อธิบดีดีเอสไอ จับมือ อธิบดีกรมสรรพากร ส่งมอบข้อมูล ดำเนินคดีข้อหาเลี่ยงภาษี แก่เจ้าหนี้ปล่อยเงินกู้นอกระบบ ในจังหวัดชัยภูมิและจังหวัดเพชรบูรณ์ มูลค่ากว่า 1,600 ล้านบาท

เผยแพร่: 3 ก.ย. 2561 9:23 น. ปรับปรุง: 3 ก.ย. 2561 9:23 น. เปิดอ่าน 1084 ครั้ง  
 

 อธิบดีดีเอสไอ จับมือ อธิบดีกรมสรรพากร ส่งมอบข้อมูล ดำเนินคดีข้อหาเลี่ยงภาษี แก่เจ้าหนี้ปล่อยเงินกู้นอกระบบ

ในจังหวัดชัยภูมิและจังหวัดเพชรบูรณ์ มูลค่ากว่า 1,600 ล้านบาท

ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงยุติธรรมที่ต้องการให้มีการดำเนินการอย่างจริงจัง กับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย อำนวยความยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้แก่ลูกหนี้ ช่วยเหลือประชาชนที่เป็นลูกหนี้และไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบ ทั้งนี้ พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้มอบหมายให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ให้มีการบังคับใช้กฎหมายในการปราบปรามการปล่อยเงินกู้ของเจ้าหนี้ที่ใช้เงื่อนไขทางกฎหมายเอารัดเอาเปรียบประชาชน บังคับคดียึดที่ดิน ทำให้ทรัพย์สินตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าหนี้เป็นจำนวนมาก รวมถึงการอำนวยความเป็นธรรม การสนับสนุนข้อเท็จจริงในการต่อสู้คดีของลูกหนี้ และการป้องกันโดยการให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อมิให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของเจ้าหนี้นอกระบบ

 

ล่าสุด ในวันนี้ (วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม 2561) เวลา 15.30 น. กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดย พันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และกรมสรรพากร โดย นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ร่วมประชุมประสานความร่วมมือในการดำเนินมาตรการทางภาษีกับนายทุนเงินกู้นอกระบบ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2559 ในการผลักดันให้เจ้าหนี้นอกระบบเข้ามาดำเนินธุรกิจสินเชื่อในระบบให้ถูกต้อง ณ ห้องประชุม 302 ชั้น 3 กรมสรรพากร แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร

 

สืบเนื่องจากกรณีที่มีประชาชนจังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ร้องขอให้ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินการตรวจสอบการกระทำของเจ้าหนี้นอกระบบในจังหวัดชัยภูมิ และ เจ้าหนี้นอกระบบในจังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมครอบครัว โดยกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ปล่อยเงินกู้นอกระบบให้ประชาชนในจังหวัดชัยภูมิ จังหวัดใกล้เคียง และจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และให้ลูกหนี้ลงชื่อในเอกสารเพื่อใช้โฉนดที่ดินและทรัพย์สินต่าง ๆ เป็นหลักประกันเงินกู้ และเมื่อมีการผิดนัดชำระหนี้จะมีการบังคับตามสัญญาประกันจนชาวบ้านที่กู้เงินนอกระบบดังกล่าว ได้รับความเดือดร้อน ถูกบังคับคดียึดบ้านและที่ดินเป็นจำนวนมาก

 

ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 23/1 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สืบสวนสอบสวนตรวจสอบ พบว่าบุคคลดังกล่าว มีบัญชีเงินฝากจำนวนหลายสิบบัญชี และได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและอสังหาริมทรัพย์มาเป็นจำนวนมากโดยหลีกเลี่ยงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จึงได้ประสานข้อมูลให้กรมสรรพากรประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีธุรกิจเฉพาะ โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ประสานกรมสรรพากรให้ดำเนินการประเมินภาษีแก่เจ้าหนี้นอกระบบจังหวัดชัยภูมิ สำหรับปีภาษี 2550 – 2555 เป็นเงินรวมประมาณ 230,000,000 บาท (สองร้อยสามสิบล้านบาท) กรมสรรพากรตรวจสอบแล้ว ได้ส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษรับเป็นคดีพิเศษ โดยเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2561 กองคดีภาษีอากร กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้เรียกเจ้าหนี้นอกระบบจังหวัดชัยภูมิกับพวก มารับทราบข้อหาในความผิดฐานหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากรซึ่งกลุ่มเจ้าหนี้จังหวัดชัยภูมิ มารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาพยานหลักฐานเพื่อสรุปสำนวนการสอบสวนส่งให้พนักงานอัยการพิจารณา

 

จากการสืบสวนขยายผลเพิ่มเติมของศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ พบว่าในช่วงปี 2556 - 2560 เจ้าหนี้รายนี้มีเงินนำฝากในบัญชีเงินฝากธนาคาร จำนวน 152 ล้านบาทเศษ แต่ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้จำนวน 5 ล้านบาทเศษ ส่วนสามีมีเงินนำฝาก จำนวน 114 ล้านบาทเศษ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานการยื่นแบบแสดงรายการเงินได้แต่อย่างใด พฤติการณ์ดังกล่าวมีเหตุที่น่าสงสัยว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวมีเจตนาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรหรือไม่ กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงขอส่งเอกสารเพื่อขอให้กรมสรรพากรดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

 

สำหรับเจ้าหนี้นอกระบบในจังหวัดเพชรบูรณ์ มีจำนวน 3 ราย จากการตรวจสอบ ระหว่างปี 2553 - 2559 พบว่าเจ้าหนี้รายที่ 1 มีการนำเงินมาฝากในบัญชีจำนวน 1,000 ล้านบาทเศษ แต่ยื่นแบบเงินได้ จำนวน 160 ล้านบาทเศษ ส่วนเจ้าหนี้รายที่ 2 และภรรยา จากการตรวจสอบรายการเดินบัญชีระหว่างปี 2553 - 2559 พบว่ามีการนำเงินมาฝากในบัญชีดังกล่าว เป็นเงินจำนวน 260 ล้านบาท เจ้าหนี้รายที่ 2 นี้ ยื่นแบบเงินได้ฯ ตามมาตรา 40(5) มาตรา 40(8) เป็นเงินจำนวน 12 ล้านบาทเศษ โดยไม่ได้ยื่นแบบแสดงเงินได้ฯ ตามมาตรา 40(4) แต่อย่างใด

 

จากการตรวจสอบ สำเนาโฉนดที่ดิน, น.ส.3, สำเนาหนังสือสัญญาที่เกี่ยวข้อง พบว่าในระหว่างปี 2550 - 2559 เจ้าหนี้รายที่ 2 และภรรยา พร้อมบุตรอีก 3 คน ได้กรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองในที่ดินมาเป็นของตนเองเป็นจำนวนกว่า 1,823 ไร่ ทั้งที่ภรรยาได้แจ้งในแบบ ภ.ง.ด.90, ภ.ง.ด.94 ของสามีว่า ตนเองเป็นบุคคลผู้ไม่มีเงินได้พึงประเมิน ส่วนบุตรทั้งสามคน ก็ไม่ปรากฏหลักฐานการยื่นแบบแสดงเงินได้ฯ   แต่อย่างใด เช่นกัน

 

ตามข้อมูลหลักฐานและพฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้น มีเหตุที่น่าสงสัยว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าว มีเจตนาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรหรือไม่ กรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้มีการตรวจสอบและประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีอื่น ๆ กับกลุ่มเจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบดังกล่าว จึงขอส่งข้อมูลและหลักฐานมายังอธิบดีกรมสรรพากรเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายต่อไปทั้งนี้ ในส่วนประเด็นความผิดอื่น ๆ กรมสอบสวนคดีพิเศษจะได้ดำเนินการต่อไป เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้ที่คิดจะกระทำผิดในลักษณะเดียวกันอีก

 

**********************************************

 

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่น่าสนใจ