“ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่บุกรุกที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ จังหวัดภูเก็ต และมีคำสั่งเพิกถอนที่ดินกลับเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ เรียกความเสียหายคืนรัฐได้กว่า 800 ล้านบาท”
เผยแพร่: 27 ก.ย. 2562 15:51 น. ปรับรุง: 27 ก.ย. 2562 15:51 น. เปิดอ่าน 7172 ครั้ง
“ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่บุกรุกที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ จังหวัดภูเก็ต และมีคำสั่งเพิกถอนที่ดินกลับเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ เรียกความเสียหายคืนรัฐได้กว่า 800 ล้านบาท”
สืบเนื่องจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้มีหนังสือ ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2555 ร้องขอต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณาดำเนินการ กรณีตรวจพบมีบุคคลทำการบุกรุก ยึดถือครอบครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ จังหวัดภูเก็ต แต่กลับมีเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดิน คือ โฉนดที่ดิน แสดงกรรมสิทธิในที่ดินดังกล่าว ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ตั้งคณะพนักงานสืบสวนเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานโดยละเอียดพบว่ามีมูลความผิดทางอาญา จึงเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการคดีพิเศษ ในการประชุมครั้งที่ 1/2557 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2557 และที่ประชุมได้มีมติให้ กรณีการบุกรุกยึดถือครอบครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถและในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขารวก - เขาเมือง อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เป็นคดีพิเศษ และมีมติให้มีพนักงานอัยการมาร่วมสอบสวนในเรื่องดังกล่าวด้วย
ซึ่งทางการสอบสวน พบการกระทำความผิด 4 ราย ต่างกรรมต่างวาระ จึงมีการแยกการสอบสวนเป็นรายคดี โดยคดีนี้รับเป็นคดีพิเศษที่ 19/2558 เป็นกรณีการออกเอกสารสิทธิตามโฉนดที่ดิน เลขที่ 42053 และ 42054 ตำบลสาคู อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต คิดเป็นเนื้อที่รวม 93 ไร่ มีการอ้างหลักฐานแจ้งการครอบครอง ส.ค.1 เพื่อใช้ประกอบในการขอออกเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดิน ซึ่งจากสอบสวนพบว่า เอกสาร ส.ค.1 ที่ใช้กล่าวอ้างเป็นที่ดินคนละพื้นที่กับจุดที่มีการออกโฉนดที่ดิน และจากการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศโดยผู้เชี่ยวชาญพบว่าที่ดินบริเวณที่เกิดเหตุมีสภาพเป็นป่า ทางคดีพบมีทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลเกี่ยวข้องในการกระทำผิดหลายคนและเป็นความผิดหลายฐานความผิด โดยอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้มีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหา รวม 8 คน ในความผิดฐานร่วมกันยึดถือหรือครอบครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติ, ร่วมกันยึดถือครอบครองทำประโยชน์หรืออาศัยในที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ โดยได้ยึดถือครอบครองเป็นเนื้อที่เกินกว่า 25 ไร่, ร่วมกันเข้ายึดถือครอบครองป่า ที่ไม่ได้จำแนกไว้เป็นประเภทเกษตรกรรมเพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยได้ยึดถือครอบครองเป็นเนื้อที่เกินกว่า 25 ไร่, ร่วมกันยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐโดยไม่มีสิทธิครอบครองและโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยได้ยึดถือครอบครองเป็นเนื้อที่เกินกว่า 50 ไร่ เป็นการทำลาย ทำให้เสียหาย เสื่อมสภาพแก่อุทยานแห่งชาติ ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าและที่ดินของรัฐ และไม่ได้รับอนุญาตหรือได้รับยกเว้นใดๆ ตามกฎหมาย, ร่วมกันปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม และแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ส่งพนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย
ต่อมาพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหาเป็นจำเลยต่อศาลอาญา และเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2562 ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาเรื่องนี้ในคดีหมายเลขแดงที่ อ.2513/2562 พิพากษาว่า นายเอนก ลีประชา (ประชา) จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคสอง พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 72 ตรี วรรคสอง พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 16(1), 24 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ วรรคสาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 (เดิม), 268 วรรคแรก (เดิม), 83 การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันเข้ายึดถือครอบครองป่าและที่ดิน เป็นการกระทำกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามฐานร่วมกันยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินอันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ โดยกระทำเป็นเนื้อที่เกินกว่า 25 ไร่ ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 12 ปี ร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงาน ผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ จำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอม จำคุก 2 ปี รวมจำคุก 15 ปี ทางนำสืบในชั้นพิจารณานับว่าเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษหนึ่งในสาม คงจำคุก 10 ปี และมีคำสั่งให้จำเลยที่ 3 คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยที่ 3 กับพวก ออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตอุทยานแห่งชาติและเขตป่า และให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 42053, 48252, 48253, 42054 ตำบลสาคู อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ยกฟ้องข้อหาอื่น และ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 5
กรณีดังกล่าว เป็นผลสำเร็จในการดำเนินคดีของกรมสอบสวนคดีพิเศษจากการทุ่มเทสรรพกำลังและการบูรณาการร่วมกันระหว่างพนักงานสอบสวนคดีพิเศษและพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษ
ฝ่ายคดีพิเศษ 4 ในการนำสืบพยานหลักฐานต่อศาล รวมทั้งการทำงานแบบสหวิชาชีพ เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย
ที่สำคัญของรัฐบาล ในการปกป้องและรักษาประโยชน์ให้กับรัฐ โดยเฉพาะที่ดินซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ
กรมอุทยาน สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้กว่า 93 ไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 800 ล้านบาท (ตามราคาซื้อขายที่ดินแปลงพิพาท) ทั้งนี้ หากท่านมีเบาะแสเกี่ยวกับการบุกรุกที่ดินของรัฐ สามารถแจ้งเบาะแสมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือโทร.สายด่วน DSI Call Center 1202 (โทร.ฟรีทั่วประเทศ) โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษจะรักษาข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสเป็นความลับ
จึงประชาสัมพันธ์มาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
คณะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ
27 กันยายน 2562
ข่าวล่าสุด
เปิดอ่าน 46 ครั้ง
เปิดอ่าน 56 ครั้ง
เปิดอ่าน 404 ครั้ง
ข่าวที่น่าสนใจ
เปิดอ่าน 46 ครั้ง
เปิดอ่าน 56 ครั้ง
เปิดอ่าน 404 ครั้ง