DSI แสดงผลงานด้านอาชญากรรมระหว่างประเทศและอาชญากรรมพิเศษ

เผยแพร่: 2 ม.ค. 2563 16:28 น. ปรับรุง: 2 ม.ค. 2563 16:47 น. เปิดอ่าน 5092 ครั้ง  
 

DSI แสดงผลงานด้านอาชญากรรมระหว่างประเทศและอาชญากรรมพิเศษ

           พันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ปัญหาการค้ามนุษย์เป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นปัญหาที่ทั่วโลกให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ที่ผ่านมาประเทศไทยประสบกับปัญหาการค้ามนุษย์ที่มีความรุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้น และในบางกรณี มีความเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมระหว่างประเทศ ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากปัญหาความยากจน จึงตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์และอาชญากรรมประเภทอื่น ๆ รวมไปถึงตกเป็นหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นปัญหาที่สร้างความเหลื่อมล้ำในสังคม และสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างสังคมและระบบเศรษฐกิจอย่างมหาศาล กรมสอบสวนคดีพิเศษตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้มุ่งมั่นในการสืบสวน สอบสวน ป้องกัน และปราบปรามคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศและอาชญากรรมพิเศษต่าง ๆ ตลอดจนเร่งรัดการปราบปรามผู้มีอิทธิพลและลดความเหลื่อมล้ำของสังคมอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กฎหมายที่กรมสอบสวนคดีพิเศษรับผิดชอบในกลุ่มคดีด้านอาชญากรรมระหว่างประเทศและอาชญากรรมพิเศษ ประกอบด้วย ความผิดอาญาเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว,
การกระทำผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ, การค้ามนุษย์, การกระทำผิดที่เป็นองค์กรอาชญากรรม หรืออาชญากรรมข้ามชาติที่สำคัญ และคดีที่กระทบต่อความมั่นคงประเทศ โดยในห้วงปี 2562 กรมสอบสวนคดีพิเศษมีผลการดำเนินคดีด้านอาชญากรรมระหว่างประเทศและอาชญากรรมพิเศษที่สอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว 58 คดี มีมูลค่าความเสียหายประมาณ 8,280.59 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยคดีสำคัญ ดังนี้

           (1) คดีการหายตัวไปของนายพอละจี หรือ บิลลี่ รักจงเจริญ แกนนำประชาชนชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก - บางกลอย จากการสืบสวนสอบสวนพบว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมกันกระทําความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 จึงได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดําเนินการ และเนื่องจากมีการกระทำความผิดฐานอื่นตามประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวข้องด้วย คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้ส่งสำนวนให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการไปในคราวเดียวกัน โดยรับเป็นคดีพิเศษที่ 13/2562 ซึ่งนำไปสู่การสืบสวนสอบสวน และขออนุมัติต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ออกหมายจับบุคคล ประกอบด้วย นายบุญแทน บุษราคำ, นายธนเสฏฐ์ หรือไพฑูรย์ แช่มเทศ และนายกฤษณพงษ์ จิตต์เทศ รวม 4 คน ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและโดยไตร่ตรองไว้ก่อน รวมทั้งความผิดอื่น และความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 อันเป็นความผิดที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้ไต่สวนพบมูลความผิดแล้วด้วย ปัจจุบันคดีดังกล่าวสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว และได้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2562 เพื่อดำเนินการต่อไป

           (2) คดีหญิงไทยถูกหลอกลวงไปบังคับค้าประเวณีที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับเป็นคดีพิเศษที่ 143/2561 และได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนจนนำไปสู่การออกหมายจับผู้ต้องหา จำนวน 3 ราย เป็นหญิงชาวไทยจำนวน 2 ราย และชายชาวจีน จำนวน 1 ราย ต่อมา เจ้าหน้าที่ศูนย์สืบสวนสะกดรอยและการข่าวได้จับกุมตัวผู้ต้องหา ตามหมายจับของศาลอาญา ได้จำนวน 2 ราย ในข้อหาสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์และได้ลงมือกระทำความผิดตามที่ได้สมคบกันโดยร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการค้าประเวณี โดยเป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พามาจาก หรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ซึ่งบุคคลใดโดยข่มขู่ ใช้กำลังบังคับ ลักพาตัว ฉ้อฉล หลอกลวง ใช้อำนาจโดยมิชอบ ฯลฯ และจะดำเนินการขยายผลจับกุมตัวผู้ต้องหา
ที่เหลือและดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

            (3) คดีผู้ต้องหาคดีความมั่นคงชายแดนใต้ซึ่งหลบหนีคดี 14 ปี สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่มีกลุ่มคนร้ายบุกเข้าปล้นปืนของทางราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างปี 2545 – 2547 ซึ่งเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งก่อคดีความไม่สงบที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกหลายคดี โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับเป็นคดีพิเศษที่ 12/2548 ต่อมาสามารถจับกุมนายมะหะมะรอมือลี สาแม แกนนำบีอาร์เอ็น ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดฐานกบฏก่อการร้าย อั้งยี่ ซ่องโจรได้เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2562 และนำส่งศาลอาญาเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

           (4) การอำนวยความยุติธรรมช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยสามารถช่วยเหลือประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมได้เป็นจำนวนมาก ทั้งการปราบปรามนายทุนรายใหญ่ที่มีอิทธิพลด้วยมาตรการทางอาญาและภาษี การให้ความรู้ด้านกฎหมาย ให้คำปรึกษา รับแจ้งปัญหา และอำนวยความเป็นธรรมแก่ประชาชนทางกฎหมาย เพื่อให้เข้าถึงความเป็นธรรม โดยการสืบสวนสอบสวนและปราบปรามกลุ่มนายทุนต่อไปอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยบูรณาการเครือข่ายพันธมิตรในการปราบปรามและป้องกันโดยการให้ความรู้แก่ประชาชน สร้างพลังเครือข่ายเพื่อเป็นตัวคูณในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน มีการแบบบูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม กรมสรรพากร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชน รวมได้ดำเนินมาตรการเร่งด่วนด้านการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับความเดือดร้อน และไม่ได้รับความเป็นธรรมมาอย่างต่อเนื่อง ส่งต่อข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรง ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อรวบรวมข้อมูลพยานหลักฐาน รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ในปี พ.ศ. 2562 มีเรื่องร้องเรียน จำนวน 180 เรื่อง ผู้ร้องเรียน จำนวน 190 คน ทุนทรัพย์รวมทั้งสิ้น 280,779,943 บาท

           ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษยังได้รับกรณีที่เกี่ยวกับอาชญากรรมระหว่างประเทศและอาชญากรรมพิเศษไว้เป็นเรื่องสืบสวนอีกหลายกรณี ทั้งนี้ เพื่อขยายผลและรับเป็นคดีพิเศษต่อไป

 

           นอกจากนั้น ในปี 2562 กรมสอบสวนคดีพิเศษยังได้รับรางวัลเลิศรัฐที่สำนักงาน ก.พ.ร. ได้มอบให้แก่หน่วยงานของรัฐที่มีผลงานการพัฒนาประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการและการให้บริการประชาชนได้อย่างโดดเด่น และเพื่อเชิดชูเกียรติและสร้างขวัญกำลังใจแก่หน่วยงานที่ได้รับรางวัลมุ่งพัฒนาคุณภาพการให้บริการและระบบการบริหารของหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพใน 3 สาขา จำนวน 4 รางวัล คือรางวัลบริการภาครัฐ ระดับดี ประเภทขยายผลมาตรฐานการบริการ ผลงาน “The Choice เกมทางเลือก–ทางรอด” สื่อการเรียนรู้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เสริมสร้างคุณภาพชีวิตของคนในสังคม รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ รายหมวด ผลงาน หมวด 4 ด้านการวิเคราะห์ ผลการดำเนินงานขององค์การและการจัดการความรู้ รางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ได้รับ 2 รางวัล ได้แก่ ประเภทรางวัลผู้นำหุ้นส่วนความร่วมมือ (Engaged Citizen) ระดับดีเด่น นายชาลิน กันแพงศรี ผลงาน การมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคประชาชนในการป้องกันการเกิดอาชญากรรมพิเศษ : กรณีศูนย์รับข้อมูลและเผยแพร่เครือข่ายอาชญากรรมคดีพิเศษ จังหวัดเลย และประเภทรางวัลเปิดใจใกล้ชิดประชาชน (Open Governance) ระดับดี ผลงาน DSI ที่พึ่ง ที่คุณพึ่งได้

 

           สำหรับทิศทางของกรมสอบสวนคดีพิเศษในปี พ.ศ. 2563 กรมสอบสวนคดีพิเศษได้วิเคราะห์และกำหนดแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญ ภายใต้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี แผนปฏิรูปประเทศไทย ด้านกระบวนการยุติธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษมุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกัน ปราบปราม สืบสวนสอบสวนคดีพิเศษตามอำนาจหน้าที่สร้างความเข้มแข็งจากภายในองค์กร ขับเคลื่อนแผนตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง การทำงานแบบบูรณาการกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย และการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ประชาชน ประชาสังคม และภาคเอกชน โดยพัฒนานวัตกรรมสมัยใหม่เพื่อยกระดับคุณภาพการปฏิบัติงาน เน้นคดีที่มีผลกระทบความเสียหายต่อประเทศ คดีพิเศษที่เน้นตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล ทั้งการปราบปรามการค้ามนุษย์ การฉ้อโกงประชาชน แชร์ลูกโซ่ คดีบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ดินของรัฐ คดีอาชญากรรมเศรษฐกิจ ภาษีศุลกากร การประกอบธุรกิจของบุคคล ต่างด้าว และธุรกิจสถาบันการเงิน ทรัพย์สินทางปัญญา และคดีความผิดมูลฐานฟอกเงินควบคู่ไปกับการดำเนินคดีพิเศษเพื่อให้การดำเนินคดีพิเศษมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

           กรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอให้คำมั่นว่า จะปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มุ่งมั่นในการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยจะปรับปรุงระบบการปฏิบัติงานให้มีความทันสมัย ใช้เทคโนโลยีและนิติวิทยาศาสตร์ในการปฏิบัติงาน มีกระบวนทัศน์ในการทำงานเชิงรุก สามารถป้องกัน ปราบปราม สืบสวน และสอบสวนคดีพิเศษที่เป็นอาชญากรรมในยุค “Thailand 4.0” ที่สามารถป้องกัน ปราบปราม สืบสวน และสอบสวนคดีพิเศษได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว เป็นธรรม ปฏิบัติงานอย่างมืออาชีพ ด้วยนวัตกรรมและนำระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มาใช้ในการสนับสนุนการปฏิบัติงาน เพื่อมุ่งสู่การเป็นระบบราชการ 4.0 และให้มีมาตรฐานในระดับสากล ลดขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ไม่จำเป็น สร้างการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน เสริมสร้างระบบคุณธรรมและความโปร่งใสในการบริหารงานด้านต่าง ๆ พร้อมทั้งแสดงเจตจำนงร่วมกันให้คำสัตย์ปฏิญาณที่แสดงถึงปณิธานในการที่จะปฏิบัติตน ปฏิบัติงาน ด้วยการ “มุ่งรักษาเกียรติศักดิ์ ด้วยใจซื่อสัตย์สุจริต และปฏิบัติภารกิจด้วยความเป็นมืออาชีพ” เพื่อมุ่งสู่วิสัยทัศน์การเป็น “องค์กรหลักในการบังคับใช้กฎหมายกับอาชญากรรมพิเศษตามมาตรฐานสากล” ด้วยกัน ตามนโยบายรัฐบาลนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อให้กรมสอบสวนคดีพิเศษก้าวไปสู่องค์กรชั้นนำของประเทศที่ได้รับความไว้วางใจและเป็นที่เชื่อมั่น ศรัทธา เป็นที่พึ่งด้านการอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนตลอดไป

 

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่น่าสนใจ