เปิดตัว DSI Application ตรวจสอบเรื่องร้องทุกข์ง่ายๆ ผ่านระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์

เผยแพร่: 23 ก.ค. 2558 10:00 น. ปรับรุง: 23 ก.ค. 2558 10:00 น. เปิดอ่าน 4219 ครั้ง  
 

         ปัจจุบัน หน่วยงานราชการส่วนใหญ่จะมีการก่อตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์หรือศูนย์บริการประชาชนเพื่อเป็นแก้ปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากการไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือมีปัญหาเกี่ยวกับข้อกฎหมายต่างๆ เช่นเดียวกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ที่ได้จัดตั้งหน่วยบริการประชาชนและบริการข้อมูลข่าวสารขึ้น โดยมีเป้าหมายคือเพื่ออำนวยความสะดวกในการให้คำปรึกษา แนะนำข้อกฎหมายให้กับประชาชนส่วนใหญ่ที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจระบบของกระบวนการยุติธรรม

         หน่วยบริการประชาชนและบริการข้อมูลข่าวสาร ได้เปิดทำการมาตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2557 เพื่อเป็นช่องทางในการแก้ไขความเดือดร้อนจากความไม่รู้กฎหมายของประชาชน เพราะที่ผ่านมาดีเอสไอถือเป็นหน่วยงานที่มีกรอบอำนาจดำเนินการคดีพิเศษหรือคดีอาชญากรรมพิเศษ 36 ประเภทคดีความผิด โดยต้องเป็นคดีตามกฎหมายที่กำหนดไว้ในบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ 2547 ซึ่งเป็นคดีที่มีความซับซ้อนหรือมีผลกระทบรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อย มีผู้มีอิทธิพลเข้าไปเกี่ยวข้อง จึงจะมีอำนาจรับไว้ดำเนินการ แต่สภาพความเป็นจริงมีประชาชนจำนวนไม่น้อยในแต่ละวันที่เดินทางเข้ามาร้องขอความเป็นธรรมในเรื่องอื่นๆ

         ประชาชนสามารถเข้ามาติดต่อดำเนินการร้องเรียน ร้องทุกข์ แจ้งเบาะแส และปรึกษากฎหมาย กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้หลากหลายช่องทาง ทั้งการเดินทางมาติดต่อด้วยตนเองที่หน่วยบริการประชาชนและบริการข้อมูลข่าวสาร ชั้น G อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร การติดต่อทางโทรศัพท์หมายเลข 1202 หรือทางเว็บไซต์ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ www.dsi.go.th และเว็บไซต์สำนักนายกรัฐมนตรี www.1111.go.th ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมา นับตั้งแต่หน่วยบริการประชาชนฯ เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2557 มีผู้เข้ามารับบริการผ่านทุกช่องทางข้างต้นรวม 3,027 เรื่อง (ข้อมูล ณ วันที่ 24 มิถุนายน 2558) ซึ่งประชาชนเหล่านี้ ได้ติดตามสอบถามความคืบหน้าและสถานะของคดีพิเศษเป็นระยะๆ ทั้งการเข้ามาติดตามด้วยตนเอง และการติดต่อสื่อสารด้วยช่องทางอื่นๆ ซึ่งอาจไม่ได้รับความสะดวกและต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ดังนั้น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มาร้องเรียนกับกรมสอบสวนคดีพิเศษให้สามารถติดตามตรวจสอบความคืบหน้าและสถานะของคดีพิเศษต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินทรขาว รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงได้สั่งการให้สำนักเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูลการตรวจสอบ ดำเนินการสร้างระบบตรวจสอบสถานะเรื่องร้องเรียนและสถานะคดีพิเศษผ่านทางเว็บไซต์กรมสอบสวนคดีพิเศษ www.dsi.go.th ขึ้นเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2558 และต่อมาได้พัฒนาไปสู่การเปิดตัวดีเอสไอแอปพลิเคชันในวันที่ 16 มิถุนายน 2558 เพื่อให้บริการประชาชนในระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์สำหรับตรวจสอบสถานะคดีพิเศษและเรื่องร้องเรียนต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการป้องกัน ปราบปราม สืบสวน สอบสวน และดำเนินคดีพิเศษอย่างมีประสิทธิภาพด้วยความเป็นธรรม เพื่อให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นองค์กรชั้นนำด้านการสืบสวนสอบสวนที่มีมาตรฐานในระดับสากล และได้รับความเชื่อมั่นในการบังคับใช้กฎหมายด้วยความเป็นธรรมตามวิสัยทัศน์ พันธกิจ และยุทธศาสตร์ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มช่องทางให้ประชาชนสามารถติดตามสถานะคดีพิเศษ และติดตามสถานะเรื่องร้องเรียนที่ตนเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการสร้างให้เกิดกลไกตรวจสอบการทำงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการบังคับใช้กฎหมายด้วยความเป็นธรรม เป็นการสร้างความเชื่อถือให้กับสาธารณชน และพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาล ด้วยความโปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยแอปพลิเคชันนี้จะมีเจ้าหน้าที่คอยอัพเดทข้อมูลตลอด 24 ชั่วโมง

 

 

         การเข้าใช้แอปพลิเคชันนั้น ผู้ร้องเรียนต้องเข้ายื่นเรื่องร้องทุกข์ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ และผลการตรวจสอบมีมูลจนได้รับอนุมัติเป็นคดีพิเศษ โดยดีเอสไอจะจัดส่งรหัสเข้าใช้ดีเอสไอแอปพลิเคชันเป็นตัวเลข 6 หลัก ทางไปรษณีย์หรืออีเมล์ พร้อมแนะนำวิธีการใช้แอปพลิเคชันนี้ ซึ่งมีช่องทางให้ผู้ร้องเรียนสามารถแสดงความคิดเห็น รวมถึงสอบถามข้อมูลได้อีกด้วย โดยวิธีการเข้าสู่ดีเอสไอแอปพลิเคชันสามารถทำได้อย่างง่ายดาย โดยทำการใส่รหัสอ้างอิง 6 หลักที่ได้รับจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ และตัวเลข 13 หลักของบัตรประชาชนของผู้ร้องเรียน ก็สามารถเข้าไปตรวจสอบสถานะและความคืบหน้าในการสอบสวนคดีของกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอได้ โดยไม่ต้องโทรศัพท์มาสอบถามและไม่ต้องเดินทางมาที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ เพียงแค่มีอินเทอร์เน็ตก็สามารถตรวจสอบได้ในทันที

 

 

 

   

 

         แอปพลิเคชันนี้นับเป็นการพัฒนาแนวทางการทำงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษที่นำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาปรับใช้ โดยได้นำสื่ออินเทอร์เน็ตเข้ามาช่วยให้ประชาชนสามารถรับทราบถึงแนวทางการทำงานและข้อมูลข่าวสารในการดำเนินการต่อผู้กระทำความผิดในคดีพิเศษ เพื่อเสริมสร้างความโปร่งใสให้กับองค์กร และสามารถทำให้ประหยัดเวลาในการทำงานมากยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สร้างความสะดวกสบายให้กับประชาชนที่ไปร้องเรียนกับกรมสอบสวนคดีพิเศษด้วย และในอนาคตอันใกล้นี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษจะพัฒนาดีเอสไอแอปพลิเคชันให้สามารถใช้งานได้กับทุกระบบปฏิบัติการบนโทรศัพท์มือถือ

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่น่าสนใจ