ดีเอสไอ เร่งบูรณาการ 8 หน่วยงาน ร่วมขับเคลื่อนกาฬสินธุ์โมเดล

เผยแพร่: 6 ส.ค. 2561 21:29 น. ปรับปรุง: 6 ส.ค. 2561 21:29 น. เปิดอ่าน 1060 ครั้ง  
 

ดีเอสไอ เร่งบูรณาการ 8 หน่วยงาน ร่วมขับเคลื่อนกาฬสินธุ์โมเดล

                    เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2561 พันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มอบหมายให้ พันตำรวจโท ประวุธ วงศ์สีนิล  รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ  พันตำรวจโท วิชัย สุวรรณประเสริฐ ผู้อำนวยการกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ พร้อมด้วคณะทำงานศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ลงพื้นที่เพื่อพบปะประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้สินกว่า 300  คน ณ หอประชุมจังหวัดกาฬสินธุ์ ศูนย์ราชการจังหวัดกาฬสินธุ์   โดยมีผู้แทนจาก  8 หน่วยงาน เข้าร่วมรับฟังและแก้ไขปัญหา ประกอบด้วย  กระทรวงยุติธรรม  กรมสอบสวนคดีพิเศษ   จังหวัดกาฬสินธุ์    ธนาคารออมสิน   ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร   สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์กรมหาชน)  สภาเกษตรกร และมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ 

                   พันตำรวจโท ประวุธ วงศ์สีนิล กล่าวว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับมอบภารกิจจากกระทรวงยุติธรรม ในการอำนวยความยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ    สนับสนุน การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในจังหวัดกาฬสินธุ์ อย่างบูรณาการและยั่งยืน ตามโครงการ (Kalasin Happiness Modelคนกาฬสินธุ์ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง  โดยมีประชาชนกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ประกอบด้วยกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการถูกกลุ่มนายทุนฟ้องขับไล่ออกจากที่ดินจากการทำสัญญาขายฝาก  กลุ่มชาวบ้านอำเภอท่าคันโท และอำเภอกมลาไสย  ถูกหลอกให้ชักชวนรวมกลุ่มกู้กันยืมเงินและภายหลังถูกฟ้องร้องให้ชำระหนี้   และเกษตรกรอีกหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบและไม่ได้รับความเป็นธรรมจากปัญหาหนี้นอกระบบ การจัดงานวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกับ 8 หน่วยงาน รับฟังปัญหาและหาแนวทางแก้ไขแก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนและไม่ได้รับความเป็นธรรม นอกจากนี้ได้จับมือกับมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์   สำนักงานยุติธรรมจังหวัด และจังหวัดกาฬสินธุ์ ในการการสร้างกระบวนการเรียนรู้กฎหมายที่เกี่ยวกับปัญหาหนี้นอกระบบให้กับประชาชน เช่น การทำสัญญากู้ยืมเงิน การขายฝาก  การให้คำปรึกษากฎหมายแก่ประชาชน การสร้างเครือข่ายเจ้าหน้าที่รัฐ  สถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม และภาคประชาชนในพื้นที่ ให้ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์สร้างรูปแบบในการป้องกัน แก้ไข และช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนและไม่ได้รับความเป็นธรรมจากปัญหาหนี้นอกระบบ โดยได้นำนวัตกรรม The Choice เกมทางเลือก-ทางรอด ซึ่งได้รับรางวัลการบริการภาครัฐระดับดีเด่น จาก กพร. เป็นเครื่องมือในการสร้างการเรียนรู้

                   ด้านนายไกรสร  กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์   กล่าวว่าจังหวัดกาฬสินธุ์มีสัดส่วนคนยากจนมากเป็นอันดับ 3 ของประเทศ จึงได้รับมอบหมายจากรัฐบายให้เป็นจังหวัดนำร่องในการดำเนินนโยบายขจัดความยากจนใหหมดไปภายใน 4 ปี เพื่อจะทำรายได้เฉลี่ยของประชากรเพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาหนี้เงินกู้นอกระบบและหนี้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยปัญหาหนี้เงินกู้นอกระบบเป็นปัญหาที่มีสาเหตุหลักมาจาก 3 ปัญหาใหญ่ คือ  

1. ปัญหาความยากจนของประชาชน 

2. ปัญหาประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ยาก 

3. ปัญหาความไม่รู้จึงถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายทุน

จังหวัดกาฬสินธุ์ มองเห็นความสำคัญของปัญหาหนี้เงินกู้นอกระบบ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบและรูปธรรมและแบ่งมิติการทำงาน ออกเป็น 4 ด้าน คือ 

1. การอำนวยความยุติธรรมไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ (ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด, อัยการ สคช, สำนักงานยุติธรรมจังหวัด และตำรวจภูธรจังหวัด) 

2. ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสำหรับลูกหนี้ (กระทรวงการคลัง, ธ.ก.ส. , ธนาคารออมสิน) 

3. การฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการหารายได้ของลูกหนี้นอกระบบ (ฝ่ายปกครอง, คลังจังหวัด  ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน) 

4. การป้องกันและบังคับใช้กฎหมายแก่ผู้กระทำผิด (ฝ่ายทหาร, ตำรวจ, ฝ่ายปกครอง, DSI ,สรรพากรพื้นที่ และยุติธรรมจังหวัด)  

ทั้งนี้จังหวัดได้มอบนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกับนายทุนเจ้าหนี้อย่างเคร่งครัดโดยใช้มาตรการทางภาษีกับนายทุนและปราบปรามนายทุนนอกระบบในจังหวัดกาฬสินธุ์ให้หมดไป และสนับสนุนส่งเสริมให้ลูกหนี้ได้รับความเป็นธรรมตามกฎหมายและสนับสนุนส่งเสริมให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตและเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้อย่างทั่วถึง 

 

 

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่น่าสนใจ