ผลการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษครั้งที่ 1 / 2559
เผยแพร่: 10 มิ.ย. 2559 12:38 น. ปรับรุง: 10 มิ.ย. 2559 12:38 น. เปิดอ่าน 2231 ครั้ง
ผลการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษครั้งที่ 1 / 2559
วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน 2559 เวลา 10.00 น. มีการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ครั้งที่ 1/2559 ณ กรมสอบสวนคดีพิเศษ มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุม โดยมีผลการประชุมที่สำคัญจะแถลงให้สื่อมวลชนทราบ ดังนี้
1. คณะกรรมการได้พิจารณาออกประกาศ กคพ.(ฉบับที่ 6) พ.ศ.2559 เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 โดยกำหนดว่าคดีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน กฎหมายป่าไม้ กฎหมายป่าสงวนแห่งชาติ และกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ที่มีพฤติการณ์กระทำความผิดซับซ้อน กระทบต่อเศรษฐกิจ ความมั่นคงประเทศ มีผู้ทรงอิทธิพลเกี่ยวข้อง หรือมีฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่เกี่ยวข้อง ตามเงื่อนไขที่กำหนดในมาตรา 21 ของพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ในข้อหาใดบ้างต้องดำเนินการโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ หลังจากนี้จะนำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายต่อไป
ซึ่งหลังจากนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษจะมีอำนาจดำเนินคดีจำพวกนี้ได้โดยไม่ต้องมา ขออนุมัติคณะกรรมการคดีพิเศษเป็นรายคดีอีก
2. มีมติให้คดีความผิดทางอาญาอื่นเป็นคดีพิเศษที่ต้องดำเนินการสืบสวนและสอบสวนตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 จำนวน 3 เรื่อง คือ
เรื่องที่ 1 กรณีการบุกรุกป่าและที่ดินของรัฐด้วยการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยมิชอบด้วย กฎหมายบริเวณเกาะนาคาน้อย อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่กระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม และเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจ และจำเป็นต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มีความซับซ้อนในการสืบสวนสอบสวน จึงมีมติรับไว้เป็นคดีพิเศษ
เรื่องที่ 2 กรณีบริษัทเอกชนดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ช่วงปี พ.ศ.2553 – 2557 อันเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมซึ่งเรื่องนี้ประชาชนในเขตพื้นที่อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ร้องเรียนเข้ามา และได้ลงไปสืบสวนแล้วพบประเด็นเกี่ยวกับการผลิตน้ำมันในพื้นที่ สปก. ซึ่งจะต้องไปสืบสวนสอบสวนว่าตามกฎหมายกระทำได้หรือไม่ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าเป็นเรื่องที่ซับซ้อน และกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะอาจเกี่ยวกับภาษีค่าภาคหลวงที่เป็นรายได้ของประเทศ จึงมติรับไว้เป็นคดีพิเศษ
เรื่องที่ 3 กรณีกล่าวหาว่ามีกลุ่มบุคคลมีพฤติการณ์หลอกลวงชาวมุสลิมว่าสามารถประสานการ เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ที่ประเทศซาอุดิอาระเบียโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
เรื่องนี้เป็นการอ้างความเชื่อทางศาสนาอิสลาม ไปหลอกลวงประชาชนมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่ามีโควต้าสำหรับเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ที่ประเทศซาอุดิอาระเบียสำหรับ มุสลิมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งตามปกติจะต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 180,000 บาท แต่มีค่าใช้จ่ายในเรื่องการประสานงาน คนละ 15,000 บาท โดยมีประชนชนพี่น้องมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หลงเชื่อ ทราบจำนวนในเบื้องต้นกว่า 500 ราย ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าเป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงมติรับไว้เป็นคดีพิเศษ