ดีเอสไอ ตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุกรณีการบุกรุกที่ดินของรัฐ ป่าสงวนแห่งชาติ ในพื้นที่อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา รับเป็นคดีพิเศษ ๒ พื้นที่
เผยแพร่: 27 มิ.ย. 2558 20:27 น. ปรับรุง: 27 มิ.ย. 2558 20:27 น. เปิดอ่าน 1973 ครั้ง
ดีเอสไอ ตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุกรณีการบุกรุกที่ดินของรัฐ ป่าสงวนแห่งชาติ ในพื้นที่อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา รับเป็นคดีพิเศษ ๒ พื้นที่
ในวันนี้ (วันเสาร์ที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๘) พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินทรขาว รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และ พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล ผู้บัญชาการสำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ได้เดินทางไปตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุกรณีการบุกรุกที่ดินของรัฐ ป่าสงวนแห่งชาติ ในพื้นที่อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา ซึ่งได้รับเป็นคดีพิเศษ ๒ พื้นที่
พื้นที่ที่ ๑ เมื่อปี ๒๕๔๙ คณะกรรมการคดีพิเศษได้มีมติให้รับกรณีนายทุนชาวมาเลเซีย เชื้อสายจีน ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบในที่ดินของรัฐ ป่า ป่าสงวนแห่งชาติ ในพื้นที่ หมู่ที่ ๓ ตำบลพรุใน อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา จำนวน ๕๑ แปลง เนื้อที่ประมาณ ๑,๐๐๐ ไร่ และนำที่ดินส่วนหนึ่งพร้อมกับการเขียนโครงการบ้านพักตากอากาศ โรงแรม สนามกอล์ฟ ห้างสรรพสินค้า ไปจำนองกับธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ จำกัด (มหาชน) และธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ได้รับเงินประมาณ ๑,๘๐๐ ล้านบาท ในช่วงปี ๒๕๓๗-๒๕๓๘ จากนั้นก็ไม่ชำระหนี้ ในเวลาต่อมาธนาคารทั้งสองแห่งได้ปิดกิจการ โดยมูลเหตุที่สำคัญของการปิดกิจการเกิดจากการปล่อยสินเชื่อในวงเงินสูงๆ ในลักษณะนำที่ดินของรัฐที่มีการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบมาเขียนโครงการเพื่อเพิ่มมูลค่า จากนั้นปล่อยทิ้งร้างกลายเป็นหนี้เสีย ปัจจุบันมีหนี้สินพร้อมดอกเบี้ยเป็นเงินประมาณ ๓,๐๐๐ ล้านบาท ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษได้มีการดำเนินคดีและมีความเห็นสั่งฟ้อง จำนวน ๑๔ คดี พนักงานอัยการได้สั่งฟ้องจำนวน ๙ คดี โดยมีการรวมคดีบางเรื่องไว้ด้วยกัน ซึ่งขณะนี้ได้สืบพยานจนเสร็จสิ้นแล้ว ศาลอาญาได้พิพากษาลงโทษจำคุกนายอำเภอเกาะยาว ๒๔ ปี จำคุกกำนันตำบลพรุใน ๔ ปี และลงโทษจำคุกผู้ครอบครองที่ดินหลายรายตั้งแต่ ๔ ปี ถึง ๑๕ ปี ปรากฏรายละเอียดตามท้ายหนังสือนี้ ซึ่งนายทุนภูเก็ตผู้กระทำผิดเป็นเครือข่ายของนายตัน เต็ก ไฮ้ หรือวาเลนติโน ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลรายสำคัญในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต หลังจากมีคดีเกิดขึ้นได้หลบหนีไปยังประเทศมาเลเซีย จึงได้ออกหมายจับไว้ การดำเนินคดีในเรื่องนี้เป็นความสำเร็จในการบังคับใช้กฎหมายกับข้าราชการและผู้มีอิทธิพลที่สำคัญอย่างเด็ดขาด เป็นการป้องปรามการกระทำผิดบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามนโยบายของรัฐบาล
พื้นที่ที่ ๒ เมื่อปี ๒๕๔๙ คณะกรรมการคดีพิเศษได้มีมติให้รับกรณีการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าช่องหลาด ป่าเกาะยาวใหญ่แปลงที่ ๑ หมู่ที่ ๓ ต.เกาะยาวใหญ่ อ.เกาะยาว จ.พังงา โดยกลุ่มนายทุนภูเก็ตรายใหญ่ได้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในอดีตทำการออกเอกสารสิทธิทับที่ป่าสงวนทั้งสองแห่งและทับที่ภูเขาสูงถึงยอดเขา รวมถึงการออกเอกสารสิทธิทับพื้นที่ราบตีนเขาที่ราษฎรทำกิน เป็นคดีพิเศษ ต่อมาเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๘ อัยการสูงสุดได้ชี้ขาดให้ฟ้องนายทุนภูเก็ตจำนวน ๔ ราย ฐานบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ดังกล่าวชาวบ้านย่าหมี หมู่ที่ ๓ ต.เกาะยาวใหญ่ ได้ออกมาปกป้องคุ้มครองป่าสงวนแห่งชาติมาโดยตลอดเพราะพื้นที่ดังกล่าวชาวบ้านรู้ดีว่าเป็นที่สงวนหวงห้ามของรัฐและยังเป็นป่าต้นน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตของคนในชุมชน จึงออกมาต่อสู้เพื่อทวงคืนผืนป่าแห่งนี้ไว้เป็นสมบัติของชาติและของลูกหลานต่อไป
การบังคับใช้กฎหมายในเรื่องการบุกรุกที่ดินของรัฐใช้เวลาในกระบวนการยุติธรรมที่ยาวนาน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหามาตรการป้องกันการบุกรุกพื้นที่ดังกล่าว และพบว่าที่อำเภอเกาะยาว มีพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติถึง ๑๒ แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ ๓ ตำบล และพบว่าเป็นพื้นที่ที่มีการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติมากแห่งหนึ่ง ซึ่งพบว่ามีการใช้ ส.ค.๑ จากที่ดินแปลงอื่นมาอ้างออกบนภูเขาและเขตป่าสงวนแห่งชาติ ฉะนั้นในปี ๒๕๕๒ กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงได้ร่วมกับนักเรียนโรงเรียนเกาะยาววิทยา ผู้นำชุมชน และชาวบ้านเกาะยาว ทำการตรวจสอบ ส.ค.๑ ในพื้นที่อำเภอซึ่งพบว่ามี ส.ค.๑ ที่ยังไม่ได้ถูกแทงจำหน่ายออกจากสารบบจำนวน ๘๙๒ ฉบับ จึงได้จัดทำโครงการดังกล่าวโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบโดยใช้ระยะเวลา ๒ สัปดาห์ ผลปรากฏว่าสามารถตรวจสอบ ส.ค.๑ ได้จำนวน ๖๕๔ แปลง แยกเป็นที่ดินที่ออกเอกสารสิทธิไปแล้วจำนวน ๔๗๕ แปลง อยู่ระหว่างการออกโฉนด ๑๐๒ แปลง และพบว่ามีชาวบ้านที่มีที่ดินและยังไม่ได้ออกโฉนดอีกจำนวน ๗๗ แปลง สามารถนำเอา ส.ค.๑ ที่ได้ค้นหามานานหลายสิบปีและไม่พบ แต่ได้มาพบในโครงการ นำเอา ส.ค.๑ ไปออกโฉนดได้ โครงการนี้จึงถือได้ว่าเป็น “เกาะยาวโมเดล” ที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันการบุกรุกรุกป่าสงวนแห่งชาติและการทำลายทรัพยากรป่าไม้ ป้องกันการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ และมีผลพลอยได้ที่ทำให้ประชาชนมีความสุขกับการได้ออกเอกสารสิทธิ เพราะที่ดินมือเปล่าบนเกาะมีราคาไร่ละประมาณ ๕๐,๐๐๐ บาท แต่ถ้าออกโฉนดได้ราคาประมาณไร่ละ ๑ ล้านบาท และเป็นที่ดินของนายทุนที่ไม่สามารถตรวจสอบได้จำนวน ๒๓๘ แปลง นอกจากนี้ทำให้ชาวบ้านรู้จักญาติของตนมากขึ้นจากการตรวจสอบประวัติของที่ดิน จึงถือเป็นประโยชน์สุขสูงสุดของชาวเกาะยาวที่ได้มีส่วนร่วมกับการดูแลทรัพยากรป่าไม้และได้สิทธิที่ควรจะเป็น ข้อมูลทั้งหมดได้ถูกส่งไปยังสำนักงานที่ดินอำเภอเกาะยาวเพื่อให้แทงจำหน่าย ส.ค.๑ ออกจากสารบบ , ส่วนหนึ่งเก็บไว้กับชุมชนเพื่อใช้ในการตรวจสอบ และอีกส่วนหนึ่งเก็บไว้ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อเป็นฐานข้อมูลในการบังคับใช้กฎหมายต่อไป