มติคณะกรรมการคดีพิเศษ ครั้งที่ ๖ / ๒๕๕๖
เผยแพร่: 18 ธ.ค. 2556 11:27 น. ปรับรุง: 18 ธ.ค. 2556 11:27 น. เปิดอ่าน 2070 ครั้งมติคณะกรรมการคดีพิเศษ ครั้งที่ ๖ / ๒๕๕๖
เมื่อวันอังคารที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๖ เวลา ๑๔.๐๐ น. พลตำรวจเอกประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ครั้งที่ ๖/๒๕๕๖ ณ ห้องประชุม ๑ ชั้น ๑ อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
ที่ประชุมได้แสดงความยินดี กรณีคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๕๖ แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคดีพิเศษแทนตำแหน่งที่ว่างลง ๒ ท่าน ประกอบด้วย (๑) ศาสตราจารย์ (พิเศษ) จุลสิงห์ วสันตสิงห์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการธนาคาร และ (๒) นายอุดม มั่งมีดี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย และการพิจารณาพิพากษาคดี นอกจากนั้น คณะกรรมการคดีพิเศษพิจารณาและมีมติให้คดีอาญาอื่นเป็นคดีพิเศษตามมาตรา ๒๑ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.๒๕๔๗ จำนวน ๔ เรื่อง ดังนี้
(๑) กรณี การทุจริตเบิกจ่ายค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด ของพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย แล้วใช้เอกสารแห่งการทุจริตดังกล่าวฟ้องคดีต่อศาลแรงงาน เพื่อเรียกร้องเพิ่มเติม ในห้วงเวลา พ.ศ.๒๕๔๕ – พ.ศ.๒๕๕๕
(๒) กรณี ขบวนการหลอกลวงแรงงานไทยให้เดินทางไปทำงานเก็บผลไม้ที่ประเทศสวีเดน โดยไม่จ่ายค่าจ้างตามสัญญา และมีการเก็บผลประโยชน์เป็นรายคนโดยมิชอบ
(๓) กรณี สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย มีพฤติการณ์ไม่สุจริต ในการไม่ตรวจลงตราอนุญาตให้เข้าประเทศ (VISA) ให้นักเรียนไทยไปศึกษาต่อมหาวิทยาลัยในไต้หวัน
(๔) มติให้ กรณี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวก ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญา สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และบางจังหวัด ตั้งแต่วันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๖ เป็นต้นมา รวมถึงบุคคลอื่นที่มีส่วนในการกระทำความผิดด้วย และความผิดที่ต่อเนื่องหรือเกี่ยวพันกัน เป็นคดีพิเศษตามมาตรา ๒๑ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.๒๕๔๗ และมีมติให้มีพนักงานอัยการหรืออัยการทหารแล้วแต่กรณี มาสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษตามมาตรา ๓๒ แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.๒๕๔๗ ด้วย
ทั้งนี้ คณะกรรมการคดีพิเศษได้มีมติให้พนักงานอัยการหรืออัยการทหาร แล้วแต่กรณีเข้าร่วมสอบสวนกับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษตามมาตรา ๓๒ แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.๒๕๔๗ ในทุกคดี เพื่อร่วมกันรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหาอย่างมีประสิทธิภาพ และสำหรับคดีที่ ๕ ได้มีมติให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการตามมาตรา ๓๓ แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.๒๕๔๗ เพื่อให้พนักงานสอบสวนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้าเป็นพนักงานสอบสวนคดีพิเศษเพื่อร่วมทำการสอบสวนในคดีนี้ด้วย