‘ดีเอสไอ’ สนธิกำลังกับฝ่ายปกครอง ทหาร และตำรวจกวาดล้างแก๊งปล่อย เงินกู้นอกระบบในจังหวัดกาฬสินธุ์
เผยแพร่: 7 มิ.ย. 2561 9:17 น. ปรับปรุง: 7 มิ.ย. 2561 9:17 น. เปิดอ่าน 3314 ครั้ง‘ดีเอสไอ’ สนธิกำลังกับฝ่ายปกครอง ทหาร และตำรวจกวาดล้างแก๊งปล่อย
เงินกู้นอกระบบในจังหวัดกาฬสินธุ์
สืบเนื่องจากนโยบายรัฐบาลตามโครงการ “Kalasin Happiness Model คนกาฬสินธุ์ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2561 พันตำรวจเอกไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มอบหมายให้พันตำรวจโท วิชัย สุวรรณประเสริฐ รองผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ และพันตำรวจโทวีรวัชร์ เดชบุญภา เลขานุการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เข้าประสานงานกับนายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ และกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อวางแผนกวาดล้างแก๊งปล่อยเงินกู้และทวงหนี้ในจังหวัดกาฬสินธุ์ ตามข้อมูลการสืบสวนของคณะทำงานศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ จำนวน 9 จุด
ต่อมาเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2561 ระหว่างเวลา 06.00 - 19.30 น. คณะทำงานสืบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ร่วมกับกองกำลังฝ่ายปกครอง ทหาร และตำรวจ สนธิกำลังเข้าสืบสวนและตรวจค้นเป้าหมายในพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอกมลาไสย อำเภอฆ้องชัย อำเภอนามน อำเภอสหัสขันธ์ และอำเภอคำม่วง ผลการออกกวาดล้าง สามารถจับกุมเจ้าหนี้ปล่อยเงินกู้นอกระบบได้ทั้งหมด 16 ราย พร้อมของกลาง เงินสด 179,780 บาท โทรศัพท์มือถือ 12 เครื่อง รถยนต์ 5 คัน จักรยานยนต์ 3 คัน นามบัตรกว่า 400 ใบ พร้อมบัญชีรายชื่อลูกหนี้และเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการกู้ยืมเงินสมุดบัญชีธนาคารอีกหลายรายการ โดยแจ้งข้อหาให้ผู้อื่นยืมเงินหรือกระทำการใด ๆ อันมีลักษณะเป็นการอำพรางการกู้ยืมเงินโดยเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ส่งพนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุดำเนินคดี
พันตำรวจโท วิชัย สุวรรณประเสริฐ กล่าวว่า กลุ่มผู้ต้องหาที่จับกุมตัวได้เป็นนายทุนในพื้นที่ ๓ ราย ส่วนอีก ๑๓ ราย เป็นแก๊งปล่อยเงินกู้นอกพื้นที่กาฬสินธุ์ "แก๊งหมวกกันน็อก" ให้กู้โดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ ๒๐ ต่อ ๒๔ วัน เรียกเก็บเป็นรายวัน โดยแก๊งนี้จะเป็นวัยรุ่นมีภูมิลำเนาอยู่ในภาคกลางและภาคอีสานตอนล่าง แบ่งเป็นสายตระเวนปล่อยเงินกู้และเก็บเงินไปทั่วภาคอีสาน โดยออกนามบัตรเชิญชวนให้กู้ยืมพร้อมหมายเลขโทรศัพท์ เช่น "ไอ้หนุ่มรายวัน" "เงินหมุนรายวัน" "เงินทุนรายวัน" "บริกการเงินทุน" ลูกหนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านทั่วไป พ่อค้าแม่ค้าในตลาด และแพร่หลายในกลุ่มที่เล่นการพนัน
ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษจะดำเนินการปราบปรามโดยใช้มาตรการเชิงรุกในส่วนกฎหมายเกี่ยวกับการฟอกเงินและภาษีอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อให้การกระทำความผิดดังกล่าวและปัญหานายทุนปล่อยเงินกู้นอกระบบในพื้นที่ลดลง ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อมูลเบาะแสเกี่ยวกับการปล่อยเงินกู้นอกระบบและเก็บดอกเบี้ยสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด สามารถติดต่อให้ข้อมูลได้ที่อำเภอ หรือที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ผ่าน 9 ช่องทางการสื่อสาร คือ (1) การติดต่อด้วยตนเองที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (2) การติดต่อผ่านเว็บไซต์ www.dsi.go.th (3) การยื่นหนังสือที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (4) ติดต่อผ่านสายด่วนหรือ Call Center 1202 (โทร.ฟรีทั่วประเทศ) (5) การติดต่อผ่าน Messenger Facebook ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (6) การติดต่อผ่านแอพพลิเคชัน DSI กรมสอบสวนคดีพิเศษ (7) การติดต่อผ่านตู้สีขาว รับเรื่องราวร้องทุกข์ (8) การติดต่อทางไปรษณีย์ และ (9) การติดต่อผ่านศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษทั้ง 10 เขต โดยข้อมูลเบาะแสที่ประชาชนแจ้งเข้ามาจะถูกเก็บข้อมูลเป็นความลับ
https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_987672