกเป็นเหยื่อของความอยุติธรรมอยู่ในสภาวะอ่อนแอที่ไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะแสวงหาความเป็นธรรมมาได้ด้วยตนเอง

                    (๕) ควรปรับบทบาทและภารกิจของกรมสอบสวนคดีพิเศษเสียใหม่ ให้เข้ามามีบทบาทในการคานอำนาจกับองค์กรที่มีอำนาจในการสืบสวนสอบสวน และองค์กรบังคับใช้กฎหมายอื่น โดยเน้นการปฏิบัติไปในทางการตรวจสอบการใช้อำนาจ การใช้ดุลยพินิจขององค์กรเหล่านั้น ขณะเดียวกันก็ต้องปลูกฝังบุคลากรของของกรมสอบสวนคดีพิเศษให้ตระหนักถึงความรับผิดชอบเหล่านี้ไปในคราวเดียวกันด้วย

                    (๖) การใช้ดุลยพินิจของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมควรให้มีการตรวจสอบให้รอบคอบ การเป็นองค์คณะทำงานก็ควรพิจารณาการใช้ดุลยพินิจของทุกคนในคณะทำงานอย่างแท้จริง เพื่อความรอบคอบมิให้เกิดข้อผิดพลาด

                    (๗) การตรวจสอบมารยาทนายความต้องมีอย่างเข้มข้นกว่าเก่า ให้ผู้ประกอบวิชาชีพทนายความมีความรับผิดชอบต่อลูกความของตน ไม่ว่าทนายความนั้นจะได้รับการแต่งตั้งโดยลูกความเอง หรือถูกแต่งตั้งโดยรัฐแต่งตั้งให้เข้าช่วยเหลือตัวความก็ตาม